'โควิด-19'ให้บทเรียนชาติเอเชียเร่งพัฒนาเมือง

'โควิด-19'ให้บทเรียนชาติเอเชียเร่งพัฒนาเมือง

'โควิด-19'ให้บทเรียนชาติเอเชียเร่งพัฒนาเมือง ซึ่งการพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิมเป็นแนวคิดของหลายประเทศ ตั้งแต่การเลือกตั้งของสิงคโปร์ในช่วงต้นปีนี้จนถึงเว็บไซต์การถ่ายโอนอำนาจของนายโจ ไบเดน

การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังให้บทเรียนต่างๆที่ช่วยกระตุ้นให้เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ทั่วอาเซียน และเอเชีย ไล่ตั้งแต่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ไปจนถึงสิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ที่มีความสะอาดมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น

โลกของ“จานิก้า โซลิส”ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเครียดที่สุดและหมดแรงคือการเสียเวลากับการเดินทางจากบ้านมาที่ทำงานและทำให้เธอมีเวลาน้อยมากที่จะทำหน้าที่ของตัวเองในบริษัทสตาร์ทอัพด้านการศึกษาแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์

การเดินทางช่วงเช้าของโซลิส พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ที่รวมถึงการนั่งอัดกันเป็นปลากระป๋องในรถจี๊ปนี ทำให้เธอรู้สึกร้อนและอึดอัดมาก และการเดินทางกว่าจะถึงที่ทำงาน เป็นการเดินทางหลายต่อ ทั้งเดินไปยังสถานีรถไฟที่ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงและขึ้นรถบัส ก่อนจะปิดท้ายด้วยการขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยสรุปเธอใช้เวลาประมาณ 1.30-2 ชม.ในการเดินทางจากบ้านไปทำงานและเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้าน กินระยะทางแค่ 7 กิโลเมตร

นั่นคือตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาการเสียเวลากับการเดินทางในเมืองหลวงอย่างกรุงมะนิลา และกรุงมะนิลา ก็เป็นหนึ่งในเมืองหลวงของโลกที่มีระบบการจราจรเข้าขั้นจลาจลคือรถติดมากที่สุด ในแต่ละวันระบบขนส่งในเมืองหลวงแห่งนี้จะเจอปัญหารถติดโดยเฉลี่ยน 66 นาที

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ ประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างรอบใหม่ที่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงระบบขนส่งของเมืองหลวงครั้งใหญ่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โซลิวและคนอื่นๆจึงสนับสนุนเต็มที่ แต่โซลิสก็ยังคงมีความหวังอย่างระมัดระวัง โดยบอกว่า “การที่รับาลมีแผนสร้างถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินบนทางเท้า สร้างเลนสำหรับจักรยานและจัดหารถชัตเติลบัสเป็นเรื่องดี ซึ่งหากรัฐบาลทำโครงการทั้งหมดได้ตามแผน ความคิดริเริ่มนี้จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นความหวังมากที่สุดในยุคโควิด-19 "

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเสียหายจนไม่อาจประเมินค่าได้ และทำให้วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส กรุงมะนิลาและเมืองหลวงอื่นๆถือโอกาสที่โควิด-19ระบาดหนักสร้าง ปรับปรุงเมืองหลวงให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น รวมทั้งสร้างชุมชนที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และถูกสุขลักษณะมากขึ้น

“นี่เป็นโอกาสที่เราจะกดปุ่มความคิดของเราใหม่ เรารู้ว่าจะคิดแต่เรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องแก้ปัญหาหลายด้านไปพร้อมๆกัน เช่น จะสร้างเมืองใหม่อย่างไรให้ดีกว่าเดิม ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างไรให้มีความยั่งยืน”กุยเลอร์โม ลัซ ประธานไลฟ์เอเบิ้ล ซิตี้ส์ ฟิลิปปินส์ หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ให้ความเห็น

“การพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม”กำลังเป็นแนวคิดของหลายประเทศ ตั้งแต่การเลือกตั้งของสิงคโปร์ในช่วงต้นปีนี้จนถึงเว็บไซต์การถ่ายโอนอำนาจของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐแต่ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปรับปรุงเมืองให้น่าอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมต้องปรับปรุง โดยล่าสุด สหประชาชาติ(ยูเอ็น)ประเมินว่า 55% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง และตัวเลขนี้จะขยับเป็น 68% ภายในปี 2593

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)คาดการณ์ว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีอัตราการขยายตัวของเขตเมืองสูงมาก โดยประชากรในเขตเมืองของภูมิภาคขยายตัวในอัตรา 3.4% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว เทียบกับ 2.6% ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆของโลก หากเมืองใดต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคตจำเป็นต้องกำจัดจุดอ่อนต่างๆอย่างจริงจังและดำเนินการด้วยความรอบคอบท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่

นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องปรับปรุงระบบสาธารณสุขสาธารณะเข้ากับการเคหะ และการพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิมเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมรวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมสำหรับประชาชนจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึง

ขณะที่พื้นที่ว่างรอบๆสิ่งปลูกสร้างก็เป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาการคิดใหม่ ทำใหม่ด้วยเช่นกัน “ผู้คนในยุคโควิด-19ระบาดเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ว่างที่เต็มไปด้วยความเขียวขจีของเมืองมากขึ้น ”พูเทียราท ชาน ซึ่งทำงานที่แผนกกรีน อีโคโนมีของรัฐบาลกัมพูชา ให้ความเห็นพร้อมทั้งเสริมว่า ก่อนหน้านี้ ผู้คนจะหย่อนใจด้วยการพากันไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า หรือเมาท์มอยกับเพื่อนฝูงตามร้านอาหารต่างๆ แต่เมื่อโรคโควิดระบาด ผู้คนเริ่มหันเข้ามาธรรมชาติมากขึ้น เช่นการไปเดินป่า ปีนเขา หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในรูปแบบต่างๆที่อิงกับธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผู้เปิดเผยชื่อแค่“ฮาชิม” นักพัฒนาเขตเมืองในมาเลเซีย มองว่า การพัฒนาเขตเมืองให้สะอาดและเป็นพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ความพยายามทำสิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิดที่จะมีทรัพยากรอย่างจำกัดมากกว่าและใช้งบประมาณสูงกว่า จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการพัฒนาเขตเมืองให้ได้ตามเป้า