สรุป! แถลงข่าว 'โควิด-19' เคสตลาดกลางกุ้ง 'สมุทรสาคร' วันนี้

สรุป! แถลงข่าว 'โควิด-19' เคสตลาดกลางกุ้ง 'สมุทรสาคร' วันนี้

อัพเดท "โควิด-19" เคสตลาดกลางกุ้ง "สมุทรสาคร" จากเวทีแถลงข่าวความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมาตรการป้องกันเฝ้าระวัง ณ ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข

วันนี้ (20 ธ.ค.) เมื่อเวลา 15.00-16.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวความคืบหน้าผู้ติดเชื้อ โควิด-19 และมาตรการป้องกันเฝ้าระวังควบคุมโรค กรณีการแพร่ระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ครั้งนี้ เป็นครั้งที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดในไทย คือ 576 ราย จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชนในรายละเอียดตัวเลข แผนงาน มาตรการในการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

ทีมแพทย์ได้รับแจ้งเคสสมุทรสาคร มาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พบการติดเชื้อในหญิงสูงอายุคนไทย อาศัยอยู่ในไทย ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ ดังนั้นผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่ได้เป็นต้นเชื้อรายแรก แปลว่ามีต้นเชื้อมาจากที่อื่น จึงค้นหาและสอบสวนโรคว่าต้นเชื้อมาจากไหน พบว่าผู้ติดเชื้อรายนี้มีความเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยที่ตลาดค้ากุ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เมื่อทราบต้นเชื้อ ทีมแพทย์จึงเข้าไปทำการสำรวจพื้นที่นั้นเพิ่มเติม ก็พบว่าที่ "ตลาดกลางกุ้ง มหาชัย" จ.สมุทรสาคร มีแรงงานเมียนมาอยู่อาศัยจำนวนมาก และตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามไปด้วย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อเมียนมา 90% เป็นชาวไทย 10% ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการป่วย จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ง่าย โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาพักอาศัยในพื้นที่แออัด อยู่ใกล้ชิดกัน

การรายงานผลการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในวันนี้ เป็นเพียงการรายงานระยะแรกเท่านั้น ซึ่งจะมีการรายงานในระยะต่อๆ ไปด้วย ล่าสุด.. ได้ออกมาตรการล็อคดาวน์พื้นที่ "ตลาดกลางกุ้ง มหาชัย" จ.สมุทรสาคร แล้ว เพื่อไม่ให้มีการกระจายเชื้อออกไปอีก

160846155026

ก่อนหน้านี้พบว่ามีคนที่มาซื้อกุ้งที่นี่ ได้นำเชื้อแพร่กระจายออกไปสู่จังหวัดต่างๆ แต่ไม่มากนัก ทางจังหวัดที่พบผู้เชื้อเพิ่มเติมและทางกระทรวงสาธารณสุข เราได้ร่วมกันค้นหาและสืบสวนโรค จนพบตัวผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับเคสนี้แล้วว่ามีใครบ้าง ตอนนี้ก็นำเข้ากระบวนการรักษาและกักตัวแล้ว ส่วนใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รู้ตัวว่าไปในพื้นที่เสี่ยงนั้นๆ กม็ขอให้มารายงานตัวเข้าระบบต่อไป

160845789390

"ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน เตียงผู้ป่วย เวชภัณฑ์และยาต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว เรามีเตียง 10,000 กว่าเตียง ในการตรวจโรคโควิดและรักษาโรคในเคสนี้ มีการนใช้เตียงไปสองสามร้อยเตียงเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องยาก็มีความพร้อม ขณะนี้เรามียา 500,000 กว่าเม็ด รักษาได้กว่า 8,000 กว่าราย, หน้ากากอานามัยทางการแพทย์มี 46 ล้านชิ้น (มีการผลิตเพิ่มได้ 4 ล้านชิ้นต่อวัน), หน้ากาก N95 มี 3 ล้านชิ้น, ชุด PPE มี 2 ล้านชุด ซึ่งถือว่ามีความพอเพียง และเราจะเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป และส่วนไหนใช้พร่องไปก้จะจัดหามาเติมใหม่ให้เพียงพออยู่เสมอ"

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยในวันที่ 17 ธันวาคม ทางกรมควบคุมโรคได้ลงไปสอบสวนโรค ก็พบว่ามีผู้ป่วยขยายวงอยู่ใน จ.สมุทรสาคร รวมถึงมีรายงานจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น นครปฐม 2 ราย, สุพรรณบุรี(ยังไม่ทราบจำนวน), ราชบุรี(ยังไม่ทราบจำนวน), กรุงเทพฯ 2 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย และจังหวัดอื่นๆ

ทั้งหมดนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับ “ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร” ทั้งหมด ในภาพรวมเราพบผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและจากการติดตามตัวทั้งหมด 32 ราย หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการค้นหาและตรวจโรคเชิงรุกในชุมชนรอบๆ ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานเมียนมา เบื้องต้นเราตรวจคัดกรองไปแล้ว 1,443 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 657 ราย คิดเป็นอัตรามากกว่า 40% ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสมจากเคสนี้รวม 689 ราย

