เลือก 'ประกัน' ยังไง ให้เหมาะกับตัวเอง และได้ประโยชน์สูงสุด

เลือก 'ประกัน' ยังไง ให้เหมาะกับตัวเอง และได้ประโยชน์สูงสุด

ทำความเข้าใจ "ประกัน" ใน 4 มิติ ก่อนเลือกซื้อประกัน ที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อประกัน ที่คุ้มค่า เหมาะสมกับตัวเอง และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น

"ประกัน" แต่ละประเภทก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป การเลือกประกันจึงไม่ใช่อะไรก็ได้ และไม่มีประกันไหนที่เจ๋งสำหรับทุกคน การเลือกประกันให้เหมาะ และไม่สับสนกับคำเชิญชวนหรือคำโฆษณาจากคนอื่นๆ จึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจ "ผลิตภัณฑ์ประกัน" ก่อนตัดสินใจ

เพราพรรณ วัชรกาฬ นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวในงาน "Wealth Forum ลงทุนอย่างไร...ให้รวย?" ถึงการเลือก "ประกัน" สำหรับที่กำลังมองหาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน 

ประกันไม่ทำให้คุณรวยขึ้น แต่ประกันจะไม่ทำให้คุณจนลง

เพราพรรณ อธิบายลักษณะของการทำ "ประกัน" ในภาพรวมให้เข้าใจง่ายๆ ว่าประกันไม่ทำให้รวยขึ้น แต่ประกันจะไม่ทำให้จนลง นั่นหมายความว่า ประกันจะทำหน้าที่ปกป้องความมั่งคั่งที่เราหามาได้ให้อยู่กับเราได้นานๆซึ่ง "3 เรื่องหลักที่ประกัน ช่วยดูแลด้านการเงิน" คือ 

1. ถ้าเจ็บป่วยหนักทำยังไงให้มีเงินรักษามากพอ

2. ถ้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คนข้างหลังจะไม่เดือดร้อน ลูกต้องได้เรียนต่อจนจบ คนในครอบครัวจะต้องมีเงินใช้อยู่ได้ ตายไปภาระหนี้ไม่ตกถึงลูก

3. ถ้าอยู่ยาวเราต้องอยู่ได้ แก่ไปต้องมีเงินใช้มากพอ

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อประกัน โดยเฉพาะประกันฉบับแรก ควรจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจลักษณะของประกันประเภทต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับตัวเอง 

โดย ประกันมีคุณสมบัติที่ช่วยเรื่องการจัดการเงินได้ใน 4 มิติ ที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา ดังนี้

160689114221

 1. คุ้มครองสุขภาพ 

ประกันที่คุ้มครองสุขภาพ คือประกันประเภท "ประกันสุขภาพ" "ประกันโรคร้าย" ซึ่งจะครอบคลุมปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเจอ นั่นคือค่าใช้จ่ายสุขภาพโต 7-8% ต่อปี โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับคนที่สนใจทำประกันสุขภาพ ต้องมอง 4 เรื่องนี้เป็นหลัก เพื่อให้เห็นภาพชัดว่า การทำประกันสุขภาพของเรานั้นควรครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ประกอบด้วย

- จะใช้สิทธิรักษาที่โรงพยาบาลไหนได้บ้าง ครอบคลุมค่าห้อง หรือค่ารักษาโรคใดได้บ้าง โดยเบื้องต้น สำหรับผู้ที่มีสิทธิรักษาจากสวัสดิการในฐานะของพนักงานบริษัทอยู่แล้ว ลองตรวจสอบว่า สิทธิที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ก่อนทำประกันเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของตัวเอง

- ค่าชดเชยรายได้ ในกรณีที่ทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจของตัวเอง ถ้าป่วยแล้วทำงานไม่ได้สูญเสียรายได้

- เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ซึ่งปัจจุบันโรคร้ายแรงเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยได้ เช่นกัน

- ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร นอนกับที่ทำไรไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ แม้โอกาสเกิดต่ำมาก แต่ถ้าเป็นจะเกิดผลกระทบเยอะมากเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอาจจะส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวมาก และต้องใช้เงินดูแลจำนวนมากหากไม่มีประกันคุ้มครอง

ให้เริ่มจากวิเคราะห์ตัวเองแล้วไปเลือกสินค้าที่เหมาะกับเรา ประกันสุขภาพเสียทิ้ง แต่ไม่มีทางรู้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดหรือไม่เกิด ถ้ามันเกิด จะควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย แต่การที่เรารู้ค่าใช้จ่าย รู้เบี้ยที่ชัดเจน เราจะมีต้นทุนในการประกันสุขภาพเท่าไร เรากำหนดตัวเองได้ กำหนดต้นทุนและแพคเกจที่เหมาะสม

 2. ทุนประกันคุ้มครองชีวิต 

ปัจจุบันคนไทยทำ "ประกันชีวิต" จำนวนมาก แต่ปัญหาที่พบ คือ ทุนประกันแค่หลักแสน ซึ่งตามความเป็นจริงอาจไม่เพียงพอสำหรับดูแลคนที่อยู่ข้างหลัง 

การทำประกันลักษณะนี้ จะต้องเริ่มต้นจากการถามตัวเองก่อนว่า ทุนประกันชีวิตเท่าไรถึงจะพอสำหรับคนในครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่และต้องการการดูแล

ดังนั้น เวลาซื้อประกันให้เหมาะกับเราเอง โดยอาจคำนวณจะทุนประกันที่เหมาะสม เช่น อาจคำนวณทุนประกันจาก 60% ของรายได้ ทำงานอีกกี่ปี แล้วจะมีทุนประกันเท่าไรให้คนข้างหลัง หรือใช้วิธีคำนวณจากค่าใช้จ่ายจริง ให้พ่อแม่ให้ลูกเท่าไรในแต่ละเดือน แล้วคำนวณว่าหากเสียชีวิตเราจะต้องมีเงินให้พวกเขาเท่าไร ซึ่งการวางแผนทำ "ประกันชีวิต" หากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ยังมีเงินจุนเจือครอบครัวเหมือนกับว่าเรายังทำงานอยู่ตลอด ลูกหลานเอามาใช้ได้ตลอดเช่นกัน

 3. ประกันสะสมทรัพย์ 

ข้อดีของ "ประกันชีวิต" ประเภท "ประกันสะสมทรัพย์" คือการช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน อย่างน้อยๆ 1% แต่มีข้อด้อยคือระยะเวลาค่อนข้างนาน เพราะว่าต้องมีระยะเวลาที่บริษัทกำหนดไว้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด 

ดังนั้นคนที่อยากทำประกัน เพื่อเน้นการสะสมทรัพย์ไปด้วย ต้องดูเป้าหมายทางการเงินของตัวเองว่าสอดคล้องกับประกันสะสมทรัพย์หรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่าสอดคล้อง ค่อยไปหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง

 4. วางแผนเกษียณสุข 

"โสด" หรือ "ไม่โสด" ก็ต้องเกษียณอยู่ดี คำถามที่มักจะตามมาเมื่อพูดถึงการเงินหลังเกษียณ คือ "หลังเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร แล้วเท่าไรถึงมากพอ"

เพราพรรณ์ แนะนำว่า การตอบคำนี้ให้กับตัวเองได้ต้องดูจากไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนว่าต้องการมีชีวิตหลังเกษียณแบบนี้

โดยอาจใช้สูตรคำนวณคร่าวๆ เช่น ตั้งธงเกษียณ 60 ปี จะมีชีวิตอยู่ถึงประมาณ 85-90 ปี อยากใช้ชีวิตเหมือนเดิมที่เคยใช้ ขั้นต่ำที่เราควรมีคือ 60% ของรายได้หรือค่าใช้จ่ายปีสุดท้ายก่อนที่เราเกษียณ เป็นต้น 

ส่วนประกัน ที่เหมาะกับการวางแผนเกษียณคือ "ประกันบำนาญ" ที่มีการันตีผลตอบแทนระยะยาว ถ้าอายุไม่ถึงทุนประกันถูกส่งต่อให้ลูกหลาน แต่หากยังมีชีวิตอยู่ก็มีเงินใช้เรื่อยๆ 

ประกันไม่ได้ตอบทุกโจทย์ ประกันเป็นแค่ 1 ในการวางแผนการเงินเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเลือกทำประกันแบบไหน ต้องย้อนกลับมาที่ตัวเราว่าเป้าหมายที่เราต้องการประโยชน์แบบไหนจากประกัน คนโสด คนมีอายุ คนเกษียณ วางแผนไม่เหมือนกันแน่ๆ เพราะฉะนั้นต้องวางแผนที่มีประโยชน์กับเรา และค่อยไปดูผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเราต่อไป" เพราพรรณ กล่าว