ผ่าขบวนการ 'ขนคนข้ามแดน' ต้นตอเสี่ยง 'โควิด'รอบ2

 ผ่าขบวนการ 'ขนคนข้ามแดน' ต้นตอเสี่ยง 'โควิด'รอบ2

‘ขบวนการ’ ลักลอบนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กลุ่มในประเทศต้นทาง-ประเทศปลายทาง คิดค่านำพา 650 ต่อคน และใช้ 'โดรน' ตรวจหาตำแหน่งทหารลาดตระเวน

หลังเกิดกรณีมีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย กระทั่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อ‘โควิด-19’ จากการแพร่ระบาดนอกประเทศ นำเข้ามาภายในประเทศกว่า 20 ราย ทำให้ทางการไทยได้กำหนดมาตรการอย่างเข้มในการรับมือกับปัญหานี้โดยเร่งด่วน

ล่าสุด พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สกัดการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ (หัวหน้า ศปม.) ได้ออกหนังสือเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ และมอบภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย

โดยพื้นที่ชายแดน ให้บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลและทางบก เพิ่มการลาดตระเวนในช่องทางที่มีการลักลอบเข้าเมืองบ่อยครั้ง วางเครื่องกีดขวาง ร่วมกับเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ ป้องกันการลักลอบข้ามแดน รวมถึงการนำเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น กล้องซีซีทีวี และ โดรน และเครื่องมือพิเศษอื่นๆ มาสนับสนุนภารกิจ

ส่วนเส้นทางที่เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน ให้จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจค้นและจับกุมยานพาหนะที่นำพาผู้ลักลอบเข้าเมือง รวมถึงจัดชุดสายตรวจร่วมตามเส้นทางต่างๆ ทั้งเส้นทางหลัก เส้นทางรอง 

สำหรับพื้นที่ตอนในให้จัดชุดตรวจค้นสถานที่ ซึ่งอาจเป็นแหล่งพักพิงผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เน้นสถานประกอบการ ที่คาดว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมจัดชุดประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้คนในพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งแบะแส

นอกจากนี้ ในคำสั่งดังกล่าว ‘หัวหน้า ศปม.’ ได้เน้นย้ำ ติดตามการข่าวเชิงลึกเพื่อให้ทราบถึงผู้นำพา แหล่งพักคอย และเส้นทางลักลอบเข้าสู่พื้นที่ตอนใน เพื่อขยายผลจับกุมไปยัง ‘เครือข่าย’ หรือ ‘ขบวนการ’ และผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งหมด

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า ‘ขบวนการ’ ลักลอบนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กลุ่มคนอยู่ในประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง เพื่อกำหนดเส้นทาง จุด ‘รับ-ส่ง’ ผู้หลบหนีเข้าเมือง ผ่านช่องทางธรรมชาติชายแดนที่สามารถผ่าน ‘เข้า-ออก’ ได้ทุกจุด โดยคิดค่านำพา 650 บาท ต่อคน

ขณะที่การปฏิบัติการสกัดและจับกุมของฝ่ายไทย ที่ทหารได้ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมีการนำ ‘โดรน’ มาใช้ภารกิจสนับสนุนงานลาดตระเวนเพียงฝ่ายเดียว แต่ปรากฎว่า กลุ่มขบวนการลักลอบขนคนข้ามแดนก็ใช้วิธีนำคนลักลอบเข้ามา โดยใช้เทคโนโลยีและปฏิบัติการแทบไม่ต่างกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทย 

160747234550

โดยใช้ ‘โดรน’ ติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งกล้องตรวจจับความร้อน ระยะเวลาที่บินได้นานและระยะไกล ทำงานเงียบ ปฏิบัติงานได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น และระบบเซนเซอร์กันชนสิ่งกีดขวาง รอบทิศทาง และการขนย้ายคนแต่ละครั้ง อาจใช้โดรนหลายตัว เพื่อลาดตระเวนหาตำแหน่งเจ้าหน้าที่ และพื้นที่ปลอดภัยตามช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนในการ ‘รับ-ส่ง’ ตั้งแต่ประเทศต้นทาง หรือประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเริ่มจาก จะมีคนขับรถขนผู้หลบหนีมาส่งจุดนัดพบบริเวณชายแดน ซึ่งอาจต้องจ่ายค่าผ่านทางหลายทอด จากนั้นจะส่งต่อให้ ‘คนนำทาง’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ เพราะชำนาญเส้นทาง รู้ว่าจุดไหนผ่าน ‘เข้า-ออก’ สะดวกและปลอดภัยจากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ โดยใช้วิธี ‘เดินเท้า’ 

ส่วนระยะเวลาเดินทางขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเส้นทางที่เลือก โดยคำนึงความปลอดภัย หลบเลี่ยงการลาดตระเวนของทหาร มีการประสานงานกับคนทำหน้าที่บังคับโดรน เพื่อตรวจสอบเส้นทางว่า เส้นทางใดไปได้ หรือเส้นทางใดควรหลีกเลี่ยง รวมถึงลักษณะพื้นที่เป็นป่ารก มีความชันหรือไม่ รวมถึงสภาพอากาศในขณะนั้น

หากเป็นทางลัดและปลอดภัย จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมงเพื่อมายังจุดนัดหมาย แต่หากระหว่างทางเจอ ‘ปัญหา-อุปสรรค’ ต้องหาจุดพักคอย เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสม หรือ รอให้ชุดลาดตระเวนผ่านเส้นทางที่เลือกใช้ไปก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง

แต่ ‘การเดินเท้า’ ในป่าเพื่อข้ามแดน ส่วนใหญ่จะอาศัยช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน เพราะสามารถหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ง่ายกว่า และเดินทางสะดวกกว่า ขณะที่กลางคืนเสี่ยงถูกตรวจพบมากกว่า รวมถึงอันตรายจากสิ่งอื่น ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง

เมื่อผ่านตรงนี้มาได้ ก็จะถึงจุดพักคอย เพื่อรอคนขับรถมารับจากชายแดนไทย พาเดินทางเข้าไปในพื้นที่ส่งต่อตามจุดนัดหมาย ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะสามารถจับกุมได้ในระหว่างการขนย้าย ที่ต้องผ่านเส้นทางหลัก เส้นทางรอง เพื่อเข้าสู่พื้นที่ตอนใน เนื่องจากมีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ที่เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานท้องถิ่น

สอดคล้องกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ระบุว่า ชายแดนมีพื้นที่กว้าง จะให้กำลังทหารไปยืนทุกจุด ทุกช่องทางธรรมชาติคงเป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดตามแนวชายแดนสามารถเข้าออกได้ทุกจุด จึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เรากำลังบูรณาการทำงานเพื่อป้องกันจุดโหว่ตรงนี้ 

พร้อมกันนี้ ผบ.ทบ.ยังได้สั่งการไปยัง พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้เพิ่มชุดลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อป้องปรามการกระทำผิด 

ผมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้รับสินบนเพื่อเปิดทางให้ มีการลักลอบเข้าเมือง แต่จากการตรวจสอบเส้นทางพบว่า ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมีการรับเงิน เพื่อเปิดทางให้คนเหล่านี้ข้ามเข้ามาฝั่งไทย ตรงนี้เราไปจัดการไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเรา แต่ฝั่งของเราได้ตรวจพบคนพวกนี้หมดแล้ว ที่นำพาคนเข้ามา โดยเจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเดินทางมาจากไหน เพียงแต่รับค่าจ้างมา” ผบ.ทบ.ระบุ

แม้จะมีความพยายามเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการจับกุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ยังสาวไม่ถึง ‘ขบวนการ’ ได้ทั้งหมด นั่นเป็นเพราะ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ในขณะที่ ‘ฝั่งไทย’ก็ถูกตัดตอน โดยคนนำพาเข้ามาพื้นที่ชั้นใน ล้วนให้การปฏิเสธ อ้างว่าทำหน้าที่แค่รับจ้างขับรถมาส่งเท่านั้น

ในขณะที่ ‘หัวหน้า ศปม.’ ได้งัดทุกมาตราการเพื่อใช้ป้องปรามการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ที่มาพร้อมกับเชื้อ ‘โควิด-19’ แต่กลุ่ม ‘ขบวนการ’ดังกล่าว ก็อาศัยเทคโลโนยีใหม่ๆ มาเป็นตัวช่วยเพื่อให้รอดพ้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่เช่นกัน

ที่สุดแล้ว แม้การลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนจะสกัดกั้นไม่ได้ 100% จนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงปะทุขึ้นมาได้ แต่สำคัญยิ่งกว่าคือการป้องกันตัวเองของประชาชนคนไทยในประเทศต่างหาก ที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด‘โควิด-19’รอบสอง

160748841158