‘ฟู้ดดิลิเวอรี่’ เดือดชิงตลาดแสนล้าน

‘ฟู้ดดิลิเวอรี่’ เดือดชิงตลาดแสนล้าน

สงครามระอุ รับ ‘รายใหม่’ คาดตลาดโต 200% อัดกลยุทธ์แรงชิงผู้นำ โฟกัส ‘ส่งฟรี-แตกบริการเพิ่ม’ ชี้ปรับค่า GP ต้องดูภาพรวม   

ตลาดโต 200% แตะแสนล.ได้ไม่ยาก

ขณะที่แหล่งข่าวนักวิเคราะห์ในวงการธุรกิจดิจิทัล ประเมินว่า จากการที่ผู้บริโภคต้องหันมาพึ่งพาระบบการสั่งอาหารผ่านแอพเพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิดระบาด และกลายมาเป็นนิวนอร์มอลของยุคปัจจุบัน จึงประเมินการเติบโตของตลาดนี้ อาจโตได้ถึง 200% และมีโอกาสแตะแสนล้านบาทเร็วๆ นี้ได้ไม่ยาก จากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ว่า ตลาดแอพฟู้ดดิลิเวอรี่ปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 3.5 หมื่นล้านบาท 

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไลน์แมน วงใน ระบุว่า ตลาดอาหารประเทศไทยมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยมีมูลค่าตลาดโดยรวมถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท และเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4% ต่อปี เฉพาะตลาดฟู้ดดิลิเวอรีปี 2562 อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าที่ราว 9%  ส่วนปี 2563 นี้ โควิด-19 ดันให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องหันพึ่งพาทางเลือกของบริการการสั่งอาหารผ่านแอพเพิ่มขึ้น ทำให้หลังจากนี้คาดว่า การแข่งขันในตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ไทยยังคงรุนแรงต่อเนื่องไป 2-3 ปี

"ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากโควิด-19 ที่ผลักดันให้ช่วงที่ผ่านมาตลาดเติบโต 2-3 เท่า และคาดว่าจากนี้จะไม่แผ่วและเติบโตต่อเนื่อง ขณะนี้ ผู้เล่นทุกรายพยายามเพิ่มศักยภาพ โหมโปรโมชั่น ขยายฐานคนขับ รวมถึงเร่งขยายพื้นที่บริการสู่ต่างจังหวัดให้ครอบคลุม"

ไลน์แมนวงในเชื่อตลาดยังโตอีกมาก

เขากล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนร้านอาหารกว่า 4-5 แสนร้าน ตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่มีสัดส่วนเพียง 5% ของธุรกิจอาหาร และมีโอกาสเติบได้ถึง 30% ด้านผลกระทบที่อาจเกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อาจมีส่วนทำให้การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อลดลง ทว่าการใช้งานจะยังคงมีจำนวนมากขึ้นและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โฟกัสสั้นใน 1 ปีแรกของไลน์แมนวงใน คือ การให้ผู้ใช้งานได้สั่งอาหารจากร้านที่หลากหลายมากที่สุด ด้วยค่าส่งเริ่มต้นฟรี ทั้งขยายพื้นที่ให้บริการไปสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนระยะกลาง 3 ปี มุ่งเป็นแพลตฟอร์มอาหารอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยการสร้างอีโคซิสเต็มด้านอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด โดยผนวกความแข็งแกร่งของไลน์, ไลน์แมน และวงในเข้าด้วยกัน

ขณะที่ โจทย์ใหญ่ของไลน์แมนวงใน คือ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารในประเทศด้วยอีโคซิสเต็มโอทูโอ (O2O) ผนวกความแข็งแกร่ง 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ ไลน์ที่เข้าถึงผู้ใช้กว่า 47 ล้านคน ต่อคนใช้เวลาเฉลี่ยบนแพลตฟอร์ม 63 นาทีต่อวัน ด้านไลน์แมนมีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารกว่า 200,000 ร้าน ยอดดาวน์โหลดมากกว่า 9 ล้านครั้ง ผู้ใช้งานประจำเดือนละมากกว่า 3 ล้านคน ขณะที่วงในเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารกว่า 430,000 ร้านทั่วประเทศ มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 10 ล้านคนต่อเดือน ผู้เข้าชม 21 ล้านครั้งต่อเดือน ขณะที่ตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการจาก 13 จังหวัด ไป 20 จังหวัดทั่วประเทศ

แกร็บชู 4 ปัจจัยหนุนความสำเร็จ

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แกร็บฟู้ดปีนี้เติบโตได้โดดเด่น ส่วนหนึ่งอานิสงส์จากโควิด-19ในเชิงบวก ดันการใช้บริการฟู้ดดิลิเวอรีในวงกว้างมากขึ้น เชื่อมระหว่าง ผู้บริโภค ร้านอาหาร และพาร์ทเนอร์คนขับ 

“ช่วงโควิด-19 แกร็บรับสมัครพาร์ทเนอร์คนขับเพิ่มให้ได้มีงานทำ ปัจจุบันมีจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับมากกว่า 100,000 ราย ขณะที่มีร้านอาหารอยู่บนแพลตฟอร์มกว่า 100,000 ร้านค้า เปิดให้บริการในกว่า 48 เมือง ใน 47 จังหวัด ทั่วไทย”

ขณะที่ แคมเปญเด่นประจำปีที่ผ่านมา คือ “GrabFood Free Your Hunger เลิกกินตามใคร กดสั่งตามใจ” ออกแบบมาจากอินไซต์ของผู้บริโภคที่ต้องการตัวช่วยสั่งอาหาร จึงสร้าง Signature Menu ที่มีขายแค่บนแกร็บฟู้ดเท่านั้นกว่า 100 รายการ พร้อมความหลากหลายของดีลกว่า 30,000 ดีลจากร้านค้าทั่วประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนการเรียกใช้บริการแกร็บฟู้ดเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว และจำนวนผู้ใช้บริการแกร็บฟู้ดโตขึ้น 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับต้นปี ปัจจุบันมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเป็นประจำอยู่หลายล้านราย มีจำนวนยอดดาวน์โหลดรวม 15 ล้านครั้ง

แม้ปัจจุบันจะตลาดฟู้ดดิลิเวอรีจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่จุดแข็งของแกร็บมี 4 ปัจจัย คือ 1.Integrated ecosystem การเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็มของแกร็บ ทั้งบริการเดินทาง สั่งอาหาร ส่งพัสดุ บริการอีวอลเล็ต 2.Innovative campaign and best deal แคมเปญที่ถูกออกแบบตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค 3.Quality and Reliability สร้างความเชื่อมั่นบริการที่รวดเร็ว คนขับที่มากที่สุด และ 4.Service รักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ

อีกหนึ่งในบริการเติบโตที่น่าสนใจ คือ “แกร็บ คิทเช่น” ช่วงล็อคดาวน์เติบโตกว่า 3 เท่า พาร์ทเนอร์ร้านค้าบนแกร็บ คิทเช่น ยังมียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับร้านค้าที่ไม่ได้อยู่บนแกร็บ คิทเช่น 

"แกร็บ มองว่า ปัจจัยสำคัญของการเติบโตของฟู้ดดิลิเวอรี่ คือ การสร้างอีโคซิสเต็มที่ยั่งยืน ผ่านการทำให้ผู้คนในอีโคซิสเต็มส์ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น พาร์ทเนอร์ร้านอาหาร พาร์ทเนอร์คนขับ และผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างสมดุลย์ ให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจและบริการให้มีความหลากหลาย ผลักดันการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ เช่น แกร็บมาร์ท บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งยอดสั่งซื้อเติบโตเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายใน 3 เดือนแรก"

โกเจ็กเปิดหน้าชน 

นายอันเดร โซลิสต์โย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม โกเจ็ก (Gojek) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนส่งแบบออนดีมานด์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตได้อีกมหาศาล 

นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โกเจ็ก ประเทศไทย กล่าวว่า แผนการรุกตลาดในไทย คือ นำซูเปอร์แอพใหม่ 3 ตัว ประกอบด้วย แอพ Gojek สำหรับผู้ใช้บริการ, แอพ GoPartner สำหรับคนขับ, และแอพ GoBiz สำหรับร้านอาหาร เจาะตลาดในไทย เน้นอัพเกรดแบรนด์ ให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ชูจุดต่างด้านเทคโนโลยีระดับโลก แต่บริหารโดยทีมงานที่เป็นคนท้องถิ่น ตั้งเป้าเติบโตได้เป็น 10 เท่าในทุกด้าน ทั้งยอดใช้งาน ร้านค้า และพันธมิตรคนขับ 

