เศรษฐีหุ้นไฟฟ้าไทย ! ติดโผ 'มั่งคั่ง' มากสุด

เศรษฐีหุ้นไฟฟ้าไทย ! ติดโผ 'มั่งคั่ง' มากสุด

เปิดพอร์ตหุ้น 10 นักธุรกิจ ! ปี 2563 พบ '3 อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า' GULF-BGRIM-EA สร้างความมั่งคั่งธุรกิจ ดัน 'มหาเศรษฐีหุ้นไทย' ติดโผมากสุด แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุมเร้าเศรษฐกิจทั่วโลก กระทบบัลลังก์ธุรกิจสะเทือน ส่งผลความมั่งคงเงินในกระเป๋าหดหาย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มต้นปี 2563 การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) สร้างความปั่นป่วนทั่วโลก ! ตลาดหุ้นทั่วโลกส่ออาการน่าเป็นห่วง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยดัชนี SET INDEX 'ทุบสถิติต่ำสุด' (New Low) อยู่ที่ 969.08 จุด (เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563) หากย้อนดูดัชนี SET INDEX ตั้งแต่ต้นปี 2563 ดัชนี 'สูงสุด' (New High) อยู่ที่ 1,600.48 จุด (เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2563)

แน่นอนเมื่อ 'ผลตอบแทน' (Return) นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ 'ติดลบ' ทุกตลาด โดยตลาดหุ้นไทย 'ติดลบ 8.23%' (4 ธ.ค.) ถือว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทน 'โดดเด่น' เฉกเช่นในอดีต ดังนั้น หนึ่งในความโดดเด่นที่มาในรูปของ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap ของ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) คงต้อง 'หดหาย' ไปตามกลไกลของตลาดหุ้นเช่นกัน

สอดคล้องกับการสำรวจของวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับ '10 เศรษฐีหุ้นไทย' ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2563 ประกอบการด้วย อันดับ 1 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF แชมป์เศรษฐีหุ้น 2 สมัย

อันดับ 2 'นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ' เจ้าของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS และ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อันดับ 3 'นิติ โอสถานุเคราะห์' นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักร บมจ.โอสถสภา หรือ OSP อันดับ 4 'วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ' ประธานกรรมการกลุ่ม บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA อันดับ 5 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' เจ้าของอาณาจักร 'แสนล้าน'

อันดับ 6 และ อันดับ 7 สองสามีภรรยา 'ดาวนภา เพ็ชรอำไพ' และ 'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' เจ้าของ บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล หรือ MTC อันดับ 8 'สมโภชน์ อาหุนัย' เจ้าของ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA อันดับ 9 'คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี' เจ้าของอาณาจักรแสนล้าน และอันดับ 10 'ฮาราลด์ ลิงค์' ประธานกลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM

จากการสำรวจของ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' พบว่า อุตสาหกรรมที่มี 10 มหาเศรษฐีหุ้นติดโผ 'ความร่ำรวย' (Richness) ต้องยกให้ 'ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า' สะท้อนผ่าน '3 มหาเศรษฐีพลังงาน' ที่ติดโผมหาเศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 นั่นคือ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

'สมโภชน์ อาหุนัย' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ประกอบธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 'ฮาราลด์ ลิงค์' ประธานกลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งธุรกิจพลังงาน , โรงไฟฟ้า , อุปกรณ์การแพทย์ , เครื่องปรับอากาศ , คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์

160769473187

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบีเคย์เฮียน มีมุมมองว่า 'ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า' ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ 'ปลอดภัย' (Safe Heaven) ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบหนักถึงทำให้บริษัทขาดทุน และถือว่าเป็นหุ้น Defensive Stock คือ หุ้นเชิงรับ ที่ทนทานต่อสภาวะตลาดในทุกสภาพ ไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ แม้การระบาดของโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากเหมือนธุรกิจอื่นๆ

