เลือก 'หน้ากากอนามัย' ป้องกันทั้ง 'โควิด-19' และ 'PM2.5' แบบไหนดี

เลือก 'หน้ากากอนามัย' ป้องกันทั้ง 'โควิด-19' และ 'PM2.5' แบบไหนดี

เลือกใช้ "หน้ากากอนามัย" แบบไหนดี? เมื่อโรคระบาด "โควิด-19" ยังไม่ซาไป แถม "PM 2.5" ก็กำลังตามมาติดๆ ชวนรู้วิธีเลือกหน้ากากที่ป้องกันได้ทั้งฝุ่นพิษและเชื้อไวรัสตัวร้าย จากคำแนะนำของนักวิชาการ

เมื่อฝุ่นพิษ "PM 2.5" กลับมาเยือนชาวกรุงอีกครั้ง ทำให้หลายคนกังวลกับการดูแล 'สุขภาพ' มากขึ้นไปอีก เพราะปีนี้คนไทยต้องต่อสู้กับโรคระบาด 'โควิด-19' ที่ยังไม่ซาไป แล้วก็มี PM 2.5 ตามมาติดๆ อีก แบบนี้ควรดูแลตัวเองเพิ่มเติมอย่างไรดี โดยเฉพาะการเลือกซื้อ "หน้ากากอนามัย" ควรเลือกซื้อชนิดไหน? เพื่อให้สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสและฝุ่นพิษไปพร้อมกัน

ก่อนอื่น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอพาย้อนไปดูประเภทของหน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ กันอีกครั้ง มาเช็คดูสิว่าตอนนี้ในท้องตลาดมีหน้ากากอนามัยประเภทไหนบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

มีข้อมูลจาก สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) สำรวจประเภทและประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันสุขภาพแบบต่างๆ เอาไว้ดังนี้

160439977723

1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ : สามารถป้องกันเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารคัดหลั่งจากผู้อื่น

ผลิตจากพลาสติกพอลิโพรพิลีนที่มีความปลอดภัย ป้องกันเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ถึง 99% ป้องกันฝุ่นละออง และเกสรดอกไม้ ขนาดเล็ก 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% (ป้องกัน PM 2.5 ไม่ได้)

2. หน้ากากคาร์บอน : สามารถป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารคัดหลั่งจากผู้อื่น กรองกลิ่น

มีคุณสมบัติไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่จะมีความพิเศษขึ้นมาคือมีชั้น Carbon ที่สามารถกรองกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีกว่า มีเส้นใยสังเคราะห์หนา 4 ชั้น ช่วยกรองแบคทีเรียได้ถึง 95% กรองฝุ่นละอองขนาด 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% (ป้องกัน PM 2.5 ไม่ได้)

3. หน้ากาก N95 : สามารถป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารคัดหลั่ง กรองกลิ่น กันฝุ่น PM 2.5 ได้

ผลิตจากพอลิโพรพิลีน ป้องกันการเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ มีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป ลักษณะของ N95 จะครอบลงไปที่ปากและจมูกอย่างมิดชิด จึงทําให้เชื้อไวรัสไม่สามารถลอดผ่านได้ อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และ PM 10 ได้ไม่น้อยกว่า 95% (ป้องกัน PM 2.5 ในระดับดีมาก)

4. หน้ากาก FFP1-FFP2 : สามารถป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารคัดหลั่ง กรองกลิ่น กันฝุ่น PM2.5 ได้

มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 สามารถป้องกันได้ทั้งฝุ่น PM2.5 และเชื้อไวรัสได้อย่างดี สามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ได้ไม่น้อยกว่า 94% นอกจากนั้นยังสามารถป้องกัน สารเคมีฟูมโลหะ ได้อีกด้วย (ป้องกัน PM 2.5 ได้ดี)

160439984386

5. หน้ากากผ้า : สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ละอองน้ำมูก/น้ำลายขนาดใหญ่

หน้ากากผ้า มี 2 แบบ แบบแรกผลิตจากผ้าฝ้าย แบบที่สองผลิตจากใยสังเคราะห์ซ้อนกัน ทั้งสองแบบใช้สําหรับป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันน้ำมูกหรือน้ําลายจากการ ไอ/จามได้ กรองฝุ่นละอองอนุภาคใหญ่ได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ (ป้องกัน PM 2.5 และไวรัสไม่ได้)

6. หน้ากากฟองน้ํา : สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้

ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอน ใช้สําหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ สามารถซักทําความสะอาดได้แห้งเร็ว มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดคือ ป้องกันได้แค่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก และเกสรดอกไม้ได้เท่านั้น (ป้องกัน PM 2.5 และไวรัสไม่ได้)

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้สรุปได้ว่า "หน้ากากอนามัย" ที่สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และฝุ่นพิษ PM2.5 ไปพร้อมกัน ก็คือ หน้ากาก N95 และ หน้ากาก FFP1-FFP2 แต่ก็มีข้อเสียนิดหน่อยตรงที่ว่าหน้ากากทั้งสองชนิดนี้ มีราคาสูง ถ้าต้องซื้อมาใช้ครั้งแดียวแล้วทิ้งทุกวัน บางคนอาจรู้สึกว่าแพงเกินกว่าที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน 

เรื่องนี้มีวิธีแก้ไขได้ง่ายๆ จากคำแนะนำของ 2 นักวิชาการ นั่นคือ ดัดแปลงโดยใช้หน้ากากปกติแต่สวมใส่เพิ่มเป็น 2 ชั้น และ/หรือ ใช้สเปรย์ที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำฉีดพรมบน "หน้ากากผ้า" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้หน้ากากผ้าธรรมดากลายเป็นหน้ากากที่ป้องกันได้ทั้งฝุ่นและไวรัสควบคู่กันแบบ 2in1

เริ่มจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” โดยให้คำแนะนำในการสวมใส่หน้ากากอนามัย ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเจอทั้ง ไวรัสโควิด-19 และฝุ่นพิษ PM2.5 ไว้หลายข้อดังนี้

1. หน้ากากที่ป้องกันทั้งฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสโควิดได้ผลดีที่สุด คือ หน้ากากแบบ N95 ที่มีความละเอียดสูงมาก และรูปทรงครอบหน้ากระชับแน่นมาก แต่มีราคาแพง และทำให้หายใจลำบากมาก เหมาะกับคนที่ต้องทำงานกับคนไข้ที่อาจติดเชื้อ และคนที่ต้องอยู่กับฝุ่นที่มีปริมาณสูง เท่านั้น

160439679578

2. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่เป็นผ้าพลาสติกสังเคราะห์หลายชั้น และป้องกันละอองน้ำลายของคนที่ไอ/จามออกไป ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะหายใจได้สะดวก ราคาประหยัด ใช้แล้วทิ้งได้ และมีความละเอียดสูง (รองลงมาจากหน้ากาก N95) แต่ไม่สามารถครอบใบหน้าได้อย่างแน่นหนา ทำให้มีช่องที่เราจะหายใจเอาอากาศและฝุ่น PM 2.5 ที่มากับอากาศ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เข้าไปได้โดยง่าย

3. ส่วนหน้ากากผ้าที่รณณรงค์ให้ใส่กัน มีความละเอียดของเส้นใยผ้าต่ำมาก แม้ว่าจะตัดเย็บเข้ากับใบหน้าได้ดี ก็ยังทำให้หายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปได้โดยง่ายเช่นกัน

4. จากที่เคยมีการทดลองในปีก่อนๆ พบว่า ถ้าใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซ้อนกัน 2 ชั้น ความหนาของการกรอง 2 ชั้นนั้น จะสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ในระดับที่น่าพอใจ (แม้ว่ารูปทรงจะยังไม่ค่อยแนบหน้าก็ตาม)

5. วิธีการที่ผมประยุกต์ใช้โดยส่วนตัว ก็คือ ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านใน แล้วใช้หน้ากากผ้าใยสังเคราะห์ ที่เป็นลักษณะ 3 มิติเข้ากับใบหน้า สวมทับอีกชั้น กดให้หน้ากากแนบกับหน้าไว้ สังเกตว่าเวลาหายใจจะลำบากขึ้นกว่าการใส่หน้ากากอนามัยการแพทย์ธรรมดา เวลาหายใจเข้าจะรู้สึกได้ถึงการดูดของหน้ากากเข้ามาแนบกับใบหน้า ซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว และมีข้อดีคือสามารถถอดหน้ากากด้านในทิ้งได้ โดยที่ยังเก็บหน้ากากด้านนอกเอาไว้หรือซักได้ด้วย

