สะกดรอย ตามหา "คนหาย" หายจากสิ่งไหน ตามจากสิ่งนั้น

สะกดรอย ตามหา "คนหาย"  หายจากสิ่งไหน ตามจากสิ่งนั้น

ถ้ามีคนในครอบครัวหายจะเริ่มต้นตามหาอย่างไร ศูนย์ข้อมูลคนหาย "มูลนิธิกระจกเงา" มีวิธีการสืบค้น บางครั้งใช้หลักวิทยาศาสตร์ บางเรื่องค้นหาจากจุดที่หายไป และเมื่อตามตัวเจอ หลายคนไม่อยากกลับบ้าน ...

"คนหายไม่เหมือนคนตาย เพราะคนตาย เราทำใจ แล้วเดินหน้าต่อได้ แต่คนหาย ครอบครัวไม่สามารถมีชีวิตเป็นปกติต่อไปได้ เขาจะปลอดภัยไหม กินอยู่ใช้ชีวิตยังไง ยิ่งตอนนี้มีโรคระบาดด้วย ยังมีความหวังอยู่ว่าจะได้เจอคนที่รัก ถ้าหายไป 10-20 ปีก็ยิ่งยาก สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกัน"

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานด้านนี้กว่า 20 ปี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานเกี่ยวกับคนหายให้ฟัง

  • คนหาย เปลี่ยนไปตามสังคม

"ถ้าเป็น 5-6 ปีก่อน เด็กหายมีมากสุด เหมือนกันทุกสังคมเมืองทั่วโลก เพราะสถาบันครอบครัวอ่อนแอ ดูแลเด็กไม่ดี ผลักดันให้เขาหนีออกจากบ้าน แต่ปัจจุบันโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อยลง คนอายุยืนขึ้น มีผู้สูงอายุหายมากขึ้น เนื่องจากเป็นอัลไซเมอร์ หลงลืม สมองเสื่อม หรือเป็นโรคจิตเวช" เอกลักษณ์ เล่า

มูลนิธิกระจกเงา เริ่มต้นช่วยเหลือสังคมจากเรื่องยาเสพติด เด็กไร้สัญชาติไม่ได้เรียนหนังสือ ในปี พ.ศ.2534 ที่ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ. 2545 กระทั่งมีแม่คนหนึ่งเดินมาบอกว่าลูกหายไป แนะนำให้ไปแจ้งความ เขาก็ไม่ไป เพราะเป็นคนชาติพันธุ์ ไม่มีเอกสาร ผ่านไปหนึ่งปี แม่คนเดิมกลับมาอีกครั้งบอกว่าลูกยังไม่กลับมา

160726306468 เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

เอกลักษณ์ เล่าว่า "เราเลยลงพื้นที่ตามหาเบาะแส พบว่ามีนายหน้ามาชวนไปทำงานที่สุทธิสาร ก็ไปพบแม่ค้าส้มตำเป็นนายหน้า จัดหาผู้ชายมาบังคับให้ขายบริการ เมื่อสำรวจข้อมูลตำบลนี้อีกครั้งพบว่า มีคนหายไป 20 กว่าคน แล้วทั้งประเทศจะมีเท่าไร

เลยย้ายโครงการมาทำที่กรุงเทพฯ ตั้งชื่อ  ศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ระยะหลังคนหายมีหลายสาเหตุ ทั้งเด็กหาย ผู้ใหญ่หาย ผัวเมียทะเลาะกัน เมียหนีผัว ผัวหนีเมีย คนหนีออกจากบ้านไปฆ่าตัวตาย เราจึงตัดคำว่า เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ออกเป็นศูนย์ข้อมูลคนหาย" 

ผ่านมาปีพ.ศ.2554 มูลนิธิกระจกเงา เงินทุนร่อยหรอ จึงไปพบตำรวจกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อบอกว่าจะเลิกทำงานนี้แล้ว ถ้ามีคนหายจะส่งต่อข้อมูลให้ เขาก็ให้เบอร์สายด่วน 1599 และ 1300 มา

"หลังปิดตัวปุ๊บ มีคนโทรมา เราให้โทรไปที่สองหมายเลขนี้ 20 นาทีเขาโทรกลับมาด่าเราว่า ให้เบอร์อะไรมา ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แค่รับแจ้งเอาไว้เฉยๆ เราเลยต้องช่วยเหลือบางเคส ที่เรามีทักษะ มีคอนเนคชั่น มีความรู้ ซึ่งการค้นหาของมูลนิธิกระจกเงามีแนวคิดว่า ‘หายจากสิ่งไหน ตามจากสิ่งนั้น’ ซักประวัติเหมือนหมอรักษาคนไข้ เป็นอะไรมา อายุ พฤติกรรมก่อนหาย สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อม ถ้าเด็กเล่นโทรศัพท์ เล่นเฟซบุ๊คก็ดูข้อมูลในเฟซบุ๊ค"

  • ใช้เทคโนโลยีช่วยตามหา

"จากสถิติการตามหาคนหายกับการพบเจอ พบเจอถึง 90% การเจอไม่ใช่จบแบบแฮปปี้ จบแบบไม่แฮปปี้ก็มี หรือแฮปปี้ที่สุดก็มี เด็กเผชิญอยู่ในโลกข้างนอก มันอันตรายสุดๆ มีคนมาให้เงินแล้วพาไปนอนด้วย หรือพาไปทำงาน แล้วไม่กลับมาอีกเลย

เคสที่เร็วที่สุดคือ เคสที่ให้คำแนะนำแล้วเขาทำตามก็เจอเลย เช่น ผู้สูงอายุหายในเมือง เขาจะเดินได้ไม่ไกล ยิ่งเดินข้างถนนแดดร้อนๆ แป๊บเดียวเป็นลม นั่งพัก มีพลเมืองดีพาไปโรงพัก โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ วนเวียนอยู่แบบนี้ 

ที่สำคัญเมื่อมีคนหาย แจ้งความได้เลยไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมง แล้วให้โรงพักนั้น ช่วยประสานงานกับโรงพักใกล้เคียงดูว่า มีใครนำตัวผู้สูงอายุมาส่งหรือเปล่า ตรวจสอบโรงพยาบาลใกล้เคียง ถ้ายังไม่เจอ เขาอาจนั่งแท็กซี่ไปก็ได้

วิธีสุดท้ายคือประกาศลงเฟซบุ๊ค" หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย เล่าและเน้นย้ำว่า คนมักใช้วิธีนี้เป็นวิธีแรก ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมีผลกระทบกับเด็กมากกว่าผู้สูงวัย

"การประกาศลงเฟซบุ๊ค จะเป็นดีเอ็นเอ(DNA) ฝังอยู่ในโลกออนไลน์ ต่อให้เจอเด็กแล้ว เด็กกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ภาพนั้นจะตามหลอกหลอนเด็กไปตลอดชีวิต แม้จะลบข้อความต้นฉบับหมดแล้ว แต่โลกออนไลน์มีคนทำซ้ำไว้เสมอ ถ้าเขาไปสมัครงานที่ไหน มีการตรวจสอบประวัติพบว่า เคยเป็นเด็กหาย ก็จะถูกตั้งแง่ทันที

ส่วนเคสที่นานที่สุด 13-15 ปี ตอนนี้ยังไม่เจอ เราขอให้ตำรวจช่วยสเก็ตช์ภาพจำลอง ทำ Age Progression ให้ ในทางกลับกัน มีเคสหนึ่ง เด็กหายมา ตามหาครอบครัว เราก็ใช้อุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลตำรวจมาเก็บเคส ขูดกระพุงแก้ม เก็บดีเอ็นเอ (DNA) ส่งไปไว้ที่ รพ.ตำรวจ