ทว่า หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้ามี key catalysts ใหม่รออยู่คือ พัฒนาการโครงการในต่างประเทศ จากช่วงที่ผ่านมาเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหลายราย โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีการจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาในระบบหลายเมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรงไฟฟ้าจะเริ่มมีปัจจัยหนุนเข้ามาในช่วง 6–12 เดือนข้างหน้า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาต้นทุนที่ลดลง และการซื้อกิจการเพิ่มเติม โดยเฉพาะกำลังการผลิตใหม่ที่บริษัทเข้าไปลงทุนจะเริ่มเก็บเกี่ยวดอกผลแล้ว

สำหรับแชมป์มหาเศรษฐีหุ้นปี 2563 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ผู้ถือหุ้นใหญ่ GULF สัดส่วน 35.44% ครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ถือหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 115,290 ล้านบาท 'รวยลดลง !' 5,670 ล้านบาท คิดเป็น 4.69% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563) ส่งผลให้ 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) ลดลง หลังหุ้น GULF รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ 'กำไรจากส่วนต่างของราคา' (Capital Gain) ที่ขยับร่วงลงเช่นกัน 

สะท้อนผ่านราคาหุ้น GULF นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาหุ้นปรับตัว 'สูงสุด' (New High) 40.14 บาทต่อหุ้น (วันที่ 23 ม.ค.2563) ปรับตัว 'ต่ำสุด' (New Low) 24.52 บาทต่อหุ้น (16 มี.ค.2563)

160769402426

สารัชถ์ รัตนาวะดี

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 'หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ' เจ้าของอาณาจักร บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS และ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งถือครองหุ้นมูลค่ารวม 50,079.31 ล้านบาท

โดย 'หมอเสริฐ' ถือครองหุ้นทั้ง หุ้น BA , หุ้น BDMS และ บมจ. โรงพยาบาลนนทเวช หรือ NTV และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ซึ่งธุรกิจทั้งหมดปี 2563 ล้วนแต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่ต้องหยุดชะงักไปจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลก็ราคาทรุดลงจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่หดหายไป ส่งผลให้ปีนี้พอร์ตหุ้นหมอเสริฐ 'รวยลดลง' 16,031.33 ล้านบาท หรือ 24.25% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 'นิติ โอสถานุเคราะห์' นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,181.64 ล้านบาท ลดลง 431.68 ล้านบาท หรือ 0.89% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563) สำหรับพอร์ตการลงทุนของนิติในปีนี้ ประกอบด้วยหุ้นทั้งหมด 12 บริษัท โดยลงทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วใน 10 บริษัท และมีหุ้นใหม่ในพอร์ตอีก 2 บริษัทที่ลงทุนเพิ่ม

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 'วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ' ประธานกรรมการกลุ่มบริษัททีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ขยับมาอยู่ที่ 4 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้น บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK และ บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA รวมมูลค่า 41,213.15 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 157.85 ล้านบาท หรือ 0.38% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' หลังจากก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 23 เมื่อปี 2562 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 38,178.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น27,848.13 ล้านบาท หรือ 269.57% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563) จากการนำ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ซึ่งเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ 'ทีซีซี กรุ๊ป' ทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม/การบริการ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือน ต.ค.2562

นอกจากนี้ ยังถือหุ้น บมจ. เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ SEG ซึ่งเป็น Holding Company ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ลงทุนในธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย และลิสซิ่งอีกด้วย

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 'ดาวนภา เพ็ชรอำไพ' และ 'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' 2 สามีภรรยาเจ้าของอาณาจักร บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล หรือ MTC โดย 'ดาวนภา' ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 จากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่า 35,460 ล้านบาท ลดลง 5,580 ล้านบาท หรือ 13.60% ส่วน 'ชูชาติ' ขึ้นจากอันดับ 8 มาอยู่อันดับ 7 โดยถือครองหุ้น MTC รวมมูลค่า 35,277.91 ล้านบาท ลดลง 5,563.30 ล้านบาท หรือ 13.62% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 'สมโภชน์ อาหุนัย' เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หล่นจากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 34,412.43 ล้านบาท ลดลง 7,671.82 ล้านบาท หรือ 18.23%