160439679526

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ระบุถึงวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้หน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการกรองฝุ่น PM 2.5 และไวรัสโควิด-19 ได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ Shield+ ที่ทางคณะเภสัชฯ ได้ศึกษาวิจัยขึ้นมา

โดยได้คิดค้นผลิตภัณฑ์สเปรย์หน้ากากผ้ากรองฝุ่น กันไวรัส “Shield+” ใช้ฉีดพ่นบนหน้ากากผ้า เพื่อเปลี่ยนหน้ากากผ้าใช้ซ้ำให้มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5 ต้านเชื้อไวรัส และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ดีขึ้น ช่วยลดขยะที่เกิดจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ใช้หน้ากากแบบผ้าให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

สเปรย์ดังกล่าวสามารถใช้ได้หลายครั้ง ลดการทิ้งหน้ากากอนามัยได้จำนวนหนึ่ง ช่วยเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากราคาแพงได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฝุ่นได้เช่นกัน สเปรย์ตัวแรกที่พัฒนาออกมาคือเปรย์สีใส ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในช่วง PM 2.5 มีปัญหาอย่างหนักก่อนช่วง COVID-19 

160439679529

ขณะนั้นทีมผู้วิจัยเห็นว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม จึงคิดหาวิธีการเสริมหน้ากากผ้าให้กรองฝุ่นได้ดีขึ้น โดยใช้พอลิเมอร์ในเภสัชภัณฑ์มาประยุกต์ใช้ ทำให้ลดช่องว่างระหว่างเส้นใยผ้าให้เล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นได้ดีขึ้น ช่วยผลักฝุ่นและเชื้อโรคออกไปได้ด้วย

ต่อมา ดร.จิตติมา ได้ร่วมกับ ภญ.พุทธิมน ศรีบนฟ้า พัฒนาสเปรย์ขึ้นมา 2 ชนิด ได้แก่ Shield (ไม่กันน้ำ) และ  Shield+ (กันน้ำ) สำหรับการใช้งานสเปรย์ Shield (ไม่กันน้ำ) ให้ฉีดสเปรย์บริเวณด้านหน้าของหน้ากากผ้าให้ทั่วประมาณ 12-15 ครั้ง จากนั้นนำไปตากให้แห้งสนิทก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

ส่วนสเปรย์ Shield+ (กันน้ำ) เป็นวัสดุกึ่งนาโนเทคโนโลยี จึงต้องใช้ความร้อนทำให้วัสดุยึดติดกับผ้าและสามารถกันน้ำได้ โดยการรีดทับอีกครั้งเพื่อช่วยให้อนุภาคออกให้เคลือบได้ทั่วถึง กลายเป็นฟิล์มเคลือบหน้ากาก ควรฉีดแค่ด้านนอกก็พอ และจากการทดสอบด้วยตัวเอง ดร.จิตติมา บอกว่าไม่ได้รู้สึกหายใจลำบากขึ้น และยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เนื่องจากพอลิเมอร์ที่ใช้คือพอลิเมอร์ที่ใช้ในเภสัชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ใช่พอลิเมอร์พลาสติก

160439679558

สเปรย์สูตรดังกล่าวมีการทดสอบหลายอย่างกับหน้ากากผ้ามาตรฐานทั่วไป ทั้งการทดสอบคุณสมบัติการกรองอนุภาคด้วยมาตรฐานสากล ASTM* โดยมีองค์กรรับตรวจสอบและมีใบรับรอง ในด้านคุณสมบัติการกรองฝุ่น 0.3 ไมครอน ก็ใช้ได้ดีขึ้น 83% เมื่อเทียบกับหน้ากากที่ไม่ได้ใช้สเปรย์ และมีการทดสอบต่อในคุณสมบัติการกรองเชื้อ 2 ระดับ ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อในน้ำลาย พบว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ถึง 90%

*หมายเหตุ : ASTM (American Society for Testing and Materials) เป็นสมาคมวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กำหนดและจัดทำมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อผลิตโปรดักส์ในระดับอุตสาหกรรม

----------------------

อ้างอิง :

research.chula.ac.th

facebook.com/OhISeebyAjarnJess

tosh.or.th/index.php