หนังเล่าโลก: First They Killed My Father ปฐมบทไทย-ยูเอ็นเอชซีอาร์

หนังเล่าโลก: First They Killed My Father ปฐมบทไทย-ยูเอ็นเอชซีอาร์

First They Killed My Father ภาพยนตร์เมื่อปี 2560 สร้างจากเรื่องจริงของ หลวง อัง เด็กหญิงวัย 5 ขวบชาวกัมพูชา ผู้ตกเป็นเหยื่อการปกครองอันโหดร้ายของเขมรแดงระหว่างปี 2518-2522

ต้องยอมรับว่าปี 2563 เป็นปีที่โลกถูกบดบังไปด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พอถึงปลายปีก็ดันมีสายพันธุ์ใหม่กว่าโผล่มาที่อังกฤษแล้วกระจายไปประเทศต่างๆ จนผู้คนลืมปัญหาอื่นๆ ของโลกรวมทั้งปัญหาผู้ลี้ภัย ที่ต้นตอของปัญหามักมาจากการเมืองภายในประเทศผสมโรงด้วยการแทรกแซงจากมหาอำนาจ เห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง First They Killed My Father ผลงานกำกับของ แอนเจลินา โจลี นางเอกแถวหน้าของฮอลลีวูด

First They Killed My Father ภาพยนตร์เมื่อปี 2560 สร้างจากเรื่องจริงของ หลวง อัง เด็กหญิงวัย 5 ขวบชาวกัมพูชา ผู้ตกเป็นเหยื่อการปกครองอันโหดร้ายของเขมรแดงระหว่างปี 2518-2522 ก่อนกรุงพนมเปญแตกในวันที่ 17 เม.ย.2518 หลวงมีชีวิตอย่างสุขสบายกับพี่น้อง 6 คน เพราะเป็นลูกนายทหารระดับนำของรัฐบาลลอนนอลที่มีสหรัฐหนุนหลัง การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐของนายพลลอนนอลจึงถูกฝ่ายเขมรแดงที่ยึดแนวทางคอมมิวนิสต์สายจีนต่อต้านอย่างหนัก วันหนึ่งเมื่อเขมรแดงเข้มแข็งถึงขนาดบุกมายึดเมืองหลวง แม้แต่สหรัฐก็ต้องถอยทัพ

คนไทยในฐานะเพื่อนบ้านได้ยินเรื่องราววันที่ “พนมเปญแตก” มามากมาย แต่ ด.ญ.หลวงเห็นภาพนี้ด้วยตาของเธอเอง เขมรแดงกรีฑาทัพเข้ามากวาดต้อนชาวพนมเปญออกไปจากเมืองโดยหลอกว่า ให้ออกไป 3 วันเพื่อความปลอดภัยเพราะสหรัฐจะทิ้งระเบิด พ่อของด.ญ.หลวงจัดการพาครอบครัวอพยพออกจากเมืองอย่างเข้าใจสถานการณ์ ส่วนลูกๆ ทั้ง 6 นั้นเล่า พวกเขาไม่รู้เลยว่า นับตั้งแต่วินาทีนั้นชีวิตการเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว พ่อแม่ของ ด.ญ.หลวงถูกเขมรแดงฆ่า พี่สาวป่วยเสียชีวิต เธอและพี่ๆ น้องๆ ที่เหลือต้องอยู่ในค่ายใช้แรงงาน เข้าโรงเรียนฝึกทหารเรียนรู้วิธีการต่อสู้และวางกับระเบิด

ชีวิตเด็กน้อยต้องเจอเรื่องเลวร้ายเกินจะรับได้ จนกระทั่งเดือน ม.ค.2522 เมื่อเฮง สัมรินและฮุนเซน สองสมาชิกเขมรแดงแปรพักตร์ไปเข้ากับเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ยกทัพมาขับไล่เขมรแดง เข้าปลดแอกประชาชนกัมพูชา จนได้รับชัยชนะควบคุมพนมเปญ ถึงจุดนี้ปัญหาการเมืองดูเหมือนจะได้รับการแก้ไขเพียงชั่วครู่ชั่วยามแต่ปัญหาผู้ลี้ภัยนั้นไม่สิ้นสุด

ผู้เขียนเลือกดูหนังเรื่องนี้ในโอกาสครบรอบ 70 ปี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ด้วยเหตุผลความคล้องจองหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ผู้กำกับแอนเจลีนา โจลี เคยเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ และผู้แทนพิเศษข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เธอทุ่มเททำงานเพื่อมนุษยธรรม แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก สำหรับผลงานภาพยนตร์ First They Killed My Father นั้น โจลีได้ลูกชาย 2 คนมาช่วยงาน แมดดอกซ์ ลูกชายเชื้อสายกัมพูชา รับหน้าที่ Executive Producer ส่วนแพ็กซ์ ลูกชายเชื้อสายเวียดนาม รับตำแหน่งช่างภาพนิ่งประจำกองถ่าย ซึ่งสถานการณ์ในเวียดนามและกัมพูชานี่เองทำให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ยูเอ็นเอชซีอาร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2493 โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด เพื่อมอบความคุ้มครองและตั้งถิ่นฐานใหม่ให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวยุโรปหลายล้านคน ต่อมาในปี 2518 ภายหลังกรุงไซ่ง่อนแตก (ในวันที่ 30 เม.ย.หลังพนมเปญแตกได้ไม่กี่วัน) ช่วงสงครามเวียดนาม ผู้ลี้ภัยหลายพันคนลงเรือโดยสารขนาดเล็กหนีออกสู่ทะเลจีนใต้ ประเทศไทยเป็นชายแดนแรกของผู้ลี้ภัยจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามที่มีมากกว่า 1.3 ล้านคน รัฐบาลไทยเชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาทำงานมอบความคุ้มครองระหว่างประเทศ และหาทางออกที่ยั่งยืนเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ

สถานการณ์ในอินโดจีนดีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 90 แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหาการสู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมา ระยะหลังมีปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาด้วย ส่วนในภูมิภาคอื่นเกิดปัญหาในประเทศที่มีการสู้รบ เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย บ้างก็หนีความอดอยากยากจน เช่น เวเนซุเอลา ซึ่งยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างดีมาตลอด พร้อมกับน้ำใจจากผู้คนทั่วโลกที่ร่วมบริจาคเงิน

หากพิจารณานิยามของคำว่า ผู้ลี้ภัย ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิเนื่องจากความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง เป็นบุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติตน และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติตนเนื่องจากความหวาดกลัวดังกล่าว หรือนอกจากนี้เป็นบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตรัฐเดิมที่ตนมีถิ่นฐานพำนักประจำแต่ไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปเพื่อพำนักในรัฐดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวข้างต้น

ชีวิตของ ด.ญ.หลวงใน First They Killed My Father เป็นตัวอย่างชวนให้ฉุกคิดว่า การเมืองที่ผิดพลาด จากการที่ผู้นำใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ก็มีส่วนผลิตผู้ลี้ภัยได้ ตั้งแต่ผู้เห็นต่างทางการเมืองจำนวนไม่กี่คนที่ต้องหนีภัยการเมืองไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่นจนถึงผู้ลี้ภัยหนีไฟสงครามจำนวนมหาศาล ดังนั้น การสร้าง “การเมืองดี” ที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้นำก็น่าจะช่วยลดจำนวนผู้ลี้ภัยได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ต้องรอให้ความขัดแย้งบานปลายจนถึงขั้นต้องประหัตประหารกัน กลายเป็นโศกนาฏกรรมเล่าขานไม่รู้จบ