160769436585

สมโภชน์ อาหุนัย

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 'คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี' ขยับขึ้นเช่นเดียวกับเจ้าสัวเจริญ โดยขึ้น จากอันดับ 23 เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 28,728.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 18,398.13 ล้านบาท หรือ 178.09% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)

และเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 'ฮาราลด์ ลิงค์' ประธานกลุ่มบมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งธุรกิจพลังงาน, โรงไฟฟ้า, อุปกรณ์การแพทย์, เครื่องปรับอากาศ, คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ โดยขยับขึ้นจากอันดับ 11 เมื่อปีที่แล้ว จากการถือครองหุ้นมูลค่ารวม 26,798.95 ล้านบาท ลดลง 632.63 ล้านบาท หรือ 2.31% (ณ วันที่ 30 ก.ย.2563) 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวทรุดตัวลงอย่างหนัก ส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 30 ก.ย.63 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทย 2563 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1,237.04 จาก 62 ที่อยู่ในระดับ 1,637.22 ลดลงถึง 400.18 จุด คิดเป็น 32.35 % ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2563 'ลดลง' ถึง 140,796 ล้านบาท หรือ 7.09%

อย่างไรก็ตามหลังจากปัจจัยลบต่างๆ ได้คลายตัวลง ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก 'ผ่านจุดต่ำสุด' จากผลกระทบของโควิด-19 ไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการ 'ปิดเมือง' (ล็อคดาวน์) ในหลายประเทศ รวมถึงผลการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้ผลดี และจะมีการนำมาใช้ได้ในปลายปีนี้ ทำให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปรับตัวขึ้นทะลุ 1,400 จุด ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

160769450392

ฮาราลด์ ลิงค์

ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ 'เด่น'

จากการสำรวจพบว่า เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 'ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' 2 สามีภรรยาเจ้าของอาณาจักร บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล หรือ MTC ผู้ประกอบการให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล อันดับขยับขึ้นมา สะท้อนผ่านธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้น

สะท้อนผ่าน 'ปริทัศน์ เพชรอำไพ' รองกรรมการผู้จัดการและลูกชายของ 'ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' แห่ง MTC บอกว่า ปี 2564 บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 20-25% จากปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 20% โดย 9 เดือนเติบโตแล้ว 18% และแนวโน้มสินเชื่อในเดือนต.ค. และ พ.ย. เติบโตต่อเนื่อง ส่วนเดือนธ.ค. บริษัทต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

'ปกติพอร์ตสินเชื่อจะโตไตรมาสละ 3,000 ล้านบาท แต่พอมาไตรมาส 2 ปี 2563 เราทำได้ 600 ล้านบาท เพราะเจอผลกระทบโควิด ส่งผลให้ยอดที่จะโต 20% เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ตอนนี้เราเห็นดีมานด์เข้ามาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค. พ.ย. จึงขอลุ้นเดือนธ.ค. อีกเดือนว่าจะเป็นอย่างไร'

ขณะที่ทางด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สิ้นปีหน้าจะคุมไม่ให้เกิน 1.5% จากสิ้นปีนี้ 1.1% โดยแนวโน้ม NPL ยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น หรือ เกินกว่าความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัท โดยบริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ในต้นปีหน้า จากปกติเฉลี่ยออกหุ้นกู้ไตรมาสละ 3,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปจำนวน 5,000 ล้านบาท

'ปีหน้าหากการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ความต้องการเงินทุนจะสูงขึ้น ซึ่งบริษัทยังมีวงเงินจากสถาบันการเงินที่รอเบิกใช้ประมาณหมื่นล้านบาท'

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายปันผล 15% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังมีช่องทางการเติบโตได้อีกมาก เพราะฉะนั้น เงินทุนจะมีความสำคัญต่อการขยายธุรกิจ และ ส่งผลดีต่อนักลงทุนระยะยาวมากกว่าที่จะนำเงินมาจ่ายปันผลทั้งหมด