ธปท.ปรับเกณฑ์ตราสาร เอื้อแบงก์เพิ่มเงินกองทุน หนุนปล่อยกู้

ธปท.ปรับเกณฑ์ตราสาร เอื้อแบงก์เพิ่มเงินกองทุน หนุนปล่อยกู้

ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงิน ที่ใช้สำหรับดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ เปิดทางระดมทุนง่ายและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อดูแลเศรษฐกิจมากขึ้น

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ธปท. ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างระดับเงินกองทุนให้สูงขึ้นในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการปรับปรุงเกณฑ์ให้กลับมาเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์สากล แม้ว่าระดับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง โดย ณ กันยายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 19.43%

เกณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงได้แก่ 1.ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่ไม่มีกำหนดเวลาการชำระคืน ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหากบีไอเอส เรโช ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าที่ธปท.กำหนด

2. ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 หรือ Tier 2 (T2) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี ให้ยกเลิกข้อกำหนดสิทธิให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนเวลาการชำระดอกเบี้ยได้

เอื้อแบงก์ปล่อยกู้-ปันผล

 สำหรับประโยชน์ของการปรับหลักเกณฑ์นี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับผลตอบแทน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องสูงขึ้น ช่วยเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ปัจจุบัน ธปท.กำหนด ให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ 8.5% และให้ดํารงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติเพิ่มอีก 2.5% ทำให้โดยรวมธนาคารต้องดำรงเงินกองทุนที่ 11% แต่หากเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรือ 5 แบงก์ใหญ่ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย จะต้องดำรงเงินกองทุนที่ 12%

เชื่อสร้างความเชื่อมั่น

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ตราสารทางการเงิน ของธปท.ครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจต่อระบบการเงิน และนักลงทุนมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้สถาบันการเงินจ่ายเงินปันผลได้ หากมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด รวมไปถึงการยกเลิกการเลื่อนชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ของแบงก์ เหล่านี้ทำให้แบงก์มีโอกาสกลับมาระดมทุนได้ง่ายมากขึ้น และนักลงทุนเชื่อมั่นในการเข้ามาซื้อหุ้นกู้ได้มากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมีโอกาสขายหุ้นกู้ได้มากขึ้น

ดังนั้นเมื่อสามารถเพิ่มเงินกองทุน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบแบงก์มากขึ้น ทำให้แบงก์มีความสามารถในการรับความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าได้มากขึ้น ที่จะเป็นโจทย์สำคัญที่แบงก์ต้องเผชิญในระยะข้างหน้า รวมถึงรองรับการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้า โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ทำให้แบงก์มีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น กล้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น

“การประกาศของธปท.ถือว่าสอดคล้องกับต่างประเทศ ที่เริ่มคลายเกณฑ์ตรงนี้ เพราะที่ผ่านมามีการระงับการจ่ายปันผล และการเลื่อนชำระดอกเบี้ย ดังนั้นตรงนี้ จะช่วยแบงก์มากขึ้น ให้มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น พอเงินกองทุนเยอะแบงก์ก็กล้าปล่อยกู้มากขึ้น ก็ดีต่อระบบโดยรวมให้สามารถขับเคลื่อนได้”

คลังยันมีเงินพอดูแลพิษโควิด

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิกเผยว่า นโยบายการคลังยังมีเม็ดเงินเพียงพอ ที่ใช้ดูแลและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ได้ด้วยพ.ร.ก. เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้าน ปัจจุบันมีการเบิกจ่านเบิกจ่ายแล้ว 3.2 แสนล้านบาท ยังเหลือเงินอีกราว 6.8 แสนล้านบาท สำหรับในปีนี้และปีหน้า ยังเพียงพอรองรับสถานการณ์โควิด-19 ได้ 

อีกทั้งยังมีแหล่งเงินของรัฐเพื่อบริการจัดการโควิด-19 อีก 2 ส่วน คือการโอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 8.84 หมื่นล้านบาท มาเป็นงบกลางสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และงบรายจ่ายปี 2564 รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในส่วนของงบกลาง วงเงิน 1.39 แสนล้านบาท แบ่ง เป็นเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาผลกระทบวงเงิน 4.03 หมื่นล้านบาท