โลกต้องรู้...Himalayan coffee กาแฟแห่งขุนเขาหิมาลัย

โลกต้องรู้...Himalayan coffee กาแฟแห่งขุนเขาหิมาลัย

พิชิตเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก ไปดื่มด่ำรสชาติและกลิ่นกรุ่นของ "กาแฟเนปาล" เครื่องดื่มที่นักเลงกาแฟยกให้เป็นกาแฟแห่งขุนเขาหิมาลัย "Himalayan Coffee"

จากบุรุษเพียงหนึ่งเดียวเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ทำให้ดินแดนแห่งขุนเขาอย่าง “เนปาล” มีชื่อปักหมุดบนแผนที่กาแฟโลกในฐานะผู้ผลิตกาแฟออแกนิกคุณภาพอีกแหล่งหนึ่ง นอกเหนือจากที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านความสุดอลังการของเทือกเขาและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงาม ด้วยเส้นทางพิชิต เอเวอเรสต์” ยอดเขาสูงสุดในโลกที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ก็เป็นเส้นทางที่เริ่มต้นจากทางฝั่งเนปาลนี่เอง

ด้วยภูมิประเทศบังคับ “กาแฟเนปาล” จึงปลูกกันบนพื้นที่สูงเสียส่วนใหญ่ เติบโตตามธรรมชาติ สารเคมีและปุ๋ยไม่ได้กล้ำกราย ด้วยมีพื้นที่ปลูกน้อยกว่าน้อย การผลิตต่อปีก็พลอยมีปริมาณน้อยมากตามไปด้วย กาแฟจากเนปาลจึงหาดื่มในตลาดค่อนข้างยากมาก จนเริ่มกลายเป็นที่ถามหากันทุกขณะของนักเลงกาแฟทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Himalayan Coffee” หรือ "กาแฟแห่งขุนเขาหิมาลัย"

ชาวเนปาลดื่มชากันมานมนานแล้ว “กาแฟ” เพิ่งเป็นที่รู้จักกันมาไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง จึงไม่ถือเป็นเครื่องดื่มเก่าแก่อะไรของประเทศนี้ เอาเข้าจริง ถ้าผมเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ก็คงต้องขอกล่าวขอบคุณบุรุษที่ชื่อ ฮิรา กิรี (Hira Giri) ที่ได้นำกาแฟเข้ามายังเนปาลเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1938

ในบันทึกส่วนใหญ่ล้วนบอกว่า ฮิราเป็นชาวไร่และพ่อค้าชาวเมืองกุลมี (Gulmi) เมืองที่อยู่ตอนกลางของเนปาล แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนอ้างว่า จริงๆ แล้ว ฮิรานั้นเป็นพระมาจากดินแดนในพม่าต่างหาก

160758702695

ทิวทัศน์ขุนเขาของเมืองกุลมี  (Gulmi) เมืองแรกที่กาแฟปักหมุดในเนปาล / ภาพ : Himalpoudel64

แต่ไม่ว่าพ่อค้าชาวไร่รายนี้จะเป็นคนบ้านเมืองใด แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือ “เชอรี่กาแฟ” จำนวนหนึ่งที่เขานำมาปลูกลงบนพื้นที่ใกล้กับ หมู่บ้านอัพชอร์ (Aapchaur village) อันเป็นบ้านเกิดนั้น เป็นกาแฟที่นำมาจากเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า ไม่นานนัก ต้นกาแฟก็ค่อยๆ หยั่งรากลึกลงจนเติบกล้าออกดอกผลิผลให้เป็นที่ชื่นใจ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งขุนเขาและอากาศอันหนาวเย็น จากนั้นฮิราก็แจกจ่ายต้นกล้ากาแฟให้ชาวไร่รายอื่นๆ ไปลองปลูกบ้าง

เข้าใจว่า ชายชาวเนปาลผู้นี้ต้องมองเห็นศักยภาพของต้นกาแฟว่าสามารถเป็นพืชที่ค้าขายและทำกำไรให้ได้ จึงได้นำกาแฟจากพม่ามาลองปลูกดูบ้าง ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1938 นั้น เป็นยุคที่อังกฤษยังปกครองพม่าในฐานะอาณาณิคม แต่ก็เป็นช่วงปลายๆ แล้ว เวลานั้นในพม่า เริ่มมีการส่งออกเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าไปยังต่างประเทศกันแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า ฮิรามองเห็นโอกาสทางการค้ากาแฟ เมื่อเดินทางเข้าไปยังพม่านั่นเอง

แม้ไม่มีข้อมูลระบุว่า “กาแฟ” ที่ฮิรานำมาจากพม่านั้น เป็นอาราบิก้าสายพันธุ์ใด อย่างไรก็ดี จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 82 ปี อัพชอร์ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการเรียกขานว่า หมู่บ้านแห่งเมล็ดกาแฟแห่งเนปาล (Village of coffee beans)

การทำไร่กาแฟเริ่มขยับขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ตอนกลางของดินแดนขุนเขาหิมาลัย ทว่าช่วงนั้น คำว่าซื้อขายกันในฐานะพืชเศรษฐกิจยังดูห่างไกลนัก เพียงปลูกดื่มกันเองในกลุ่มคนท้องถิ่นเท่านั้น จนลุล่วงเข้าทศวรรษที่ 1970 นั่นแหละ จึงถูกนำไปพัฒนาต่อยอดในที่สุด ภายหลังที่ กษัตริย์พิเรนทรา ประกาศให้เมืองกุลมีเป็นโซนปลูกกาแฟที่สำคัญของประเทศ มีการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรให้หลายๆ ด้าน พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือในการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพมากขึ้น และเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง นับเป็นจุดเริ่มต้นการทำกาแฟอย่างเป็นระบบครั้งแรก

การทำกาแฟเพื่อค้าขายในเชิงพาณิชย์ในช่วงแรกๆ ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจขึ้นในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก กลัวว่าเมื่อลงทุนไปแล้วเงินทองที่ได้มาจะไม่คุ้มทุน ยังผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังรีรออยู่ว่า ควรจะยกระดับจากกาแฟปลูกเพื่อดื่มกันตามหมู่บ้าน มาเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์ดีหรือไม่

ช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 รัฐบาลเนปาลขณะนั้นได้สั่งซื้อ "เมล็ดพันธุ์กาแฟ" มาจากอินเดีย เพื่อแจกจ่ายไปยังเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ พร้อมกับเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคนิคการแปรรูป สร้างเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตอย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญ ส่งคนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตต่ำ เป้าหมายคือส่งออกกาแฟให้ได้ ตอบรับสภาวะการค้ากาแฟทั่วโลกที่เป็นไปอย่างคึกคักในขณะนั้น

จนถึงในปี ค.ศ.1998 กาแฟจึงได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นพืชพาณิชย์อย่างเต็มตัว นอกจากผลิตเพื่อบริโภคภายในแล้ว ยังมีการส่งออกทั้งสารกาแฟและเมล็ดกาแฟคั่วออกสู่ตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกาแฟออแกนิคซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งของผู้บริโภคในยุโรป

ต่อมา ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดกาแฟคุณภาพสูงเริ่มมาแรงแซงทางโค้ง เกษตรกรก็เริ่มปรับตัวปรับมุมมองในการทำกาแฟอีกครั้ง หลังจากรับรู้คอกาแฟในและนอกประเทศต่างเสาะแสวงหา “กาแฟพิเศษ” (Specialty coffee) ที่หายาก มาดื่มกันเป็นจำนวนมาก

ด้วยแรงขับเคลื่อนทั้งจากภายนอกและภายใน ปริมาณการผลิตกาแฟในเนปาลเพิ่มขึ้นในระดับที่เรียกว่าราวติดปีกบินทีเดียว ในปีค.ศ. 2018 มีการผลิตทั้งประเทศที่ระดับ 565 ตัน เทียบกับเพียง 14 ตันในปี ค.ศ. 1995 แต่จำนวนครึ่งพันตันยังถือว่า “น้อยนิด” เมื่อเทียบกับชาติผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ติดอันดับโลกอย่าง บราซิล, เวียดนาม และโคลอมเบีย แต่จำนวนน้อยนั้น ก็สร้างโอกาส ข้อดีคือ ทำให้หาดื่มได้ไม่ง่าย ยิ่งมีคุณภาพ และกลิ่นรสเฉพาะตัวด้วยแล้ว จะกลายเป็น "ทองดำ" (black gold) ในสายตาของนักล่ากาแฟข้ามชาติไปทันที

ขณะเดียวกันนั้นเอง การบริโภคกาแฟในเนปาลก็เพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นอกจากจะหันเหจากการจิบชามาสนใจดื่มกาแฟในชีวิตประจำวันแล้ว ยังแสวงหาหน้าที่การงานในธุรกิจกาแฟอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือมีธุรกิจเป็นของตนเอง ทั่วประเทศทั้งโรงคั่วและร้านกาแฟผุดขึ้นเต็มพรืดราวดอกกาแฟ ผลที่เกิดตามมาก็คือ เกษตรกรชาวไร่ละทิ้งจากพืชเศรษฐกิจบางตัวที่มีราคาต่ำจำเจ หันมาปลูกกาแฟแทน

160758712141

ร้านกาแฟสายสโลบาร์ เพิ่มขึ้นเป็นมากในเนปาล / ภาพ : Rohit Khadgi on Unsplash

สายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาปลูกกันมากในเนปาลมีอยู่หลายสายพันธุ์ หลักๆ ก็มี ทิปปิก้า และเบอร์บอน ขณะที่การแปรรูปกาแฟก็ใช้วิธีแปรรูปแบบแห้ง (Dry / Natural) หวังรักษาไว้ซึ่งกลิ่นรสตามธรรมชาติของกาแฟนั้นๆ เรียกว่าได้คาแรคเตอร์ที่ค่อนข้างชัดเจนจากแหล่งเพาะปลูก ตลาดที่นำเข้ากาแฟเนปาลนอกจาก ยุโรป และ สหราชอาณาจักร แล้ว ก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา สังเกตว่าแทบทั้งหมดเป็นประเทศผู้บริโภคกาแฟ Single Origin หรือกาแฟสายพันธุ์เดียวจากแหล่งปลูกเดียว

แม้ “เนปาล” เริ่มจะมีชื่อในด้านการส่งออก “กาแฟออแกนิก” แต่คงเหมือนกับอีกหลายชาติในเอเชียที่คอกาแฟส่วนใหญ่ยังคงดื่มกาแฟสำเร็จรูปหรือกาแฟอินสแตนท์ แม้แต่ในคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือโรงแรม ก็มีกาแฟแนวนี้คอยให้บริการเป็นส่วนใหญ่ นั่นอาจหมายความว่า ราคากาแฟสดหรือกาแฟคั่วบดที่ผลิตเองได้ในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ใช่หรือไม่?

กระนั้น เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดื่มแนวกาแฟที่บรรดานักปีนเขาไปเยือนเนปาลชมชอบมากที่สุด ก็เห็นจะเห็นกาแฟท้องถิ่นที่มีชื่อเรียกในภาษาสากลว่า Mustang coffee” หรือ "กาแฟมุสตาง"

กาแฟมุสตางนิยมดื่มกันมากตาม แคมป์นักปีนเขา อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวผจญภัยระดับแม่เหล็กของเนปาล เครื่องดื่มนี้มีกาแฟดำเป็นตัวยืนพื้น ตามด้วยส่วนผสมอีกหลายชนิด เช่น น้ำผึ้ง เนย และไวน์ข้าวท้องถิ่น ถ้าไม่มีน้ำผึ้งก็สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลทดแทนกันได้

คำว่า "Mustang" หรือ "มุสตาง" นั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหมายถึงอะไร แต่มีดินแดนในเขตภาคกลางตอนเหนือของเนปาล ชื่อว่า "มุสตาง" จัดเป็นแหล่งโบราณคดีอันลี้ลับและยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกทีเดียว

160758718370

กาแฟมุสตาง ใส่เนย น้ำผึ้ง และไวน์ข้าว / ภาพ  : instagram.com/bunaa.de/

จะว่าไปแล้ว ไร่กาแฟของชาติในดินแดนขุนเขาหิมาลัยแห่งนี้นั้น ยังคงอยู่ภายใต้การครอบครองของเกษตรกรรายเล็กๆ นิยมปลูกไว้ตามใต้เงาไม้ใหญ่ ในระดับความสูงระหว่าง 1,000-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขณะที่การเก็บเกี่ยวกระทำโดยการใช้มือปลิดเชอรี่กาแฟหรือผลกาแฟสุกเต็มที่ จึงเป็นอีกแหล่งปลูกที่สามารถค้นหากาแฟออแกนิคคุณภาพดีได้ไม่ยากนัก

กาแฟเนปาลส่วนใหญ่ล้วนติดฉลากสินค้า “แฟร์เทรด” (fair trade) อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ช่วยยืนยันให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า สินค้าที่มีเครื่องหมายนี้เป็นผลผลิตของกระบวนการการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน ผ่านทางการช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายเล็กรายน้อย (กาแฟกับหลักการค้าที่เป็นธรรมนั้น น่าสนใจยิ่งนัก สัญญาว่าโอกาสหน้าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังครับ)

ไม่ใช่ทุกพื้นที่ของเนปาลจะปลูกกาแฟคุณภาพสูงได้ ด้วยสองในสามของพื้นที่ประเทศไม่สามารถทำเกษตรกรรม สำหรับกาแฟนั้นรวมๆ แล้ว มีพื้นที่ปลูกเพียง 11,250 ไร่ ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก ดังนั้น การเลือกหาพื้นที่ทำเลซึ่งมีปัจจัยสอดคล้องและลงตัว เช่น สภาพอากาศ, ความชื้น และ ดิน เพื่อปลูกกาแฟคุณภาพสูง จึงไม่ใช่งานง่ายๆ เลย

แล้วชื่อหนึ่งก็เริ่มผุดขึ้นมาเมื่อเอ่ยถึงกาแฟเนปาล ก็คือ “Himalayan coffee” หรือ “กาแฟหิมาลัย” ไม่ได้หมายถึงกาแฟที่ปลูกบนหิมาลัยอันหนาวเย็นสุดๆ นะครับ แต่โดยภาพรวมแล้ว ชื่อนี้ก็คือกาแฟที่เติบโตบริเวณตีนเขาด้านล่างของเทือกเขาหิมาลัยทางฝั่งเนปาล เช่น เทือกเขากาเนช ฮิมัล จัดเป็นแหล่งปลูกกาแฟเชิงเขาที่อยู่สูงประมาณ 1,200 - 1,600 เมตรเหนือจากระดับน้ำทะเล แล้วก็มีเกษตรชาวไร่กาแฟ คาเฟ่ หรือโรงคั่วกาแฟจำนวนไม่น้อยในเนปาล นำชื่อ Himalayan ไปตั้งเป็นแบรนด์กาแฟ พร้อมติดภาพ ยอดเขาเอเวอเรสต์ อยู่ในโลโก้ด้วย ทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจต่อนักดื่มกาแฟทั้งหลายยิ่งนัก

160758724441

กาแฟสมัยนิยมเสิร์ฟในคาเฟ่ ของกรุงกาฐมาณฑุ / ภาพ : Meghraj Neupane on Unsplash

บริเวณตีนเขาหรือเชิงคีรีของเทือกหิมาลัยในเนปาล แม้จะมีสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ก็ยังเป็นบริเวณที่ไร้ซึ่งหิมะปกคลุม พืชพรรณเฉพาะถิ่นยังเจริญเติบโตได้ และก็เป็นจุดที่เคยมีการทำไร่ปลูกพืชอื่นๆ กันมาก่อน เกษตรกรจึงเลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้แหละ นำกาแฟเข้ามาปลูกทดแทน ซึ่งก็ได้ผลดีเสียด้วย เลยขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติมตามแนวนอนเป็นการใหญ่ แต่ไม่เลือกพื้นที่สูงกว่านี้แล้ว เพราะเสี่ยงมากที่พืชจะได้รับความเสียหายจากน้ำค้างแข็ง

กาแฟพิเศษในแบบออแกนิคของ "Himalayan Coffee" เคยถูกโหวตให้ได้รับรางวัล "The best gourmet coffee" ในงานประกวดการคั่วกาแฟนานาชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อปีค.ศ. 2016

ว่าถึงเรื่องรสชาติกันบ้าง กาแฟหิมาลัยค่อนข้างให้รสเปรี้ยวผลไม้ต่ำ มีบอดี้ดี กลิ่นรสออกโทนช็อคโกแลต, ถั่ว และคาราเมล ดูแล้วมีความคล้ายคลึงยิ่งนักกับกลิ่นรสดั้งเดิมของกลุ่มกาแฟดั้งเดิมในพม่า ลาว และไทย เป็นกลิ่นรสที่เหมาะสำหรับอุปกรณ์ชงกาแฟอย่าง Moka pot และเครื่องเอสเพรสโซ

160758737647

Himalayan Coffee วางขายบนเว็บไซต์ www.himalayancoffee.jp

จากวันวาน...บุรุษพียงหนึ่งเดียวที่นำกาแฟเข้ามาปลูกเมื่อ 80 กว่าปีก่อน จวบจนวันนี้... เนปาลมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั้งสิ้น 32,000 คน มีแหล่งปลูกทั้งสิ้น 40 แห่ง ในจำนวนนี้มีกำลังการผลิตกาแฟพิเศษราว 50 ตัวในแต่ละปี ถือเป็นประวัติศาสตร์กาแฟหน้าหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ให้โลกรับรู้

อ่อ...แล้วอย่าลืมล่ะครับ มีโอกาสไปปีนเขาที่เนปาลเมื่อไร ลองตามหากาแฟแห่งขุนเขาหิมาลัย มาดื่มแก้หนาวกันสักแก้วสองแก้ว...!