เมื่อพบพ่อของเขาก็เก็บดีเอ็นเอ (DNA) มา แล้วมาแมทชิ่งกัน ถ้าตรงกันก็เป็นพ่อลูกกัน เคสนี้เด็กหายไป 15 ปี สามารถนำกลับมาทำบัตรประชาชนเป็นคนไทยได้โดยสมบูรณ์ ตอนนี้เขาเป็นตัวหลักของครอบครัว ดูแลพ่อที่กำลังป่วย"

  • ป้องกันก่อนหาย

"การปล่อยบุตรหลานไปวิ่งเล่นคนเดียว ต้องดูว่าบริเวณนั้นมีแหล่งน้ำ มีจุดเกิดอุบัติเหตุอันตรายหรือเปล่า ในหมู่บ้านในชุมชนมีกล้องวงจรปิดไหม เด็กออกไป เดินผ่านหน้ากล้องหรือเปล่า

ออกไปคนเดียวหรือว่าออกไปกับใคร เมื่อสำรวจข้อมูลและแรงจูงใจที่ทำให้เด็กหายแล้ว ดูในพื้นที่แล้วไม่เจอ ก็ไปแจ้งความที่โรงพักได้ทันที โดยไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมง"

กรณีผู้สูงอายุหาย ให้ตรวจดูบริเวณหน้าบ้าน ในบ้าน หลังบ้าน พื้นที่รอบๆ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ จากนั้นดูกล้องวงจรปิดว่า เดินไปจุดไหนยังไง แล้วไปแจ้งความ ตรวจสอบตามโรงพัก โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ ที่อยู่รอบๆ

"ตอนนี้เราทำริสแบนด์ให้กับครอบครัวที่มาลงทะเบียนไว้ 1,000 ครอบครัว เวลาเขาพลัดหลงที่ไหน พลเมืองดีสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและโทรศัพท์มาหาเจ้าหน้าที่ได้เลย เมื่อบอกรหัสในริสแบนด์ เราก็รู้ว่าผู้ป่วยคนไหน จะโทรไปเช็คที่ญาติว่า ตอนนี้ผู้ป่วยอยู่บ้านหรือเปล่า หายออกจากบ้านหรือเปล่า

เพราะบางทีริสแบนด์อาจไปอยู่ที่คนอื่นก็ได้ มีคนพลัดหลงใส่ริสแบนด์ แล้วพลเมืองดีเจอนำส่งกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยมีถึง 10 ราย ครอบครัวไหนอยากทำริสแบนด์ให้เข้าไปที่ http://thaimissing.backtohome.org/register ลงทะเบียนรับสายรัดข้อมือ ‘หาย(ไม่)ห่วง’ ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ" เอกลักษณ์ เล่า

อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ เล่าถึงคนหายในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีกรณีฆาตกรรมต่อเนื่องถูกจับตัวไปรักษากับจิตแพทย์ เมื่อรักษาไม่หาย พอเขาสารภาพ ก็พ้นโทษ ถูกปล่อยตัวออกมา จึงมีการแก้ปัญหาด้วยการติดตามคนกลุ่มนี้ว่าไปที่ไหน โดยต้องไปลงทะเบียนกับโรงพักในพื้นที่

"บางรัฐถึงกับประกาศในเว็บไซด์ว่า บุคคลนี้อยู่ในชุมชน ให้ทุกคนเฝ้าระวังบุตรหลานของตัวเอง เมื่อควบคุมตัวในคุกไม่ได้ ปล่อยออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ก็ต้องให้คนข้างนอกระมัดระวังตัวเอง ในเมืองไทยยังไม่มีแบบนี้ ทั้งๆ ที่ระบบราชทัณฑ์สามารถทำได้ ด้วยการแก้ไขให้มีการติดตามตัวคนที่พ้นโทษแล้วจะได้เฝ้าระวัง"