LINE BK อนุมัติสินเชื่อแค่10%

LINE BK อนุมัติสินเชื่อแค่10%

กสิกรไทยชี้ยอดขอกู้สินเชื่อไม่มีหลักประกันพุ่ง 26%หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดปล่อยกู้ผ่านดิจิทัลพุ่ง2 หมื่นล้านบาท ไม่รวม LINEBKยอดขอสินเชื่อ15 วันทะลุก 5-6 แสนคน ขณะที่ผ่านอนุมัติ10%หลังภาระหนี้สูง รายได้วูบ

    นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า หากดูทิศทางการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน บนดิจิทัล ปัจจุบันยอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 20,000 ล้านบาท

    โดยแบ่งเป็นการปล่อยผ่านดิจิทัล 100% ราว 8-9 พันล้านบาท ซึ่งหากแยกเฉพาะการขอสินเชื่อที่ปล่อยผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคาร ปัจจุบันเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท จาก 1,090 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีจะเห็นยอดปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเพิ่มต่อเนื่อง

    ซึ่งสอดคล้องกับ LINE BK ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกสิกรไทย ผ่าน กสิกร วิชั่น จำกัด หรือ เควิชั่น) ร่วมกับบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย ที่พบว่า ยอดขอสินเชื่อก้าวกระโดด โดยนับตั้งแต่เปิดบริษัทเมื่อ 15 ต.ค.จนถึงสิ้นเดือนพ.ย. พบว่ามียอดลูกค้าเปิดบัญชี LINE BK ราว 8 แสนราย ขณะที่ยอดสมัครขอสินเชื่อ 5-6 แสนราย วงเงินสินเชื่อที่ยื่นขอเฉลี่ยอยู่ที่ 4 หมื่นบาทต่อคน แต่หากดูยอดผ่านการอนุมัติอยู่เพียงราว 10 % ยอดขอสินเชื่อทั้งหมด

   “การขอผ่านดิจิทัลที่ผ่านมา มีเข้ามาเยอะ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายได้ลด และภาระหนี้สูง ทำให้มีคำขอสินเชื่อเข้ามาเยอะ แต่ผ่านอนุมัติไม่มาก ซึ่งหากดูยอดอนุมัติสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อยู่เพียง 10-20 % ”

     ส่วนการทำธุรกรรมบนแอพพลิเคชั่น K PLUS สิ้นเดือนตุลาคมมีจำนวนผู้ใช้งาน 14.04ล้านคน ปริมาณธุรกรรมโดยรวมกว่า 11,800ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมกว่า 11.2ล้านล้านบาท โดยการทำธุรกรรมสแกน QR เติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าสแกนQR ผ่าน K Plus หรือการโอนเงินผ่าน QR PrompPay และเติมเงินใน e-wallet /เติมเกมออนไลน์โดยสะท้อนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นโดยลดการใช้เงินสด

    สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคาร ตั้งแต่มี.ค.เป็นต้นมา ธนาคารมีการช่วยเหลือลูกหนี้รวมตั้งแต่เฟส 1-2 รวมอยู่ที่ 8.53แสนล้านบาท และหลังจากหมดพักหนี้เมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกหนี้ที่กลับมาชำระหนี้ปกติได้ 73% และมีราว 23 % ที่ต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง

    และพบว่ากลุ่มที่เสี่ยงสุดคือ สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในพอร์ตโรงแรมมีอยู่ในพอร์ตราว 12 %ของสินเชื่อรวมที่ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องช่วยเหลือต่อเนื่องจนถึงปี64