“ปีใหม่”เปลี่ยน"แผนปฏิรูปประเทศ” ปูทาง “รัฐบาลทหาร” สมัยสาม

“ปีใหม่”เปลี่ยน"แผนปฏิรูปประเทศ” ปูทาง “รัฐบาลทหาร” สมัยสาม

แผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงใหม่ ที่เตรียมประกาศใช้ในต้นปี 2565 จากงานหลายหมื่นเรื่อง ถูกย่อให้เหลือเพียง 64 กิจกรรมใน 13ด้านปฏิรูป สิ่งที่ต้องไฮไลต์คือ "ด้านการเมือง" ที่เนื้องานเสมือนปูทางไปสู่ "การครองอำนาจต่อ"

        ภายใต้ปี 2565 ประเทศไทยจะมีแผนการปฏิรูปประเทศ 3 ภายใต้ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ฉบับใหม่ บังคับใช้

       หลังจากที่ฉบับแรกประกาศและใช้มาตั้งแต่ 6 เมษายน 2561 พบว่า ไม่สอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580” ที่ออกมาภายหลัง เมื่อ 13 ตุลาคม 2561

      ต้องยอมรับว่า แผนปฏิรูปประเทศฉบับแรกที่ออกมานั้น มีโครงการนับหมื่นรายการ และส่วนใหญ่ไม่ต่างจากงาน “ประจำ” ของทางราชการ

        ดังนั้นเป้าหมายของการปรับปรุงแผนปฏิรูปครั้งนี้คือ การคัดเลือก “โครงการ-กิจกรรมสำคัญเร่งด่วน” และหลายหน่วยงานร่วมทำงานกันอย่างบูรณาการ พร้อมกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุด “คณะรัฐมนตรี” ให้ความเห็นชอบแผนที่ปรับปรุง และรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ในเดือนมกราคม 2565

        สาระสำคัญของ “แผนปฏิรูปประเทศโฉมใหม่” 13 ด้าน 64 กิจกรรม ให้ความสำคัญการออกกฎหมาย เพื่อบังคับ เป็นแนวทางของการปฏิรูปที่ได้ผลในเชิงรูปธรรม

        อย่างไรก็ดี เมื่อสังเคราะห์ถึงกิจกรรมปฏิรูปฉบับปรับปรุง ในด้านที่เป็นหัวใจ คือ “การเมือง”

        พบกิจกรรมที่เป็นหัวใจ หลังจากปรับเนื้องาน เพราะสถานการณ์การเมือง ทั้งประเด็นการชุมนุมทางการเมือง ความขัดแย้ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสิ่งที่เพิ่มเติมคือ “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเป็นคนกลางแก้ปัญหาการเมือง” 

        ให้สำนักขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เป็นผู้รับผิดชอบ

160933488476

        พร้อมวางเป้าหมายให้ประชาชนปรองดองสมานฉันท์ และลดความขัดแย้งในสังคมไทย

        สำหรับขั้นตอนปฏิบัติสำคัญ คือ ติดตามแจ้งเตือน เสนอแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        ขณะที่ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มอบให้สถาบันพระปกเกล้ารับผิดชอบ

      ได้วางเป้าหมายหลักคือ ให้โครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และวิชาการ และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะท้อนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 หลักการสำคัญ คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ่วงดุลอำนาจ แบ่งแยกอำนาจ ความรับผิดชอบ การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการป้องกันรัฐประหาร

160933488313

        ทั้ง 2 ประเด็นนี้ “คนการเมือง”มองว่า นี่คือการจงใจวางแนวเพื่อปรับตัว พร้อมปูทางไปสู่การเข้าครองอำนาจ “สมัยที่สาม” ของรัฐบาล “ทหาร”

     ขณะที่สถานการณ์ระบาดของ “โควิด-19” ที่ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและเรียนรู้กับการจัดสรรอำนาจให้ “ท้องถิ่น” เข้าแก้ปัญหาด้วยตนเองตามสถานการณ์ของพื้นที่ ในแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขเอง

     กำหนดแผนงานให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน และระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้ “โควิด-19” เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ นอกจากนั้นแล้วยังมีแผนปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อหวังใช้เป็นบทบังคับที่สมบูรณ์แบบ แทนการใช้กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

     อย่างไรก็ดี ในแผนการปฏิรูปทั้ง 13 ด้านนั้น ได้กำหนดผลงานไว้อย่างสำคัญ คือ การออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้เป็นกลไก และมาตรการกำกับ รวมถึงให้เป็นผลงานว่าด้วยการปฏิรูปประเทศที่ได้ผล อาทิ ร่างกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน, แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยข้าราชการพลเรือน เป็นต้น

     ทั้งนี้ แผนปฏิรูปฉบับปรับปรุง กำหนดกรอบให้ดำเนินการตามเป้าหมายให้เสร็จภายในปี 2565 หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นปีที่ครบเทอมของ “คณะรัฐมนตรี” คณะที่ 62 ของ พล.อ.ประยุทธ์ พอดี

     หากแผนทั้งหมดทำได้สำเร็จตามตัวชี้วัด ประเทศไทยคงปรับโฉม แต่นัยของ “ผู้ครองอำนาจ” ในยุคต่อไป อาจไม่มีอะไรเปลี่ยน.

1609334883100