ถอดรหัส 'ใบยา ไฟโตฟาร์ม' สตาร์ทอัพจากรั้วจุฬาฯ จุดสปาร์กวงการ BioTech ไทย

ถอดรหัส 'ใบยา ไฟโตฟาร์ม' สตาร์ทอัพจากรั้วจุฬาฯ จุดสปาร์กวงการ BioTech ไทย

"ใบยา ไฟโตฟาร์ม" สตาร์ทอัพจากรั้วจุฬาฯ ผู้พัฒนาและคิดค้นวัคซีนโควิด-19 จุดสปาร์กวงการ "BioTech" ไทย

หลังจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง "Start-up" (สตาร์ทอัพ) เริ่มฉาย กระแสตอบรับก็เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามในไทย อีกมุมหนึ่งทำให้ธุรกิจ "สตาร์ทอัพ" ได้รับความสนใจมากขึ้น วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักสตาร์ทอัพคนไทย ผู้คิดค้น "วัคซีนโควิด-19" จากใบพืช ภายใต้ชื่อ "บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด"

หากนึกถึงวงการสตาร์ทอัพในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะเห็นสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว บริการเดลิเวอรี่ หรือด้านการเงิน (Fintech) ขณะที่ในวงการด้าน การแพทย์และสุขภาพ นั้น ส่วนใหญ่จะมีการนำเทคโนโยลี AI เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ หรือเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน แต่หากเจาะลึกไปที่ BioTech หรือ Deep Tech นั้นอาจจะยังไม่ค่อยพบเห็นมากนัก 

160933930252

  • 2 Co-founder ปลุกปั้นสตาร์ทอัพ BioTech 

"บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด" หนึ่งในสตาร์ทอัพ BioTech ของไทย ที่เกิดขึ้นจากอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 Co-founder คือ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO และ .ดร.วรัญญู พูลเจริญ CTO ของบริษัท ที่ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทมาแล้ว 2 ปีกว่า จากการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทำสัญญามอบหุ้น 10% ให้กับจุฬาฯ 

"ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา" CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เล่าให้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ฟังถึงจุดเริ่มต้นจากนักวิจัยและอาจารย์ สู่การสวมหมวกใบที่สองในฐานะสตาร์ทอัพ หรือนักธุรกิจหน้าใหม่ ว่า ส่วนตัวเป็น นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทำเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการเข้าถึงยาของประชาชน ซึ่งสะท้อนภาพว่า คนไทยเข้าถึงยาไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหายาราคาแพง จึงคิดว่าน่าจะมีแพลตฟอร์มที่สามารถผลิตยาและวัคซีนได้เองภายในประเทศ 

ขณะที่ .ดร.วรัญญู พูลเจริญ เป็นเจ้าของเทคโนโลยี จึงเริ่มทดลองทำแพลตฟอร์มขึ้น ภายใต้ Business Model การเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถผลิตยาและวัคซีนได้หลากหลายด้วยโปรตีนจากพืชโดยไม่ได้ขายโปรดักต์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นไบโอเทคสตาร์ทอัพที่โฟกัส "ฟาร์มาอินดัสทรี" (Pharma Industry) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบริษัทด้วย โดยมีมอตโตของบริษัทคือ Grow the plant of life ปลูกต้นไม้แห่งชีวิต ทำให้คนสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น

เส้นทางธุรกิจที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบผศ.ภญ.ดร.สุธีรา" บอกว่า ช่วงเริ่มแรกเคยนำเทคโนโลยีไปขายหลายที่ แต่เหมือนเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ยังไม่มีใครสนใจ จึงทดลองทำกันเองเรื่อยๆ ด้วยทุนส่วนตัว  

160933934566

  • จากสารผลิตเครื่องสำอาง สู่วัคซีนโควิด-19

โปรดักต์แรกที่เริ่มทำ เป็นการผลิตสารที่ใช้ในเครื่องสำอาง มองว่าหากสามารถขายได้มากพอ ก็จะนำเงินในส่วนนั้นมาทำวิจัย พัฒนายาและวัคซีนอื่นๆ ต่อไป ที่ผ่านมาก็มีการซื้อขายเพื่อไปเป็น Raw Material ที่ใช้ในเครื่องสำอาง ในลักษณะ B2B บ้างแล้ว หลังจากทำมาได้ประมาณ 12-18 เดือน โรคโควิด-19 ก็เริ่มแพร่ระบาด จึงนำแพลตฟอร์มที่ได้ มาทำ ชุดตรวจโควิด-19 ซึ่งในต่างประเทศ แพลตฟอร์มลักษณะนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่นำไปตอบโต้กับโรคระบาดเช่นกัน 

เมื่อทำชุดโควิด-19 ขึ้นมา ก็เริ่มมีคนเห็นประโยชน์ บริจาคเงินให้ทำชุดตรวจส่งโรงพยาบาลต่างๆ ที่ผ่านมาส่งไปมากกว่า 30,000 ชุดทั่วประเทศ และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็เริ่มทำวัคซีนโควิด-19” และได้วัคซีนโควิดประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เห็นว่าบริษัทได้ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ ก็ร่วมบริจาคเงิน จึงนำเงินเหล่านี้มาทดสอบอย่างต่อเนื่องทั้งปี 2563 

ขณะนี้ได้ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ในหนูและลิงเรียบร้อยแล้ว และกำลังทำการทดสอบความเป็นพิษในหนูใหญ่ (RAT) อีกรอบหนึ่งก่อนที่จะเข้าทำการทดสอบในคนต่อไป 

160933937373

เมื่อถามถึงในฐานะสตาร์ทอัพ เมื่อคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว มองหา นักลงทุน (VC) บ้างไหม?“ผศ.ภญ.ดร.สุธีราบอกว่าตอนแรกพยายามหานักลงทุน แต่เป้าหมายของเราคือ อยากให้มีวัคซีนถึงมือประชาชนเร็วที่สุด การระดมทุนหรือการขายหุ้น ด้วยโพรเซสของการทำแบบนั้น อย่างที่รู้สตาร์ทัพต้องมีรันเวย์สัก 18 เดือน ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องบวกเวลาอีกราว 6 เดือนในการที่จะหาทุน ซึ่งจะทำให้กระบวนการในการทำวัคซีนช้าลง

นอกจากนี้ CEO มองว่า ไม่อยากให้วัคซีนนี้อยู่ในมือของกลุ่มทุนไหน ถ้ากลุ่มทุนเข้ามาลงทุน หมายความว่าจะมีสิทธิดิสทริบิวท์วัคซีนไปในทางที่ต้องการได้ วันนี้ภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนในแง่ของการประสานงาน ช่วยแมทชิ่ง อย่างเช่น การสร้าง ทีมไทยแลนด์ และหาพาร์ทเนอร์ บริษัท จินเคน ไบโอเทค จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำโปรตีนบริสุทธิ์ รวมถึง องค์การเภสัชกรรม ในการส่งวัคซีนที่ได้ไปบรรจุ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโจทย์ที่ต้องการทำวัคซีนโควิด-19 ให้เร็ว บริษัท ใบยาฯ จึงไม่สามารถทำทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง 

โดยจุฬาฯ ได้ตั้ง มูลนิธิ ซียู เอ็นเตอร์ไพรส์ ขึ้นมา เพื่อระดมทุนด้วยการเปิดรับบริจาค 500 บาท จำนวน 1 ล้านคน ซึ่งเงินจำนวน 500 ล้านบาทนั้น 150 ล้านบาท จะนำไปปรับปรุงสถานที่ตึกหนึ่งในจุฬาฯ ที่จะเป็นไพลอทสำหรับบริษัท ให้เป็น GMP facility ที่ได้มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด

เบื้องต้น ตั้งเป้าว่า เมื่อทำเสร็จจะสามารถทำวัคซีนได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสต่อเดือน และสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน

160933940134

ด้วยสถานที่ใหม่นี้ จะสามารถผลิตยาอื่นๆ ที่บริษัทพัฒนาได้ด้วย นอกจากวัคซีนโควิด-19 เช่น ยามะเร็ง ที่เป็นยาราคาแพง ซึ่งขณะนี้ได้โปรโตไทป์ (Prototype) แล้ว และจะนำไปเทสต์ในสัตว์ทดลองต่อไป ยารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ยารักษาอีโบล่า ฯลฯ โดยเป็นเหมือนโรงงานต้นแบบที่ทำให้สามารถผลิตยาออกมาใช้ได้ ถ้าหากเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น 

ส่วนอีก 300-400 ล้านบาท นำไปการทำทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ เฟส 1, 2 และ 3 คาดว่าจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน 2564 หากสำเร็จจะใช้เวลา 2-3 เดือน และจะดำเนินการในเฟส 3 ต่อไป คาดว่าวัคซีนโควิด-19 น่าจะมีให้คนไทยได้ใช้ในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565 

เราคิดว่าถึงเวลานั้นอาจจะมีวัคซีนโควิด-19 อื่นๆ เราคงเป็นทางเลือกหนึ่งในการที่ทำให้การเข้าถึงวัคซีนครอบคลุมมากขึ้นสำหรับประเทศไทย คงไม่ใช่ว่าคนไทยทุกคนต้องมาใช้ของใบยา และไม่ขอให้รอเรา

นอกจากนี้ผศ.ภญ.ดร.สุธีรายังเล่าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐว่าการทำสตาร์ทอัพต้องมี 4 M ซึ่ง Money ก็เป็นส่วนหนึ่ง การที่ทำให้สำเร็จ บางอย่างไม่ได้ใช้แค่เงินอย่างเดียว อย่าง 500 ล้านบาท จริงๆ ไม่ได้เพียงพอ การที่เค้าเติมมาก็ทำให้มันเร็วขึ้น วันนี้เราแข่งกับมัลติเนชั่นแนลฟาร์มาไม่รู้กี่พันล้าน เราใช้เงิน 500 ล้านบาท เราก็อยากจะทำให้ทุกอย่างให้มันเร็ว รัฐบาลก็บอกว่าจะช่วยส่วนหนึ่ง เช่น การเทสต์เฟส 3 เทสต์ในไทยไม่ได้ รัฐก็จะพาไปเทสต์ที่อื่น

  • การแข่งขันของไบโอเทคสตาร์ทอัพ ที่ไม่มีการแข่งขัน

ปิดท้ายด้วยคำถาม ภาพของการแข่งขันของสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคในไทย ยากแค่ไหน? ที่ทำให้ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ยิ้มออกมา และตอบอย่างรวดเร็วว่า การแข่งขันไม่มี เพราะว่าไม่มีคนทำ ซึ่งเป็นความเศร้าของประเทศ ที่ไม่มีบริษัทไบโอเทคสตาร์ทอัพ ขณะที่อินโดนีเซียมียูนิคอร์น มาเลเซียมีสตาร์ทอัพ แต่ประเทศไทยไม่มี 

ทุกประเทศเค้ามีโรงงานยาและวัคซีนเป็นของตัวเอง เราอยากให้มีการแข่งขันเยอะๆ เพราะการแข่งขันทำให้เห็นว่าอีโคซิสเต็มนี้ (ecosystems) เกิดขึ้นแล้ว  การแข่งขันน้อยมาก จนแทบอยากให้ทุกคนมาเล่นในตลาดนี้ด้วยซ้ำ เพราะวันนี้ไม่ใช่การจ้างการผลิตอีกต่อไป แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีของประเทศเราเอง ถ้าเค้ามีหมดแล้ว เหลือประเทศไทย เราจะเอาอะไรไปสู้

แม้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของไบโอเทคสตาร์ทอัพในไทย แต่บริษัท ใบยาฯ เป็นหนึ่งในคนที่จุดสปาร์ก เพราะวันนี้มีเด็กเรียนเภสัชศาสตร์มากขึ้น เพราะเห็นว่า การเรียนเภสัชฯ ก็ Make an impact สามารถช่วยชีวิตคนไทยได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพอนาคตนั้น CEO บอกว่าเราเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนา อยากหาโปรดักต์ใหม่ๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะโปรดักต์ยาหรือวัคซีนที่บริษัทยาข้ามชาติไม่สนใจ มีโรคบางโรคที่เกิดขึ้นในแถบนี้ แต่ต่างชาติไม่เคยคิดว่า อยากมาทำเพราะว่าตลาดดมันเล็ก ก็มองตลาดนี้ไว้ เพราะว่าเราอยากจะเป็นความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศแถบนี้ ไม่ใช่แค่ไทย แต่รวมถึงเซาท์อีสท์เอเชีย

นับเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทยที่น่าจับตาไม่น้อย ทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ภูมิภาคเอเชีย