ซีดีซีเผยเกณฑ์รับวัคซีนแนะลดกักตัวไม่ถึง14วัน

ซีดีซีเผยเกณฑ์รับวัคซีนแนะลดกักตัวไม่ถึง14วัน

คณะกรรมการที่ปรึกษาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ(ซีดีซี )เผยเกณฑ์ของประชากรกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเป็นกลุ่มผู้ทำงานการแพทย์ และผู้ทำหน้าที่พยาบาลตามบ้านพักคนชรา

คณะกรรมการที่ปรึกษาลงมติ 13 ต่อ 1 เสียง เมื่อวันอังคาร(1ธ.ค.)ให้ทั้ง2กลุ่มประชากร ซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 24 ล้านคน รับวัคซีนได้ทันทีเมื่อมีการอนุมัติให้ทำการแจกจ่ายต่อประชากรได้ ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนชุดเเรกจำนวน 40 ล้านโดส พร้อมใช้ในสหรัฐก่อนสิ้นปีนี้ จากผู้ผลิตสองรายคือบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่าปริมาณวัคซีนต้านโรคโควิด-19 น่าจะเพียงพอสำหรับผู้ทำหน้าที่พยาบาลตามบ้านพักคนชราจำนวน 3 ล้านคนและคนส่วนใหญ่ที่ทำงานด้านการแพทย์ 21 ล้านคน หากพิจารณาว่าวัคซีนของทั้งสองบริษัท ต้องใช้สองโดสต่อผู้รับวัคซีนแต่ละราย โดยเว้นช่วงการฉีดเข็มแรกและเข็มที่สองเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์

เจ้าหน้าที่ด้านวัคซีนของรัฐบาลกลางสหรัฐ กล่าวว่าในต้นปีหน้า สหรัฐน่าจะผลิตและจัดส่งวัคซีนได้ในปริมาณเดือนละ 70 ล้านโดส และถ้ามีบริษัทอื่นที่สามารถผลิตวัคซีนและได้รับอนุมัติด้านความปลอดภัยเพิ่ม สหรัฐอาจจะสามารถผลิตวัคซีนได้ในปริมาณเดือนละ 150 ล้านโดสในเดือนมี.ค.

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเม.ย. พ.ค.และมิ.ย. มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนต้านโควิดจะมีเพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปในสหรัฐ ที่ไม่ได้เป็นผู้สูงอายุหรือไม่ได้ทำงานที่ถูกระบุว่าเป็นอาชีพที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

การกำหนดเกณฑ์เมื่อวันอังคารสำหรับประชากรที่จะได้รับวัคซีนชุดแรก มีขึ้นในขณะที่สหรัฐพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 4,360,000 คน ในเดือนพ.ย. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มจากเดือนต.ค.ประมาณสองเท่า

ในการลงมติ 13 ต่อ 1 เสียงของคณะกรรมการที่ปรึกษาซีดีซี เสียงที่ไม่เห็นด้วยสำหรับการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวคือ เเพทย์หญิง เฮเลน ทัลบ็อต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยเเวนเดอร์บิล์ท โดยเธอไม่เห็นด้วยที่ผู้ทำงานด้านการพยาบาลตามบ้านพักคนชรา จะเป็นกลุ่มเเรกที่จะได้รับวัคซีนเพราะ ยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อคนกลุ่มดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อวันพุธ(2ธ.ค.) ซีดีซีประกาศว่า จำนวนวันของการกักตัวเพื่อดูอาการสำหรับผู้ที่อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจลดลงจาก 14 วัน เป็น 10 วัน หรือ 7 วันได้ หากผู้ถูกกักตัวตรวจไม่พบเชื้อไวรัสดังกล่าว แต่ซีดีซี ยังคงยืนยันว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ไม่ควรน้อยกว่า 14 วัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) และในระหว่างกักตัวต้องเข้ารับการตรวจตามกำหนด

ข้อคิดเห็นของซีดีซีเกี่ยวกับจำนวนวันกักตัวมีขึ้นหลังจากมีงานวิจัยออกมามากขึ้น ว่าอาการป่วยของโรคโควิด-19 มักเกิดขึ้นภายในช่วง 5 วันแรก นับตั้งแต่ได้รับเชื้อ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้หากจะลดระยะเวลากักตัวลงมาอยู่ที่ 10 วัน ในกรณีบุคคลนั้นไม่ได้เข้ารับการตรวจ แต่ภายในเวลาเดียวกันไม่แสดงอาการของโรค และจะลดลงอีกเหลือ 7 วัน ในกรณีผลตรวจเป็นลบ และตลอดเวลานั้นไม่แสดงอาการของโรค

แต่บุคคลต้องมีความระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินชีวิต และการสังเกตอาการของตัวเองเป็นระยะๆ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงในอัตรา 1 ถึง 12% ต่อการที่บุคคลที่ออกจากการกักตัวก่อนครบ 14 วัน จะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับบุคคลรอบข้าง

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ รายงานยอดติดเชื้อโควิด-19 ของสหรัฐ ในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด จนถึงเวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ ซึ่งตรงกับเวลา 08.30 น. วันพฤหัสบดี(3ธ.ค.)ตามเวลาประเทศไทย ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 195,121 คน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมจากโรคโควิด-19 ในสหรัฐ เพิ่มเป็นกว่า 14 ล้านคน ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 273,181 คน เพิ่มขึ้น 2,731 คน มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ข้อมูลจากโควิด แทร็กกิง โปรเจค( Covid Tracking Project) ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลมีจำนวนมากถึง 100,226 ราย ซึ่งสูงกว่าระดับ 100,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด

นายโรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวว่า ในช่วงเดือนธ.ค.ปีนี้ และเดือนม.ค.-ก.พ.ปีหน้า ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุขของสหรัฐ