เบื้องลึกศึกในบีบ“สุดารัตน์” จับตารวมทีมตั้ง“พรรคใหม่”

เบื้องลึกศึกในบีบ“สุดารัตน์” จับตารวมทีมตั้ง“พรรคใหม่”

ในเมื่อยังไปไม่ถึงเป้าหมายการเมือง ความเคลื่อนไหวของ “สุดารัตน์” จึงถูกจับตา โดยเฉพาะการตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง โดยมีทางเลือกใหม่ ที่อาจใช้หัว “พรรคสร้างไทย” หรือ “พรรคฟ้าดิน”

ศึกในพรรคเพื่อไทย อาจจะไม่จบแค่ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และ “บิ๊กเนม” อาทิ โภคิน พลกุล วัฒนา เมืองสุข พงศกร อรรณนพพร ที่จำใจต้องเดินออกจากพรรค ยังมีทั้ง “บิ๊กเนม-โนเนม” อีกหลายคนที่เล็งจะตามออกไป ยกเว้นบรรดา “สายตรงสุดารัตน์" ที่ยังมีตำแหน่ง ส.ส. อาจต้องจำทนอยู่ในพรรคเพื่อไทยต่อ รอวันแยกตัวเป็นอิสระ

บรรยากาศภายในพรรคเพื่อไทย แบ่งขั้วชัดเจนมากขึ้น ภายหลังที่ “2 หมอ 1 เสี่ย” ประกอบด้วย “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “เสี่ยอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย เข้ามาจัดแจง-จัดการ ยึดอำนาจการบริหารพรรคเพื่อไทยได้ทั้งหมด

“มิ้ง-เลี้ยบ-อ้วน” มากัน 3 คน แต่ทรงพลัง เพราะว่ากันว่า เบื้องหลังของ “3 สหายคนตุลาฯ” คือ “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ 

เมื่อได้ดาบอาญาสิทธิ์จาก “นายหญิง” เจ้าของพรรค ให้บริหารจัดการ พร้อมวางยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด สิ่งแรกที่ “3 สหายคนเดือนตุลาฯ” คือ ล้างไพ่ขั้วอำนาจเก่าให้หมดสิ้น แล้วแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามายึดหัวหาดพรรคในทุกตำแหน่ง

ว่ากันว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ “สุดารัตน์” ต้องหอบข้าวของออกจากพรรคเพื่อไทย คือถูกกีดกันไม่ให้ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ.) รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ ที่ไร้เงา“สายตรง”เข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ

หากย้อนไปในอดีต “สุดารัตน์” เกือบลาขาดพรรคเพื่อไทยมาแล้วหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่พ่ายศึกจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังพอเข้าใจได้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ถือไพ่เป็นต่อ มี 250 ส.ว. เป็นแบ็คอัพ จึงยากที่จะเอาชนะได้

ครั้งต่อมา หลังจากพ่ายเลือกตั้งซ่อมที่ ธนิก มาสีพิทักษ์ จากพรรคเพื่อไทย ถูก สมศักดิ์ คุณเงิน จากพรรคพลังประชารัฐ ยึดพื้นที่ไปได้ ทั้งที่สุดารัตน์ทุ่มเท ลุยพื้นที่หาเสียงตั้งแต่วันแรกจนวันกาบัตร ต่อมาจึงมีข่าวปล่อยตามมาว่า “สุดารัตน์” จะขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

จนกระทั่งปรากฎภาพ “คุณหญิงพจมาน” กราบสะท้านแผ่นดิน กระบวนการจัดระเบียบพรรคเพื่อไทย จึงเกิดขึ้น

“สุดารัตน์” รู้ชะตากรรม จึงยอมหลีกทาง ลงเก้าอี้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค บรรดาลูกทีมก็พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคทันทีที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม้ “สมพงษ์” จะถูกโหวตกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้ง แต่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทบจะไร้เงาก๊วน“สุดารัตน์”

“สุดารัตน์” ยอมกลืนเลือด จำใจอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยต่อ ทั้งที่ในใจรู้ดีว่า ไม่มีโอกาสกลับมาผงาดได้อีก แต่มีความหวังอยู่ที่ “ศึกเลือกผู้ว่าฯกทม.” ที่คิดว่า อย่างไรเสียพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องใช้บริการ “เจ้าแม่กทม.” แต่อีกด้านก็เห็นสัญญาณว่า โอกาสที่ “3 สหายคนตุลาฯ” จะไม่เรียกใช้ก็มีสูง

เพราะหาก “สุดารัตน์” ชนะศึกเลือกผู้ว่าฯ กทม. ย่อมมีโอกาสที่จะกลับมาผงาดอีกครั้ง “3 สหายคนตุลาฯ” จึงวางเกมตัดไฟเสียต้นล้ม โดยมีแนวคิดไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง แต่จะแอบหนุน “กลุ่มการเมืองสีส้ม” เพราะอ่านกระแสแล้ว หากหนุนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย โอกาสชนะมีน้อย และอาจตัดคะแนนกันเอง

จึงใช้เป็นเหตุผลสำคัญ สายตรงส่งสัญญาณไปยัง “นายใหญ่-นายหญิง” 

กระทั่งเรื่องนี้รู้ไปถึงหู “สุดารัตน์” จึงเป็นเหตุสุดท้าย ที่ทำให้ตัดสินใจยื่นใบลาออก ทางใครทางมัน

ขณะที่ กรณี “โภคิน พลกุล” อาจต่างไป ตรงที่มีปัญหา “จุดยืนการทำงาน” ที่เห็นต่างกับ “ภูมิธรรม” โดยเฉพาะระยะหลังที่อิงกระแสสารพัดม็อบ ดังนั้นแนวทางการทำงานในหลักการจึงไปกันไม่ได้ เพราะโภคินมองว่า แนวทางของภูมิธรรม ไม่ได้ทำให้พรรคชนะอย่างยั่งยืน

ส่วน “วัฒนา เมืองสุข” ที่ระยะหลังกลับมามีบทบาทและหน้าที่ในพรรค เพราะ “สุดารัตน์” ดึงมาช่วยดูทีมงานภายในพรรค แต่เมื่อ “สุดารัตน์” ไม่อยู่ “วัฒนา” จึงไขก๊อกตามไปด้วย

ขณะที่ “พงศกร อรรณนพพร” แม้จะสายตรงบ้านใหญ่-บ้านรอง แต่เมื่อถูก “3 สหายคนตุลาฯ” ลดบทบาทอย่างหนัก จึงฉวยจังหวะนี้ถอยฉากออกไปอีกราย

ในเมื่อยังไปไม่ถึงเป้าหมายการเมือง ความเคลื่อนไหวของ “สุดารัตน์” จึงถูกจับตา โดยเฉพาะการตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง โดยมีทางเลือกใหม่ ที่อาจใช้หัว “พรรคสร้างไทย” หรือ “พรรคฟ้าดิน” และต้องจับตา “มูลนิธิไทยพึ่งไทย” ที่สุดารัตน์ปั้นเครือข่ายมากับมือ อาจเดินงานคู่ขนานกันไปด้วยกิจกรรมช่วยเหลือสังคม สั่งสมกระแสการเมือง เพราะยังมีอีกหลายสนามเลือกตั้ง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติรออยู่

ส่วนบทสรุปของ “พรรคเพื่อไทย” หลังจากแพแตกเที่ยวนี้ ก็ต้องจับตาว่า “ส.ส.สายตรงสุดารัตน์” และ “บิ๊กเนม-โนเนม” แนวร่วม จะตัดสินใจร่วมทีมเริ่มต้นสร้างพรรคใหม่ไปด้วยกันหรือไม่