'ศุลกากรผ่านแดนอาเซียน'ตัวช่วยเพิ่มการค้าทางบก

'ศุลกากรผ่านแดนอาเซียน'ตัวช่วยเพิ่มการค้าทางบก

'ศุลกากรผ่านแดนอาเซียน'ตัวช่วยเพิ่มการค้าทางบก ขณะอียูสนับสนุนการพัฒนาระบบ ACTS เพื่อนำมาใช้ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และด้านภาษีของอาเซียน

การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ล่าสุด อาเซียนได้ประกาศใช้พิธีการศุลกากรออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน” (ASEAN Customs Transit System : ACTS) เพื่ออำนวยความสะดวกบริเวณจุดผ่านแดน และเพิ่มมูลค่าการค้าทางบก ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั้งยังเป็นการผลักดันไปสู่เป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย

"ลิม จ๊อก ฮอย" เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ในช่วงที่หลายประเทศกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ระบบ ACTS จะมีบทบาทสำคัญด้านการอำนวยความสะดวก ให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปด้วยความราบรื่น ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมาย 2 ประการ ในการลดค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมการค้าลงถึง 10% ภายในปี 2563 และเพิ่มการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสองเท่าจากปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 5 ล้านล้านดอลลาร์

"ระบบนี้สามารถช่วยเร่งรัดการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็นประเภทเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงกรณีที่มีวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถกระจายวัคซีนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว" เลขาฯอาเซียนระบุ และเชื่อว่า ระบบ ACTS จะเป็นเครื่องมือยอดเยี่ยมในการเพิ่มปริมาณการค้าและเครือข่ายการผลิตของอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดตั้งตลาดที่รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการและผู้ซื้อสินค้าในอาเซียน

"อีกอร์ ดรีมันส์ฎ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำอาเซียน กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ร่วมมือกับอาเซียนเพื่อพัฒนาระบบ ACTS ให้สามารถใช้งานได้จริง พร้อมกับสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเงินทุนเป็นมูลค่า 10 ล้านยูโร เพื่อให้ประเทศในสมาชิกอาเซียนได้ใช้ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ในการส่งเสริมศักยภาพด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างภูมิภาคให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

160704209468

ระบบ ACTS เป็นการริเริ่มอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าในอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงการอำนวยความสะดวกให้สินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และพิมพ์เขียวการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปผ่านทาง EU-funded ARISE Plus โดยได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกกับการค้า การลงทุน และการบริการให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน

"ภายใต้แนวคิดนี้ อียูสนับสนุนการพัฒนาระบบ ACTS นำมาใช้สำหรับช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และด้านภาษีของอาเซียน โดยภาคธุรกิจสามารถยื่นรายการขนส่งสินค้าได้โดยตรงกับหน่วยงาน ผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำได้ง่าย และสะดวก ขณะเดียวกันยังเหมะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะลดการสัมผัส" เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำอาเซียนกล่าว

"คูน ดูนส์" ผู้อำนวยการใหญ่ด้านความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวเสริมว่า ระบบ ACTS จะช่วยเชื่อมโยงการค้าในอาเซียน และช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าตลอดพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมี 6 ประเทศเริ่มใช้ระบบ ACTS อย่างเป็นทางการได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ขณะที่เมียนมาเตรียมจะใช้ระบบนี้ในปี 2564 และอาจขยายต่อไปยังบรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังศึกษาและวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ ACTS

ก่อนหน้านี้ ได้มีการทดลองระบบในประเทศต่างๆ ซึ่งมี ARISE Plus โดยให้การฝึกอบรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ ACTS ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านศุลกากร หน่วยงานการขนส่งของรัฐ ผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ผู้ขนส่งสินค้า และบริษัทประกันภัย

"บางประเทศเริ่มใช้งานระบบอย่างเป็นทางการสำหรับการใช้งานทั่วไป เมื่อวันที่23 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของขบวนการการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยระบบ ACTS โดยมีรถบรรทุกเดินทางจากสิงคโปร์ผ่านมาเลเซีย มายังประเทศไทย พบว่า ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของการค้าข้ามพรมแดนในอาเซียนได้" ดูนส์ ระบุ

"ยอกกี นูกาฮาวัน" ประธานสมาพันธ์ผู้ส่งออกแห่งอาเซียน กล่าวว่า ชุมชนการขนส่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากระบบนี้ ซึ่งระบบ ACTS จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ เนื่องจากเป็นระบบที่แสดงการควบคุมการขนส่งทุกขั้นตอน และทำให้ระบบศุลกากรเป็นเรื่องง่ายดายกับสมาชิกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ ระบบจะแสดงเวลาการจัดส่งสินค้าไปยังสถานที่จุดหมายปลายทาง และคาดการณ์วันเวลาของการจัดส่งอย่างแม่นย้ำ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนสามารถแจ้งดjานศุลกากรครั้งเดียวสำหรับการขนส่งสินค้า ซึ่งจะครอบคลุมการขนส่งสินค้าทั้งหมดในประเทศอาเซียนหลายประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งด่านศุลกากรซ้ำ หรือเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งทุกจุดพรมแดนของแต่ละประเทศ

ระบบปฏิบัติการแบบพิเศษนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไว้วางใจกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างไม่ต้องกังวล เพราะรู้ตำแหน่งจุดที่เริ่มบรรทุกสินค้าในประเทศที่ส่งออก และส่งสินค้าไปยังสถานที่ตั้งของตน ณ จุดหมายปลายทาง ขณะที่ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่กระชับรวดเร็วขึ้นเพราะทำผ่านออนไลน์ ทำให้การส่งสินค้าข้ามพรมแดนเร็วขึ้น เป็นประโยชน์กับผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้าทั้งภูมิภาคอาเซียน