160845789423

ต่อจากนี้ไปตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเราตรวจค้นหาเชิงรุก ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นไปตามมาตรการที่เราดำเนินการกับเคสนี้โดยเฉพาะ เพราะยิ่งเราค้นหาได้เร็ว สถานการณ์การแพร่กระจายก็จะไม่ขยายวง และสามารถควบคุมได้อย่างเร็วเช่นกัน

จากการลงพื้นที่พบว่าการระบาดจะอยู่ในวงแคบๆ ยังไม่ได้กระจายไปมาก ก็จะมีพื้นที่บริเวณตลาดกุ้งและบริเวณหอพักของแรงงานเมียนมา ซึ่งวันนี้ก็ยังมีการตรวจเชิงรุกเพิ่มเติมไปอีกเรื่อยๆ ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ยังควบคุมได้ ซึ่งในขณะนี้พื้นที่เสี่ยงดังกล่าวก็ถูกปิดกั้นไม่ให้ใครเข้าออกแล้ว

มีการสำรวจขอบเขตโรคพบว่าเขตที่มีความเสี่ยงสูงคือ ตำบลมหาชัย เท่านั้น พื้นที่เสี่ยงรองลงมาคือตำบลท่าจีน นอกนั้นในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่รอบๆ เพิ่มเติม เพื่อดูสถานการณ์และควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง และจะมีการรายงานให้ประชาชนทราบในครั้งต่อไป

160845789298

นอกจากนี้ พี่น้องสื่อมวลชนที่ลงไปทำข่าวที่ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อประมินความเสี่ยง เพื่อประเมินว่าเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง หรือเสี่ยงต่ำ เช่น ถูกไอจามรดหรือไม่ มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาทีหรือไม่ ขณะทำข่าวมีอุปกรณ์ป้องกันหรือไม่

"หากลงพื้นที่โดยไม่มีหน้ากากอนามัย และมีการพูดคุยกับกลุ่มเสี่ยงนานเกิน 5 นาที และ/หรือ ได้รับละองไอจามจากกลุ่มเสี่ยง อันนี้จะถูกประเมินว่า "เสี่ยงสูง" ต้องกักตัวและเข้าตรวจหาเชื้อ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วไม่เสี่ยงสูงก็ไม่ต้องกักตัว คนที่ลงไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าต้องกักตัวอัตโนมัติ แต่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมิน

ส่วนอีกคำถามที่ว่าอาหารทะเลยังรับประทานได้มั้ย? จะติดเชื้อโควิดจากกุ้งหรือไม่ ตรงนี้ขอเรียนว่า ในหลายประเทศตรวจสอบพบการปนเปื้อนเชื้อโควิดในอาหารทะเลบางส่วน คือพบสารพันธุกรรมของเชื้อในอาหารอาหาร แปลว่ามีการปนเปื้อนแต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะทำให้คนที่รับประทานมีการติดเชื้อและถ่ายทอดเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตามในทางสุขอนามัยที่ดี ต้องปรุงอาหารทะเลให้สุก ร้อน สะอาด ถึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพ

ส่วน นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งรวมถึงสมุทรสาครด้วย กล่าวว่า ตอนนี้ทั้ง 8 จังหวัด ได้รวมพลังกันรับมือกับการแพร่ระบาดโควิดในเคสนี้ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับเขต เพื่อช่วยกันประสานงานและตรวจสอบและควบคุมโรค

"เราจะเข้าไปค้นหาสืบสวนโรคให้หมดทั้ง 7 จุด ก็จะทำให้เสร็จในสามสี่วันนี้ ทั้งหมด 10,000 ราย ชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดเรามีการปิดกั้น ควบคุมเพื่อไม่ให้มีการกระจายไปยังชุมชนอื่น ซึ่งพื้นที่ที่ได้เริ่มทำไปแล้วก็คือตลาดกลางกุ้ง"

จากผลการตรวจคัดกรองเชิงรุกพบว่ามีผู้ติดเชื้อ 500-600 ราย ทางศูนย์ฯ ก็ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเตียงผู้ป่วย ซึ่งมีจำนวนเพียงพอ มีการเตรียมความพร้อมสถานที่กักตัวแล้ว ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันโรค และยา ก็เตรียมพร้อมแล้วเช่นกัน โดยมีจำนวนมากสามารถใช้ได้นานประมาณ 3-4 เดือน หลังจากนี้ก็จะเตรียมยาและอุปกรณ์เข้ามาเพิ่มเติมอีก ไม่มีขาดแคลนแน่นอน

160845810323

ส่วนตลาดกลางกุ้ง ทีมงานสาธารณสุขจังหวัดได้เข้าไปดูแลอย่างดี ทั้งด้านสาธารณสุข การบริการตรวจคัดกรอง การสืบสวนโรค และอาหารการกิน หากพบมีการติดเชื้อและอาการป่วยรุนแรงก็จะนำออกมารักษาที่โรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ ตอนนี้เน้นขอความร่วมมือ และยกระดับการดูแลตนเองของผู้คนในพื้นที่นี้ กวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

ยืนยันว่า การติดเชื้อถูกควบคุมไว้ในบริเวณจังหวัดแล้ว ซึ่งก็น่าจะควบคุมได้ดีขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ ส่วนของผู้ป่วยก็ไม่ต้องกังวล มีเตียงที่เพียงพอ มีการบริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึง