'โควิด-เบร็กซิท'ทุบปอนด์อ่อนค่าหนัก

'โควิด-เบร็กซิท'ทุบปอนด์อ่อนค่าหนัก

'โควิด-เบร็กซิท'ทุบปอนด์อ่อนค่าหนัก ขณะทั่วโลกผวาไวรัสอังกฤษกลายพันธุ์

ปอนด์ทรุดตัวลงอย่างหนักเทียบดอลลาร์และยูโรในวันนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ

นอกจากนี้ ปอนด์ยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit)

เมื่อเวลา 21.15 น.ตามเวลาไทย ปอนด์ร่วงลง 1.50% สู่ระดับ 1.332 ดอลลาร์ และอ่อนค่า 1.05% สู่ระดับ 0.916 เทียบยูโร

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินในวันนี้ เพื่อรับมือวิกฤตการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายประเทศทั่วโลกพากันประกาศระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ


สื่อหลายฉบับได้ตีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ โดยเดลี่ มิร์เรอร์พาดหัวข่าวว่า “Sick Man of Europe” หรือ “คนป่วยของยุโรป”

ขณะนี้ อังกฤษมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 ล้านราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่เสียชีวิตมากกว่า 67,000 ราย

หลายประเทศทั่วโลกพากันประกาศระงับเที่ยวบินจากอังกฤษในวันนี้ หลังพบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ในอังกฤษ ซึ่งทำให้มีการแพร่เชื้อรวดเร็วกว่าเดิมถึง 70%

ทั้งนี้ อินเดีย อิหร่าน ฮ่องกง แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และโปแลนด์ต่างประกาศระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แถลงถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน หลายประเทศได้ประกาศระงับเที่ยวบินจากอังกฤษก่อนหน้านี้ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ไอร์แลนด์ เบลเยียม อิสราเอล และแคนาดา

ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ระบุว่า รัฐบาลกำลังจับตาสถานการณ์ดังกล่าว ก่อนที่จะทำการตัดสินใจ

กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียแถลงในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการแพร่ระบาดในอังกฤษจากนักท่องเที่ยว 2 รายที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักรในวันนี้

นอกจากนี้ ปอนด์ยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า อังกฤษอาจแยกตัวออกจากอียูโดยไม่มีการทำข้อตกลง ขณะที่การเจรจาของทั้งสองฝ่ายยังคงไม่มีความคืบหน้า

นายจอห์นสันเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า อังกฤษพร้อมที่จะยุติการเจรจาการค้ากับอียูและจะแยกตัวออกจากอียูโดยไม่มีการทำข้อตกลง

ทั้งนี้ อังกฤษและอียูยังคงมีความขัดแย้งกันในประเด็นการประมง และการที่อียูกำหนดข้อบังคับให้มีการลงโทษอังกฤษ หากมีการละเมิดข้อตกลง

ผู้นำยุโรปต่างมองว่าอังกฤษกำลังต้องการจับปลา 2 มือ โดยหวังที่จะยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการเข้าสู่ตลาดของอียูพร้อมกับการกำหนดกฎระเบียบของตนเอง

หากอังกฤษและอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 1 ม.ค.2564 จะทำให้อังกฤษแยกตัวออกจากอียูโดยไม่มีการทำข้อตกลง ส่งผลให้อังกฤษสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับ EU และทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

นอกจากนี้ ภาวะ no-deal Brexit จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษและยุโรป และสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดการเงิน