"เพื่อไทย" แอบหวังสูง ลุ้นส้มหล่น พลิกขั้วการเมือง

"เพื่อไทย" แอบหวังสูง  ลุ้นส้มหล่น พลิกขั้วการเมือง

'เพื่อไทย' เป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ด้านหนึ่งแอบหวังเล็กๆว่าหากวันที่ 2 ธ.ค.นี้ 'ประยุทธ์' เกิดอุบัติเหตุต้องตกเก้าอี้นายกฯ ก็อาจมีโอกาสที่การเมืองจะพลิกขั้วได้เหมือนกัน

ยิ่งใกล้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีบ้านหลวงของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ยิ่งออกมาดาหน้าขย่ม "บิ๊กตู่" ให้ร่วงจากเก้าอี้แรงมากขึ้นเท่านั้น โดยหวังดึงสถานการณ์นอกสภาเข้าร่วมกดดันนายกฯอีกทาง

กลุ่มส.ส.เพื่อไทย ถือเป็นหัวหอกในการเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ "พล.อ.ประยุทธ์" สิ้นสุดลงหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีพักอาศัยในบ้านหลวง ภายในกรมทหารราบที่ 1 ตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จนปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าน้ำค่าไฟกับทางราชการ

คำร้องดังกล่าวระบุว่าเข้าข่ายการรับผลประโยชน์อื่นใด อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมุมมองของเพื่อไทย ซึ่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่ 2ธ.ค.นี้ ว่า "พล.อ.ประยุทธ์" จะเข้าข่ายความผิดตามคำร้องหรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญ ฟันเปรี้ยงว่า "พล.อ.ประยุทธ์" มีความผิด รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย "วิษณุ เครืองาม" เคยตอบคำถามเรื่องไว้แล้ว ถ้า "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องพ้นจากตำแหน่ง "คณะรัฐมนตรี" ก็ต้องพ้นตำแหน่งตามไปด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าเป้าหมายของ "เพื่อไทย" และ "กลุ่มราษฎร" มีจุดร่วมเดียวกันอย่างหนึ่งคือ ขับไล่ "พล.อ.ประยุทธ์" แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือวิธีการของ "เพื่อไทย" ใช้ช่องทางในระบบ อาศัยข้อกฎหมายเล่นงาน ส่วน "กลุ่มราษฎร" ใช้การเคลื่อนไหวนอกสภากดดันให้ลาออก

ในทางกลับกัน ถ้าคำวินิจฉัยศาล เป็นประโยชน์กับ "เพื่อไทย" คือ "รัฐบาลประยุทธ์" ต้องพ้นไปจากตำแหน่ง "เพื่อไทย" คงช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาลอย่างสุดกำลัง

เกมนี้ "เพื่อไทย" แอบหวังให้มีการล้างไพ่ รอ "ส้มหล่น" ลูกใหญ่ จนสามารถพลิกขั้วขึ้นมาได้ ทั้งที่ลงทุนลงแรงน้อยกว่า "กลุ่มราษฎร" เพราะอย่างน้อยพรรคเพื่อไทยมีบัญชีรายชื่อนายกฯอยู่ในมืออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มองเกมการเมืองตามความเป็นจริงแล้ว พรรคเพื่อไทยถึงจะมีตัวเลขส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่การจะไปให้ถึงเก้าอี้นายกฯนั้นยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะกติกายังอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังมี "ส.ว." 250 คน และมีอำนาจยกมือโหวตเลือก "นายกฯ" ซึ่งเมื่อว่ากันตามรูปเกมคงยากที่จะหนุน "เพื่อไทย"

ขณะที่หากศาลตีตกคำร้องที่เกี่ยวข้อง กับ "พล.อ.ประยุทธ์" ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป หรือหากคำตัดสินเป็นลบกับ "พล.อ.ประยุทธ์" ก็มีสิทธิที่ "พรรคพลังประชารัฐ" จะเสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" กลับมาเพื่อโหวตเป็น "นายกฯ" ได้อีก ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง

สถานการณ์เช่นนั้น ก็พอจะประเมินท่าทีของ "กลุ่มราษฎร" ได้ไม่ยากว่าจะเดินเกมแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร นั่นเท่ากับว่าทั้ง "เพื่อไทย" และ "กลุ่มราษฎร" ก็ยังเดินไม่ถึงเป้าหมายคือเอา "พล.อ.ประยุทธ์" ออกจากกระดานการเมือง

การเคลื่อนไหวกดดันทั้งในและนอกสภาก็คงจะเข้มข้นมากขึ้น และไม่รู้ว่าจะมีบทสรุปอย่างไรต่อไป