ปัญหาฝุ่น 'PM 2.5' ทุกคนร่วมแก้ไขได้

ปัญหาฝุ่น 'PM 2.5' ทุกคนร่วมแก้ไขได้

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นทุกปี แม้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยจุดใดจุดหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ทั้งส่วนที่ควบคุมไม่ได้และส่วนที่ควบคุมได้ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ยานพาหนะ หรือเผาในที่โล่ง เพื่อลดหรือป้องกันมลพิษตั้งแต่ต้นทาง

ปัญหาของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานจะเกิดทุกปีในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศปิด ลมสงบ และชั้นบรรยากาศผกผัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้พีเอ็ม2.5 ไม่เกิดการกระจายตัว และนำมาสู่ภาวะเกิดการสะสม จนส่งผลกระทบให้มีค่าเกินมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสุขภาพของคนไทย ซึ่งปัญหานี้เริ่มกลับมาอีกครั้งแล้วขณะนี้

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 และเมื่อแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบครบ 1 ปี ได้มีการแสดงความเห็นถึงความคืบหน้าของดำเนินการตามแผนดังกล่าว เพื่อให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหานี้

การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จำเป็นจะต้องมองทั้งในส่วนที่ควบคุมได้และส่วนที่ควบคุมไม่ได้ โดยส่วนที่ควบคุมไม่ได้เป็นเรื่องของแหล่งกำเนิดที่มีปัจจัยของสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือการป้องกันตั้งแต่แหล่งกำเนิด ซึ่งพบว่ามีต้นทางมาจากหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร เช่น ไร่อ้อย นาข้าว รวมถึงการก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน

สำหรับการเผาในที่โล่งในไร่นาได้มีการขอความร่วมมือและมีมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความร่วมมือกับเกษตรให้ร่วมมือแก้ปัญหา ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าสาเหตุสำคัญที่เกษตรกรต้องเผา เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการกำจัดวัชพืชวิธีอื่น ทำให้การแก้ปัญหาต้องมีการมาตรการจูงใจ เช่น การสนับสนุนการไถกลบด้วยต้นทุนที่ถูกลง เช่น สินเชื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการมีการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ให้ความร่วมมือไม่เผ่าไร่นา โดยที่ผ่านมาเริ่มเห็นโรงงานน้ำตาลที่ให้ความสำคัญกับการรับซื้ออ้อยที่ไม่ผ่านการเผาก่อนตัด

ในขณะที่การแก้ปัญหายานพาหนะที่ปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มีการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแนวโน้มของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะไปสู่อีวี แต่ต้องยอมรับว่าอีวีไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็วเพราะต้องมีปัจจัยส่งเสริมอีกมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยจุดใดจุดหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน