แบรนด์"ชินวัตร"ส่อสิ้นมนต์ขลัง สนามนายก อบจ. ส่ง25ขุนพลเข้าวิน9จว.

แบรนด์"ชินวัตร"ส่อสิ้นมนต์ขลัง สนามนายก อบจ. ส่ง25ขุนพลเข้าวิน9จว.

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ สะท้อนภาพ "ทักษิณ" เริ่มเสื่อมมนต์ขลังในหลายพื้นที่ ปรากฎการณ์ "เลือดข้นคนจาง" ปากบอกเคารพรัก นายใหญ่-นายหญิง แต่ขอแยกทางเดินทางการเมือง

เสร็จศึกสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. เที่ยวนี้ "คนตระกูลชินวัตร" - "พรรคชินวัตร" อยู่ในสถานะ "เลือดข้นคนจาง" หลายพื้นที่คนกันเองต้องมาห่ำหั่น แย่ง-ชิง เก้าอี้อำนาจ

 

แม้ "ทักษิณ ชินวัตร" ทุ่มเททุกสรรพกำลัง คว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่หากมองผลคะแนนของผู้สมัครนายก อบจ. สังกัดพรรคเพื่อไทย 25 จังหวัด ก็ถือว่า แบรนด์เดิมเริ่มไม่ขลังแล้ว

 

เนื่องจากมีผู้สมัครนายก อบจ.ของค่ายเพื่อไทย ได้รับการเลือกตั้งเพียง 9  จังหวัดเท่านั้น โดยเฉพาะภาคกลาง เพื่อไทยพ่ายเรียบ

 

การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา เพื่อไทยยังได้ ส.ส.เขตมาเป็นกอบเป็นกำ จากภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน เพราะกินบุญเก่าสมัยไทยรักไทย และชื่อทักษิณ ชินวัตร ยังขายได้

 

สำหรับเลือกตั้งนายก อบจ. เพื่อไทยเสียหายค่อนข้างเยอะ เพราะมี ส.ส.เพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ไปร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ จัดทีมล้มคนของพรรค ในหลายสิบจังหวัด

 

ภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 6 จังหวัด ปรากฏว่า พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เชียงใหม่, อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ลำพูน ,นพรัตน์ ถาวงศ์ น่าน, ตวงรัตน์ โล่สุนทร ลำปาง และ อนุวัธ วงศ์วรรณ แพร่ ได้รับชัยชนะ

"ส.ว.ก้อง" พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เอาชนะ "บุญเลิศ บูรณุปกรณ์" ที่สนามเชียงใหม่ แต่อย่าลืมว่าก่อนกาบัตรเลือกตั้งช่วงโค้งสุดท้าย "ทักษิณ-ขุนพลเพื่อไทย" ลงพื้นที่เกือบทุกวัน "ทักษิณ" ลงทุนเขียนจดหมายแล้ว แต่โพลพรรคเพื่อไทยก็ยังตามหลังอยู่ จนกระทั้งเหลืออีกไม่กี่วันกาบัตร "ทักษิณ" ต้องดิ้นเฮือกสุดท้าย ปล่อยคลิปอ้อนคนเชียงใหม่ จนคะแนนพลิกกลับมาชนะ

แต่เมื่อข้ามไปที่จ.เชียงราย “น้องยิ้ม” วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย ลูกสะใภ้ของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พ่ายแพ้แก่ “สจ.นก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ทั้งที่ทักษิณฝากฝังให้ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" ดูแล "น้องยิ้ม" แต่ก็เอาชนะไม่ได้

สมรภูมิสนามภาคกลาง กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจุกอก เพราะส่งผู้สมัครนายก อบจ. 9 จังหวัด ก็พ่ายเรียบไล่มาตั้งแต่ พล.ต.เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ สุพรรณบุรี, เกรียงไกร กิ่งทอง ระยอง, สิทธิชัย กิตติธเนศวร นครนายก

เกียรติกร พากเพียรศิลป์ ปราจีนบุรี, วินัย วิจิตรโสภณ นครปฐม, ธนวุฒิ โมทย์วารีศรี สมุทรสงคราม, เชาวรินทร์ ชาญสายชล สมุทรสาคร, วิชิต ปลั่งศรีสกุล ประจวบคีรีขันธ์ และสุรสาล ผาสุก สิงห์บุรี

ขณะที่ภาคอีสานเป็นฐานที่มั่นของเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 10 จังหวัด เหลือรอดเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียร ขาวขำ อุดรธานี, กานต์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี  พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ มุกดาหาร และ วิเชียร สมวงษ์ ยโสธร

 

ส่วน 7 จังหวัดที่พ่ายได้แก่ สุชีพ เศวตกมล ชัยภูมิ, ศรีเมือง เจริญศิริ มหาสารคาม, ธนพล ไลละวิทย์มงคล หนองคาย, วิชัย สามิตร หนองบัวลำภู, เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล กาฬสินธุ์, สมชอบ นิติพจน์ นครพนม และพ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ มุกดาหาร 

 

มีข้อน่าสังเกต ส.ส.เพื่อไทย สายอีสาน ไม่ต่ำกว่า 8-9 จังหวัด ได้แตะมือกับ ส.ส.พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย จัดทีมลงสมัครนายก อบจ.ในนามกลุ่มอิสระ โดยเฉพาะจ.นครราชสีมา ที่พรรคเพื่อไทยยอมถอยให้ พรรคภูมิใจไทย ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งทั้งที่ "โคราช" เป็นจังหวัดใหญ่เกรดเอ

 

หลังจากนี้จับตาทิศทางของ "เพื่อไทย" ให้ดี แม้จะมีสายเหยี่ยว-สายตรง เข้ามาบริหารพรรค แต่ความแตกแยกภายในพรรคยังมีสูง กรณีส.ส.หลายพื้นที่จับมือพรรคร่วมรัฐบาลลุยศึก นายก อบจ. อาจจะทำให้ "บิ๊กเพื่อไทย" ต้องหันมาจัดทัพกันใหม่

 

ไม่เช่นนั้นปรากฎการณ์ "เลือดข้นคนจาง" บอกเคารพรักนายใหญ่-นายหญิง แต่ขอแยกทางเดินทางการเมือง มีให้เห็นอีกแน่นอน