ดาวน์โหลดได้แล้ว คู่มือประชาชน ป้องกันภัยจาก 'อาชญากรรมข้ามชาติ'

ดาวน์โหลดได้แล้ว คู่มือประชาชน  ป้องกันภัยจาก 'อาชญากรรมข้ามชาติ'

สกสว.สนับสนุน สนง.ตำรวจแห่งชาติ ศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกสถานภาพอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองไทย โดยมี พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ

        ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่คนต่างชาติสามารถเดินทางเข้าและออกประเทศได้อย่างสะดวก มีค่าครองชีพไม่สูง การบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่เข้มงวดมากนัก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันภัยดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกสว. จึงให้การสนับสนุนโครงการการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจของไทยและการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลความปลอดภัยสาธารณะจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติโดยมี พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายมุ่งศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกสถานภาพอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศไทย เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอแนะไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจของไทย  ตลอดจนแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และสร้างตัวแบบเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียนหรือประเทศที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจัดทำข้อเสนอเป็นแนวทางด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือ

160940215369

        ผลผลิตสำคัญจากโครงการวิจัยดังกล่าว คือ คู่มือป้องกันภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติ: ฉบับประชาชนซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง เรื่องสถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติในยุคดิจิทัล ภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญในประเทศไทยกับการป้องกันตนเองของประชาชน สวัสดิภาพความปลอดภัยในโลกวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  สกสว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่มือเล่มนี้จะสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เกี่ยวกับลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง และรู้จักวิธีการป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมข้ามชาติ

        ด้าน พล.ต.อ.ปิยะ เผยว่า การศึกษาแนวทางการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นกรณีศึกษาแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ขององค์กรตำรวจ ความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา และการปฏิบัติในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยนักวิจัยได้ลงพื้นที่ในต่างประเทศเพื่อศึกษาข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ ได้แก่

1) หน่วยควบคุมสั่งการด้านอาชญากรรมไซเบอร์ ของกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ สังกัดกรมสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

2) สหภาพความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งสิงคโปร์ และห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ร่วมกับบริษัทสิงห์เทล

3) ศูนย์ระดับโลกขององค์การตำรวจสากลเพื่อนวัตกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์

4) เขตพื้นที่การควบคุมแดนมาเลเซีย

5) การศึกษาการปฏิบัติงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศป.อส.ตร.)

6) การศึกษาการปฏิบัติงานของคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ณ ศูนย์ปฏิบัติการ TICAC เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

       

นอกจากนี้คณะวิจัยยังจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สภาพปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศสมาชิกอาเซียนและต่างประเทศ การปฏิบัติงานควบคุมชายแดนในพื้นที่ภาคใต้ การปฏิบัติงานป้องกันปราบปราม ข้อเสนอแนะการพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจ และการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงสำรวจสภาพอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งได้รับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย สามารถสรุปได้ 8 ลักษณะ ได้แก่ การใช้กลอุบายหลอกลวง อาชญากรรมไซเบอร์ การค้ามนุษย์ การประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ การโจรกรรมรถข้ามชาติ การลักลอบค้ายาเสพติด การปลอมเอกสารและธนบัตร การฟอกเงิน

        ทั้งนี้ รูปแบบการกระทำผิดของอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและส่งผลต่อประชาชนโดยตรง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สารพัดกลอุบายหลอกลวง (scam) ทางออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แชร์ลูกโซ่ จดหมายรักลวงโลก (romance scam) การฉ้อโกงผ่านอินเทอร์เน็ต เงินกู้นอกระบบออนไลน์

2. ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดน เช่น ค้ามนุษย์ โจรกรรมรถ ยาเสพติด

3. เครื่องมือของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การปลอมแปลงเอกสาร การฟอกเงิน

160940217768

        การบริหารจัดการงานตำรวจเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ประกอบด้วย

1) การบริหารจัดการงานตำรวจของไทย ที่ได้กล่าวถึงการจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ ทรัพยากรบุคคล ยุทธศาสตร์และนโยบายที่เกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

2) ความร่วมมือระหว่างตำรวจต่างประเทศ ที่ได้กล่าวถึงความร่วมมือระดับนโยบายเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือระดับองค์กรของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ความร่วมมือระดับปฏิบัติการระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานด้านการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามอาชญากรรม อาชญากรรมเฉพาะทาง

3) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับคดีอาชญากรรมข้ามชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานระหว่างประเทศ

4) ปัญหาข้อขัดข้องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแต่ละประเภท

160940259294

       

รอง ผบ.ตร.ระบุว่า ผลการวิจัยนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายด้านการป้องกันปราบปราม และการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติในความรับผิดชอบของตน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวน งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งงานการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งมีปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบมากขึ้น

160940219368

            นอกจากคู่มือป้องกันภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติ: ฉบับประชาชน คณะวิจัยยังได้จัดทำแอปพลิเคชั่น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความตระหนักรู้ คำแนะนำสำหรับการป้องกันตนเอง และเผยแพร่ผลการวิจัยออกสู่สาธารณะ โดยจัดทำเป็นเว็บไซต์ http://tcpguide.police.go.th/ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการบรรยายในหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารงานตำรวจระดับต้น (หลักสูตร สารวัตร) ระดับกลาง (หลักสูตร ผู้กำกับการ) และระดับสูง (หลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง) หลักสูตรต่าง ๆ ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และหลักสูตรอื่นที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

        นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่มีเนื้อหาเข้มข้น และดำเนินการโดยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย