‘มหันตภัย’ รัฐบาล‘ประยุทธ์’ ปี 64 ท้าทาย 'อยู่ครบเทอม' 

 ‘มหันตภัย’ รัฐบาล‘ประยุทธ์’ ปี 64 ท้าทาย 'อยู่ครบเทอม' 

ภายใน 3 เดือน หากรัฐบาลคุมการระบาด 'โควิด-19' ได้ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้าคุมไม่ได้จะเป็นปัญหาตลอดปี 2564

สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ ในปี 2564 จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกด้าน ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยบวก ส่งเสริมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากบริหารราชการได้ดีไม่มีข้อผิดพลาด ก็สามารถประคองตัวไปได้

ในขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ที่เกิดจากปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในห้วง 3 เดือนต่อจากนี้

กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังเผชิญและทิศทางประเทศในปีหน้าโดยมีโควิด-19 เป็นตัวแปรว่า สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ระลอกใหม่ของไทย แม้จะมีการเพิ่มระบาดมากขึ้น แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับต่างประเทศ เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่ และเมื่อพิจารณาดูแนวโน้ม ขีดความสามารถและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ก็ไม่ได้แปรปรวนมาก

ในขณะที่ต่างประเทศสถานการณ์ระบาดไปไกลถึงระลอกที่ 4 และรอบที่ 3 มีไวรัสกลายพันธุ์ และคาดว่าในครึ่งปีหน้าสถานการณ์ในหลายประเทศที่วิกฤตก็เริ่มคลี่คลายลงเนื่องจากมีวัคซีน ในขณะที่อีกหลายประเทศเข้าสู่ช่วงทรงตัวและนำไปสู่การฟื้นฟู

"ภายใน 3 เดือน มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม มีความสำคัญมากว่า รัฐบาลจะคุมการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่ หากคุมได้ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่หากคุมไม่ได้ และบานปลายออกไปก็จะเป็นปัญหาตลอดปี 2564 "

ทั้งนี้ การควบคุม โควิด-19 ระลอกใหม่ ต้องเข้มข้นกว่ารอบที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายและเป็นปัจจัยลบต่อรัฐบาล เพราะเกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ทั้งในและนอกระบบ การบริหารจัดการที่ยากขึ้น และการลักลอบเข้ามาตามตามแนวชายแดน และแรงงานเหล่านี้ไม่ได้กระจุกตัวในเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่กระจายไปทั่วประเทศ

อีกทั้ง ‘โควิด’ ที่ระบาดระลอกใหม่ ยังเป็นไวรัสกลายพันธ์ุ ที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าสาธารณสุขที่เข้มแข็งและคนไทยที่ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นจะสามารถขยาย ‘โมเดล’ ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวและจัดระเบียบไปพร้อมๆกันได้หรือไม่ รวมถึงความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นต้นทางแรงงานดังกล่าว

เราไม่สามารถกลับไปล็อคดาวน์ประเทศไทย 100% ได้อีกแล้ว เพราะกระทบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งความท้าทายก็อยู่ตรงนี้ ว่าจะควบคุมเข้มแรงงานต่างด้าว และขยายเครือข่ายสาธารณสุขเข้าไปพื้นที่ชุมชน ได้หรือไม่ และต้องดูว่าแต่ละกลุ่ม แต่ละโซนนิ่ง จะสามารถควบคุมพื้นที่ตัวเองได้มากน้อยเพียงใด
 

ด้านเศรษฐกิจ’ ประเทศไทยยังสามารถประคองตัวได้ ทั้งด้านการเงินการคลัง การส่งออก การนำเข้า และการท่องเที่ยว เพราะในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการปรับตัว เปลี่ยนวิธีการและใช้เงินอุดหนุนช่วยเหลือของรัฐบาลร่วมกับการปรับตัวของภาคเอกชนทำให้สถานการณ์ในช่วงปลายปีเริ่มดีขึ้น มีแนวโน้มที่ดีตามตัวเลขของสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทยว่าการเจริญเติบโตในปีหน้าจะดีกว่าในปีนี้

ถึงแม้จะมีการระบาด ‘โควิด-19’ เพิ่มขึ้น แต่ยังส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่น การลงทุน อัตราการส่งออกและการบริโภคต่างๆที่เริ่มปรับตัวได้และทรงตัว ทั้งนี้กระทรวงการคลังยืนยันว่างบประมาณเพียงพอที่จะมีโครงการอุดหนุนช่วยเหลือประชาชนตลอดปี 2564

แต่เรื่องน่าเป็นห่วงและท้าทายรัฐบาลมากที่สุดคือ หนี้ภาคครัวเรือน พุ่งสูง ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ เป็นปัญหาซับซ้อนตามมาในช่วงปี 2564 เกิดปัญหาสังคมเพราะคนจำนวนมากตกงานและไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้และจะโดนซ้ำเติมจากการระบาดโรคใหม่

หนี้ครัวเรือน หนี้สะสม หนี้ผู้ใช้แรงงาน พุ่งสูง และทำให้คนกลุ่มใหญ่ประมาณ 30 ล้านคน รายได้ลดลง ยากจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ที่มีเงินเก็บไม่มากนัก จะเป็นความท้าทายให้กับหน่วยงานของรัฐว่าจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำไม่สำเร็จคนเหล่านี้ก็จะไหลลงสู่ถนนมีการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น

ด้านการเมือง’ แม้สถานการณ์เริ่มทรงตัว การชุมนุมมีแนวโน้มลดลง แต่คนรุ่นใหม่ หรือคนเห็นต่างกับรัฐบาลก็ยังมีพลังและอยู่ระหว่างจัดรูปแบบเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะแตกต่างจากปีที่แล้ว จะมีการเปิดพื้นที่หรือประเด็นใหม่ๆให้เกิดความเข้มข้นมากขึ้น การละเมิดกฎหมายก็จะมีให้เห็นในหลายรูปแบบ การชุมนุมประท้วงกฎหมายบางมาตราจะมีเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบของรัฐ เมื่อปีที่แล้วมีการพูดถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างจากอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปีหน้าอาจจะเห็นการกลับมาของการนำประเด็นเหล่านี้ มาถกเถียงกันว่ารูปแบบทางการเมืองของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร และแบบไหนที่รัฐธรรมนูญรองรับ แบบไหนที่ขัดกับกฎหมาย และจะดำเนินคดีคนเหล่านี้หรือไม่ ถือเป็นความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล

เช่นเดียวกับ การเปิดประเด็นทางการเมืองในเรื่องของสิทธิผู้ใช้แรงงาน สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับคนชายขอบ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ในปีหน้าคนจะหันกลับมาสนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในสิทธิ พื้นฐานทางการเมืองเหล่านี้มากขึ้น

ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถรองรับการปรับเปลี่ยนต่างๆผ่านรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือ กระบวนการพูดคุย และดำเนินคดีอย่างเหมาะสม ไม่ให้มีการกลั่นแกล้ง และสามารถรักษากฎหมายไว้ได้ส่วนหนึ่ง ควบคู่ไปกับการเปิดพื้นที่ทางการเมืองก็จะประสบความสำเร็จ เพราะปี 2564 ถือว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินมาได้ครึ่งทางแล้ว ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปในคราวหน้า

ด้านต่างประเทศ’ ประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดี จากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ สามารถประคองตัวเรื่องเศรษฐกิจ ที่ต่างชาติเชื่อมั่นและมองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและมีโอกาสสูงในการฟื้นตัวเร็ว

รวมทั้งการขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน จะเปิดโอกาสให้กับไทยรองรับโรงงานที่จะย้ายมาอยู่ในไทย ถ้าเราสามารถปรับตัวและยกระดับแรงงานได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศที่จะเป็นเป้าในการย้ายฐานเศรษฐกิจจากสหรัฐและจีนมายังเอเชีย คือไทย เวียดนาม มาเลเซีย

หากเป็นโรงงาน ที่มีค่าแรงแรงงานถูกจะย้ายไปเวียดนามจำนวนมาก แต่หากเป็นเรื่องระบบการขนส่ง คมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน หรือแรงงานระดับกลาง ประเทศไทยคือเป้าหมายแรกที่โรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตกล้อง NiKon ของญี่ปุ่น ที่จะปิดโรงงานที่ญี่ปุ่นทั้งหมดและย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ไทยรวมถึงโรงงาน Harley Davidson ก็มาย้ายมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ,รถไฟรางคู่,สาธารณูปโภคต่างๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขยายเศรษฐกิจเรื่องของโครงสร้างขนาดใหญ่ ในขณะที่การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ได้เลวร้าย

ในขณะเดียวกัน จะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐกับจีนและอาเซียน จะมีมากขึ้นโดยประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญที่จะหาทางออก เพื่อหาสมดุลระหว่างความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับของจีนในรูปแบบใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ซึ่งได้ประกาศไปแล้วว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตยและลดทอนบทบาทบางอย่างของจีน ก็จะเป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่สนใจของมหาอำนาจ ส่วนไทยที่มีนโยบายรักษาสมดุล ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกเพ่งเล็ง และพยายามดึงเป็นพวก อาจทำให้เราต้องทำงานหนักให้รอบคอบขึ้น

นอกจากนี้ ไทยอาจต้องผลักดันให้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจใหม่ในยุคหลังโควิด ก็จะเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายประเทศไทยหากทำสำเร็จ ก็จะได้รับความเชื่อมั่นนำมาสู่การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล ฉายภาพสถานการณ์และความท้าทายที่รัฐบาลต้องเผชิญ ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และต่างประเทศ ในปี 2564 อาจทำให้รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ปรับรูปขบวนเสริมสร้าง 3 ท้าทายในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่ครบเทอม