“เราหวังให้บริการแอพเป็นระดับเวิลด์คลาส ซึ่งขณะนี้ใกล้เคียงกับในอินโดนีเซียแล้ว บริษัทแม่ตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดอินโดนีเซีย 50% ต่างประเทศ 50% ซึ่งตอนนี้ไทยและเวียดนามเป็นตลาดนอกประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด”

แกร็บแจงค่า GP ต้องดูภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นการเก็บค่า GP นั้น ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ มองว่าการกำหนดอัตราที่เหมาะสมต้องพิจารณาจากภาพรวมของธุรกิจส่งอาหาร ขณะที่ ค่า GP ยังมีส่วนช่วยโปรโมทร้านอาหาร ดันยอดขายได้ด้วย

นางสาวจันต์สุดา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ควรพิจารณาภาพรวมของธุรกิจส่งอาหาร ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์มและร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีคนขับและผู้บริโภคด้วย ดังนั้น หากโครงสร้างการเก็บค่ารายได้ นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มคนทั้งหมดในอีโคซิสเต็ม คือ ผู้บริโภคได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วในราคาเอื้อมถึง คนขับมีรายได้ที่สม่ำเสมอและอิสระในการปฏิบัติงาน ขณะที่ร้านอาหารมีเครื่องมือทำการตลาด ก็น่าจะเป็นโมเดลที่เหมาะสมสำหรับฟู้ดดิลิเวอรีในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การเก็บค่า GP ของร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มเมื่อเทียบกับระบบที่ร้านอาหารเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าซึ่งต้องจ่ายค่า GP ที่ 20-40% อยู่แล้ว การที่ร้านอาหารมาอยู่ในแพลตฟอร์มและจ่ายค่า GP อยู่ที่ 30% อยากให้ดูว่าแพลตฟอร์มคิดค่าส่งอาหารจากผู้บริโภคที่ 10 บาท หรือส่งฟรี แต่รายได้ที่จ่ายให้พาร์ทเนอร์คนขับอยู่ที่ 30-50 บาท 

"เช่น เมื่อสั่งอาหาร 1 ออเดอร์รวม 150 บาท เมื่อคิดค่า GP ด้วยอัตราที่มากสุด จะอยู่ที่ 45 บาท แกร็บจ่ายค่าส่งให้คนขับ 40 บาท นั่นหมายความว่าจะเหลืออยู่ที่แพลตฟอร์มเพียง 5 บาทต่อ 1 ออเดอร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแกร็บยังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าพัฒนาเทคโนโลยี ค่าพนักงาน เป็นต้น"

ภาพรวมของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์ม และร้านอาหารซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังมีคนขับ และผู้บริโภคธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้หากขาดผู้เกี่ยวข้องส่วนใดส่วนหนึ่งไป การแข่งขันของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการแข่งขันสูง และร้านอาหารมีสิทธิเลือกแพลตฟอร์มใช้บริการ ขณะที่ มีผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่ดีที่ทั้งหมดจะแข่งกันเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ร้านอาหาร คนขับและผู้บริโภค

ฟู้ดแพนด้าชี้ GPดัันยอดขายร้านอาหารได้

นายเฟลเดอร์ กล่าวว่า ในส่วนของฟู้ดแพนด้า ระบุว่า การเก็บค่า GP มีส่วนช่วยผลักดันยอดขายของร้านอาหารให้สูงขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มจะนำส่วนแบ่งรายได้นี้ ไปทำการตลาดออนไลน์โปรโมทให้คนรู้จักร้านโดยที่ร้านอาหารไม่ต้องลงทุนทำดิลิเวอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

ขณะที่แหล่งข่าว “รายใหญ่” ฟู้ดดิลิเวอรี่ กล่าวว่า ค่า GP ที่ใช้อยู่ คิดคำนวณในอัตราที่เหมาะสม ให้ทุกฝ่ายในอีโคซิสเต็มได้รับประโยชน์ ขณะที่พร้อมควบคุมไม่ให้ค่า GP ส่งผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้สอดคล้องกฏเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม

โกเจ็ก พร้อมปรับให้เหมาะสม

สำหรับประเด็นค่า GP ในส่วน Gojek นายภิญญา กล่าวว่า การเก็บค่า GP จะมีอัตราที่หลากหลายไม่เท่ากันในแต่ละร้าน  ทว่าหากเป็นรายใหญ่ที่ทำตลาดร่วมกันสูงสุดจะอยู่ที่ 30% ขณะที่ พร้อมพูดคุยและทำงานกับรัฐบาลไทย และหากมีการปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์การทำธุรกิจก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