"ต้นไม้ใหญ่" เมื่อวันวาน ที่ "ปัญญาชน คนดัง" คิดถึง

"ต้นไม้ใหญ่" เมื่อวันวาน  ที่ "ปัญญาชน คนดัง" คิดถึง

ย้อนวันเวลาความผูกพันที่มีต่อต้นไม้ใหญ่ในมุม อานันท์ ปันยารชุน, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ศ.กิตติคุณเดชา บุญค้ำ พวกเขาเหล่านี้ไม่ว่าจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนไกลแค่ไหน ก็ยังคิดถึงใบไม้ที่ร่วงหล่นในเมืองไทยและนี่คือภารกิจของคนรุ่นต่อมาช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่

"เมื่อ 60 ปีที่แล้วสิงคโปร์ไม่มีต้นไม้เลย แล้วรู้ไหม เขาได้ต้นไม้พวกนี้มาจากไหน เขามาดูงานที่เมืองไทย แล้วเอาประดู่กลับไป แต่พวกเราเวลาไปดูงาน ไปดูปารีสอย่างเดียว สิงคโปร์ไม่เคยส่งคนไปดูงานปลูกต้นไม้ที่ยุโรปหรือปารีสเลย 

พวกเขามาดูที่นี่ แล้วเอาไปๆ เพราะเป็นคนที่รักต้นไม้จริง เวลาปลูก เขาไม่ได้เอาต้นเล็กๆ มาปลูกนะ พอ 3 ปีสนามบินสร้างเสร็จ ต้นไม้ก็โตแล้ว เขาวางแผนกันอย่างนั้นเลย นอกจากการตกแต่งดีแล้ว เขายังมีเนอสเซอรี่ต้นไม้มากมาย"

อานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษา ‘มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่’ (Big Trees Foundation) กล่าวในเสวนา ‘สร้างฝัน...ให้เป็นจริง’ ในงาน BIGTrees Festival 2020 เทศกาลต้นไม้ใหญ่ ครั้งที่ 3 (ครบรอบ 10 ปี กลุ่มบิ๊กทรี) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) งานรวมกลุ่มเครือข่ายรักต้นไม้ที่ล่าสุดจดทะเบียนเป็นมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่

  • เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ

"บิ๊กทรี เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2553 มีจุดเริ่มต้นจาก ‘ภารกิจปกป้องต้นจามจุรีในซอยสุขุมวิท 35’ แต่ภารกิจนั้นล้มเหลว เราก็เกาะกลุ่มทำงานต่อมาเรื่อยๆ เพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการโค่นหรือตัดทำลายต้นไม้ พอมีเฟซบุ๊คก็กลายเป็น BIG Trees Project

เวลาที่มีการก่อสร้างอาคาร ตัดถนน โครงการขนาดใหญ่ ทำให้ต้นไม้ถูกคุกคาม ต้นไม้ในเมืองคือความจำเป็น ช่วยลดอุณหภูมิ ดูดซับมลพิษ ดูดซับฝุ่น ช่วยทำให้ผ่อนคลาย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในเมืองควรมีพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะให้คนได้ไปผ่อนคลาย" อรยา สูตะบุตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี https://www.bigtreesthai.com/ กล่าวถึงที่มา

160921904857 อรยา สูตะบุตร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี

อรยายังบอกอีกว่า การพัฒนาเมืองและต้นไม้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้

"องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรไว้ที่ 9 ตารางเมตร/คน ซึ่งกทม.มีน้อยกว่า 6 ตารางเมตร/คน ต่ำที่สุดในอาเซียน เท่ากับตะวันออกกลาง ตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่มีแผนจัดการพื้นที่สีเขียวมา 50 ปีมีกฎหมายเข้มงวด ดูแลเรื่องต้นไม้ หากพื้นที่ของรัฐหรือทหารถูกปล่อยออกมาทำสวนสาธารณะได้ เราจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น

160922252879 ต้นไม้ใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร

บิ๊กทรีเป็นศูนย์กลางร้องเรียนคนตัดต้นไม้ในที่สาธารณะ เพราะต้นไม้ใหญ่ ถ้าตัดบางส่วนทิ้งเท่ากับตัดแหล่งอาหาร รากก็จะหดไปด้วย ตอนนี้ครบรอบ10 ปีแล้ว มีการเปิดหลักสูตรอบรม สร้างทีมรุกขกร สร้างอาชีพ สร้างมาตรฐานการดูแลต้นไม้ให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชนให้มีแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกันอย่างยั่งยืน” อรยา กล่าวถึงบทบาทล่าสุด

  • SCONTE ผู้มาก่อนกาล

"ตอนอายุ 30 ปี ผมได้ไปศึกษาต่อ แล้วกลับมาทำงานที่กรมโยธา งานแรกที่ช่วยสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Social for The Conservation of National Treasure and Environment : SCONTE) คือ การรณรงค์ห้ามสร้างตึกแถววัดสระเกศ ทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น 

ในปีพ.ศ.2514 มีปฏิวัติ คณะปฏิวัติก็ขอสมาคมฯให้ทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะและการพัฒนาเมืองและตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมา ปีพ.ศ.2515-2516 เราตั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เดี๋ยวนี้เป็นกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ตั้งการเคหะแห่งชาติ ตั้งกระทรวงวางแผนแห่งชาติ เดี๋ยวนี้เป็นสำนักนโยบายและแผน และตั้งอะไรอีกหลายอย่าง พอวัดจะทำที่จอดรถ ก็มีอบรมว่าจะทำยังไง เพราะวัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญ สมัยก่อนคนที่ทำงานภาคประชาสังคมก็กลายมาเป็นคนทำงานในภาครัฐ"

ศ.กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งศาสตร์รุกขกรรมในประเทศไทย ประธาน ‘มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่’ (Big Trees Foundation) กล่าวถึง สิ่งที่ได้ทำมา และเล่าต่อถึงบทบาทที่มีต่อโบราณสถานสำคัญหลายๆ แห่งในเมืองไทย

160922053673 ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ  และ อานันท์ ปันยารชุน

"ในช่วง 10-20 ปีแรก งานของ SCONTE คือ เกาะรัตนโกสินทร์ ตอนนั้นมีทหารมาทุบ แล้วสร้างแฟลตริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้างกรมศิลปากร เราก็ห่วงใยทำโครงการทำผังหลักไปเข้าครม. นายกรัฐมนตรีจอมพลประภาส จารุเสถียรได้ดูก็ชอบใจ ตั้งเป็นคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ มีงบประมาณให้และให้ความสำคัญ เกาะรัตนโกสินทร์จึงเกิดขึ้น

งานที่สอง บางกระเจ้า SCONTE ผลักดันให้ออกเป็นกฎกระทรวงเป็นพื้นที่คุ้มครอง งานที่สาม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นเมืองเก่า มีประชาชนไปบุกรุกสร้างโรงเลื่อย สร้างหมู่บ้านต่างๆ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ก็ไปขอรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็อนุมัติ SCONTE ก็ไปคัดค้านให้ทำเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ 

ตอนนั้นกรมศิลป์ยังไม่มี เราก็ตั้งทีมไปทำที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ 2 ปี นอกจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแล้ว ก็มีอีกหลายแห่ง ผมใช้เวลา 30-40 ปี หรือครึ่งศตวรรษจึงจะสำเร็จ" อาจารย์เดชา เล่าถึงสถานที่ต่างๆ ที่น้อยคนจะรู้ว่าในอดีตเริ่มต้นมาอย่างนี้

  • ร่วมด้วยช่วยกัน

"เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมได้ไปประชุมที่สิงคโปร์ จริงๆ แล้วสิงคโปร์ต้องร้อนกว่ากรุงเทพฯ เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่า แต่ปรากฏว่า เย็นสบาย เพราะต้นไม้ใหญ่มาก แล้วตัดแต่งได้สวยมาก พอเข้าไปใจกลางเมือง โตเกียวชิดซ้ายไปเลย เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วผมทนไม่ไหวที่เห็นกทม.ตัดต้นไม้แบบครึ่งต้น เลยใช้พื้นที่ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นพื้นที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กทม.ทั้ง 50 เขต จัดไปได้ 6 รุ่น 

160921921595 ผศ.ดร ปริญญา เทวนฤมิตรกุล

สมัยก่อนลานปรีดีร่มรื่น ต้นไม้ใหญ่สวยงามแต่การพัฒนาเมื่อ 13-14 ปีที่แล้ว เปลี่ยนต้นไม้ใหญ่ในธรรมศาสตร์กลายเป็นต้นลั่นทม แล้วตัดต้นไม้ทิ้งไปครึ่งหนึ่ง ต้นไทรหน้าตึกโดมฝั่งสนามบอล 2 ต้นก็เอาออกไป ลานปรีดีกลายเป็นลานปูน 

ปัจจุบันลานปรีดีกลับมาร่มรื่นอีกครั้ง และต้นไม้สวยมากด้วยผลงานของกลุ่มบิ๊กทรี ที่สำคัญมากคือคนขาดทักษะ ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าต้นไม้อยู่ในเมืองได้ เราจึงมีหลักสูตรอบรมแบบสั้นที่สุด 6 วัน ทุกเสาร์-อาทิตย์ เก็บแค่ 800 บาท อบรมไปแล้ว 13 รุ่น ต้นไม้ที่ธรรมศาสตร์รังสิตก็สวยขึ้นทุกครั้งที่มีการอบรม"

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Thammasat Tree Academy ร่วมกับกลุ่มบิ๊กทรี กล่าวถึงการทำงานร่วมกัน

160921934266 ภาพความเปลี่ยนแปลงหลังการทำงานของกลุ่มบิ๊กทรี

อาจารย์ปริญญายังกล่าวต่อว่า การตัดแต่งต้นไม้ ไม่ใช่การตัดแบบกุด หรือตัดแบบหัวโกร๋น

"วิธีการตัดแต่งต้นไม้ เราต้องเอากิ่งข้างล่างออก ให้มันไปกางเป็นร่มข้างบน แต่ที่กทม.และกรมทางหลวงทำคือ ตัดร่มทิ้งเหลือแต่ก้าน มันผิด วิปริต ผมแปลกใจมาก บริษัทที่ดูแลสวนก็ตัดต้นไม้แบบนี้ทุกที่ 

เพราะเขาดูว่า ต้นไม้มันล้ำถนน-ตัด ต้นไม้บังสายไฟ-ตัด ต้นไม้บังแสง-ตัด ผมเลยแก้ TOR (Term of Reference : ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง) บริษัทที่มารับงานสวนว่าต้องมีรุกขกรที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 2 คน ก็เลยเปลี่ยนได้"

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้นไม้เติบโตได้ง่ายมาก เพียงแค่มีดิน น้ำ และธรรมชาติที่เหมาะสม

"อย่างที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล(ตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเมืองร้างเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นที่ตั้งของประเทศยูเครน) แค่มนุษย์ทิ้งเมืองไปในปีค.ศ. 1986 ผ่านมา 34-35 ปี ต้นไม้มันกลับมาเอง

เราจึงทำแค่จัดองค์ประกอบ ธรรมชาติก็ฟื้นกลับคืนมาเป็นแสนไร่ อย่างป่าชายเลน การปลูกเป็นต้นๆ รอดแค่ 5% แต่การจัดสภาพแวดล้อมให้ธรรมชาติฟื้นตัว มันก็จะฟื้นตัวทีเดียวเป็นพันไร่หมื่นไร่ ซึ่งเราก็ต้องทำควบคู่กันไป

ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกเราสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปกว่า 2 ใน 3 ประชากรโลกจากที่ไม่ถึง 1,000 ล้านคน ปัจจุบัน 7,800 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8 เท่า โลกร้อนเป็นข้อพิสูจน์ว่า เราทำผิดพลาด โลกยังอยู่ไปได้อีก 3,000 ล้านปี แต่มนุษย์อยู่ไม่ถึง 100 ปี ถ้าเรายังไม่หยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราจึงต้องปลูกต้นไม้ ต้นไม้ใหญ่ยิ่งดี ต้นไม้กินได้ก็ดี

เราต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีตัดต้นไม้ที่ไหน เราต้องแจ้งเตือน มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าภาคเอกชนช่วยดูแลต้นไม้ที่หน้าบริษัทตัวเอง ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปแน่นอน คำตอบคือ การมีส่วนร่วมครับ" อาจารย์ปริญญาเล่า 

ขณะที่อานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษามูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของต้นไม้มากกว่านี้

"ผมอายุ 88 ปีย่างเข้า 89 ผมอายุเท่ากับประชาธิปไตยเมืองไทย ถามว่าผมเติบโตมา 88 ปี เป็นความก้าวหน้าของชีวิตผมไหม...เป็น แต่ถ้าถามว่าประชาธิปไตยเมืองไทย 88 ปีมีความก้าวหน้าไหม...ผมไม่อยากจะตอบ ตั้งแต่เด็กบ้านผมอยู่ถนนสาทร ต้นหูกวางเต็มไปหมด เปลี่ยนสีเหมือนอย่างต้นไม้ในเมืองหนาว ต้นไม่ค่อยสวย แต่สูงใหญ่ กิ่งใบสวยมาก

160921925457 อานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษา มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่

ผมโตมาแถวๆ ถนนสีลม มีต้นไม้เต็มไปหมด โตขึ้นมาหน่อยขี่จักรยานไปราชดำริ ไปสนามม้านางเลิ้ง ก็ต้นไม้ทั้งนั้น พอไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ก็ได้เห็นสวนสาธารณะที่มันสวยงามมาก ตามถนนต่างๆ ต้นไม้เต็มไปหมด

เรียนจบกลับมาเมืองไทย เอ๊ะ ต้นไม้เริ่มหายไป อากาศก็ร้อนขึ้น คนนิยมบ้านแบบฝรั่ง ปลูกเสร็จก็ต้องติดแอร์ เพิ่มความร้อนเข้าไปอีก ไปอยู่เมืองนอก 12 ปีกลับมา เสร็จเลย กรุงเทพฯร้อนระอุเลย

ผมอยากให้เรื่องการดูแลต้นไม้ มีสอนในโรงเรียนมากขึ้น เพราะเรื่องต้นไม้และการรักษาให้ดี มันเกิดจากนิสัยตั้งแต่เด็กที่ชอบต้นไม้ ผมอยากเห็นต้นไม้เจริญเติบโต สุขภาพดี อยากเห็นเด็กไทย เติบโต มีความคิดก้าวหน้า

ผมไม่อยากเห็นคนตัดต้นไม้ ผมไม่อยากเห็นคนแก่ทำลายต้นไม้ ซึ่งเป็นอนาคตของเด็ก คนที่รักต้นไม้จะเผื่อแผ่ ไม่ว่าเด็กทำผิดทำถูก เด็กจะมีความคิดอย่างไร ควรให้โอกาสเขา ตัดแต่งได้ครับ แต่ไม่ใช่ตัดหัวตลอดเวลา ให้โอกาสเขาเจริญเติบโต โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ที่จะรักต้นไม้ต่อไป"

160921928696 ส.ศิวรักษ์ หรือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ทางด้าน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน ปัญญาชนสยาม ก็มองเห็นว่า ต้นไม้มีความสำคัญมากกว่านั้น

"สมัยประภาส จารุเสถียร เขาให้คนทำงานเสมือนมือขวาของเขาพัฒนาบ้านเมือง ต้องมีตึกให้มากๆ ต้นไม้ต้องตัดทิ้ง สมัยนั้นถนนพญาไทสองข้างต้น ก้ามปู ขึ้นเต็มครึ้มมากเลยครับ เขาก็สั่งตัดหมด ถนนวิทยุ เป็นถนนเส้นเดียวที่ไม่ได้ตัด เพราะทูตานุทูตขอไว้ 

คนสำคัญที่ร่วมทำเรื่องต้นไม้ด้วย คือ คุณสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เขากลับมาจากอังกฤษ ประเทศที่มีต้นไม้เยอะ มาปรึกษาผมตอนนั้นผมเป็นกรรมการสยามสมาคม เราจัดสัมมนาเรื่องต้นไม้ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็มาร่วมด้วยอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านอ้างบทกลอนอิเหนา บทกลอนรามเกียรติ์ต่างๆ เรื่องต้นหมากรากไม้ เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน

ต้นไม้ไม่ได้เป็นเพียงชีวิตให้เรา ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมทางสังคมด้วย บัดนี้พรรคกรีนที่เยอรมัน สามารถเอาชนะพรรคเดโมแครตได้แล้ว ได้เป็นรัฐบาล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเมืองนั้นต้องเริ่มด้วยต้นไม้และสิ่งแวดล้อม อย่าไปสนใจการเมืองทื่อๆ"