สัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียตกต่ำฉุดรายได้'ธุรกิจไวน์'ดิ่ง

สัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียตกต่ำฉุดรายได้'ธุรกิจไวน์'ดิ่ง

สัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียตกต่ำฉุดรายได้'ธุรกิจไวน์'ดิ่ง ขณะผู้ผลิตไวน์เริ่มมองหาตลาดอื่นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป เช่น ตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะสั่งซื้อไวน์ออสเตรเลียในปริมาณไม่มากก็ตาม

อุตสาหกรรมไวน์ในออสเตรเลียได้รับผลกระทบทันทีหลังจากกระทรวงพาณิชย์จีน ประกาศเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียในช่วง 107.1-212.1% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการที่ถือเป็นการตอบโต้ออสเตรเลียของรัฐบาลปักกิ่งครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การค้าของสองประเทศยังคงตึงเครียด โดยจีนเป็นประเทศที่นำเข้าไวน์ออสเตรเลียมากที่สุด

ก่อนหน้าที่จีนจะเก็บภาษีไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียในอัตราสูงขนาดนี้นั้น จีนได้ทำการสอบสวนการนำเข้าไวน์ออสเตรเลียในกรณีการทุ่มตลาดและการให้เงินอุดหนุน โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียสั่งแบนบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีของจีนออกจากการมีส่วนร่วมในโครงข่าย 5จี ของออสเตรเลีย

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเรียกร้องให้จีนเปิดทางให้คณะผู้ตรวจสอบจากนานาประเทศเข้าไปสืบค้นหาต้นตอของโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีน และจีนได้เริ่มใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการระงับนำเข้าเนื้อวัวบางส่วนจากออสเตรเลีย และเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลียในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสอบพฤติกรรมการทุ่มตลาด

"เดวิด ลิตเติลพราวด์" รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียจะดำเนินการเพื่อปกป้องตัวเองในประเด็นนี้อย่างเต็มที่ผ่านทางองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เนื่องจากอัตราภาษีที่จีนเรียกเก็บนั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก

160695402924

ขณะที่ดัชนีหุ้นออสเตรเลียปิดตลาดวันจันทร์(30พ.ย.)ปรับตัวร่วงลงและเป็นการปิดตลาดแดนลบเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยดัชนี S&P/ASX 200 ปิดที่ 6,517.80 จุด ลดลง 83.30 หรือ -1.26% ดัชนี ALL ORDINARIES ตลาดหุ้นออสเตรเลียปิดที่ 6,742.10 จุด ลดลง 74.70 จุด, -1.10%

จีนครองสัดส่วน 39% ของตลาดส่งออกไวน์โดยรวมของออสเตรเลียที่มีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย มากกว่ามูลค่าการส่งออกไวน์ของ4ตลาดใหญ่สุดคือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดาและนิวซีแลนด์รวมกัน และหลังจากจีนเรียกเก็บภาษีไวน์ออสเตรเลียในอัตราสูงลิ่ว บรรดาผู้ผลิตไวน์ต่างมองหาตลาดอื่นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป เช่น ตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะสั่งซื้อไวน์ออสเตรเลียในปริมาณไม่มากก็ตาม

ในช่วง 5ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียส่งออกไวน์ไปตลาดจีนแซงหน้าไวน์จากฝรั่งเศส โดยเฉพาะไวน์แดงสำหรับตลาดบนที่มีราคากว่า 30 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อลิตร แต่ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆระหว่างทางการออสเตรเลียและทางการปักกิ่ง อาจจะทำให้ยอดการส่งออกไวน์ไปจีนลดลงอย่างมากและขณะนี้มีตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกไวน์จากออสเตรเลียติดค้างที่ท่าเรือหลายร้อยตู้เพราะคำสั่งให้ผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นของจีนระงับการสั่งซื้อไวน์จากออสเตรเลียรวมทั้งการประกาศเรียกเก็บภาษีไวน์นำเข้าจากออสเตรเลีย

. “ท้ายที่สุดแล้วการดำเนินการในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อจีนเองเพราะจีนมีนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งจีนเองไม่ต้องการให้สองภาคส่วนนี้อยู่ในภาวะระส่ำระสายเพราะจะส่งผลกระทบไปถึงสถานะของชนชั้นกลางในจีนด้วย”ศาสตราจารย์ทิม ฮาร์คอร์ท จากบิสสิเนส สคูล มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ให้ความเห็น

ที่สำคัญการประกาศเรียกเก็บภาษีไวน์นำเข้าของจีนครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับอุตสาหกรรมไวน์ ที่เพิ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วที่สร้างความเสียหายแก่ไร่องุ่นจำนวนมาก

“ตามปกติแล้ว เดือนต.ค.เป็นช่วงเวลาของการขายไวน์ได้มากที่สุดเพื่อให้ทันกับช่วงตรุษจีนที่ชาวจีนนิยมดื่มไวน์ฉลองในเทศกาลสำคัญนี้ แต่ปีนี่้เราไม่ได้ขายไวน์ตามที่วางแผนไว้”เจมส์ ร็อบสัน เจ้าของบริษัทรอสส์ ฮิลล์ ไวน์ ซึ่งส่งออกไวน์ไปประเทศจีนประมาณหนึ่งในห้า กล่าว

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งทางการเมืองและธุรกิจกับจีนของรัฐบาลออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลยนานถึง 29 ปีติดต่อกัน จนมาถึงปี2563 ที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดทั่วโลก และรัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการทุกด้านที่มุ่งเน้นรักษาสมดุลด้านการค้ากับจีนและมีความสัมพันธุ์ทางทหารกับสหรัฐ

แต่มุมมองด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอริสัน เปลี่ยนไปเยอะมาก โดยแหล่งข่าวในรัฐบาลออสเตรเลียบอกว่าสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า มุมมองด้านความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่ด้านการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่าจีนมีความเสี่ยงต่ออำนาจอธิปไตยและประชาธิปไตยของออเสตรเลียด้วย

และดูเหมือนว่าประเด็นที่เปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้จีนไม่พอใจออสเตรเลียอย่างมากมาจากการที่ออสเตรเลียล็อบบี้บรรดาผู้นำโลก 137 ประเทศในที่ประชุมสมัชชาสาธารณสุขโลก ให้มีการไต่สวนต้นตอการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนเม.ย.และทั่วโลกต่างสนับสนุนข้อเสนอนี้ และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการอิสระนำโดยนางเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และนายเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรออสเตรเลียหลายด้าน รวมทั้งห้ามนักศึกษาชาวจีนเดินทางไปศึกษาต่อในออสเตรเลีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติในออสเตรเลียที่มีมูลค่า2.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า จีนถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่สุดของออสเตรเลีย มีสัดส่วนประมาณ 32.6% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม คิดเป็นมูลค่า 1.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าออสเตรเลียพึ่งพาการค้าจากจีนมากเกินไป