แม้มี“วัคซีนโควิด-19” โรคสงบแต่ไม่หยุด

แม้มี“วัคซีนโควิด-19” โรคสงบแต่ไม่หยุด

ขณะนี้มีอย่างน้อย 4 บริษัทออกมาเปิดเผยถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19ในการป้องกันโรคระดับสูง หลังทดลองในคนระยะที่3 และมีอีก 13 ตัวที่อยู่ในขั้นตอนนี้ กลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติที่จะหยุดยั้งการระบาด แต่มิใช่จุดจบของ “โควิด-19”

เพราะที่สุดแล้วโรคนี้ยังคงอยู่ในรูปแบบของ “โรคประจำถิ่น” ที่อาจจะมีคนไทยติดเชื้อปีละนับแสนราย เฉกเช่นไข้หวัดใหญ่ 

        ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หลักการของวัคซีนแต่ละตัวคือให้สร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันสารโปรตีนที่เป็นหนามของตัวไวรัส  เป็นการพุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งนี้ของไวรัสเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงวิธีการที่แต่ละผู้วิจัยเลือกนำมาใช้ ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2563 เชื่อว่าจะมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่มีการเฝ้าระวังทางการแพทย์ก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย  1 เดือน ในส่วนของประเทศไทยน่าจะมีวัคซีนบางชนิดที่จะเข้าถึงได้อย่างเร็วในราวไตรมาส2-3ของปี 2564

             เมื่อมีวัคซีนโควิด-19แล้ว เริ่มต้นจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต เพราะโดยหลักการกลุ่มแรกที่จะมีการพิจารณาให้วัคซีนคือผู้ที่ติดเชื้อแล้วเสี่ยงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จากนั้นจึงจะให้กับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะทำให้คนมีภูมิต้านทานต่อโรคมากขึ้น จากนั้นโรคจะหยุดระบาดหรือโรคสงบ ทั้งนี้           โรคโควิด-19จะสงบได้  ประชากรในท้องถิ่นนั้นต้องติดโรคอย่างน้อย 60% หรือมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่กำลังจะมาอย่างน้อย 60 %ของประชากรในพื้นที่นั้น

            หากเทียบเคียงกับกรณีเมื่อราว 100 กว่าปีในปี พ.ศ.2461 สมัยรัชกาลที่ 6 เกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 20-40 ล้านคน คือ โรคไข้หวัดใหญ่สเปน ประเทศไทยตอนนั้นมีประชากร 8 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อ 2.3 ล้านคน เสียชีวิต 8 หมื่นคน อัตราเสียชีวิต1% ของประชากร ระยะเวลาในการดำเนินโรคจนกว่าโรคจะยุติใช้เวลา 2 ปี ขณะที่โรคโควิด-19 ตรวจพบช่วงปลายปี 2562 ซึ่งการต่อสู้กับโรคระบาดนี้เสมือนกับการวิ่งมาราธอน เป็นการวิ่งระยะยาว ผ่านมา 1 ปีถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปนยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทาง  
160670946930
          ดังนั้น อย่างน้อยอีก 1-2ปี โรคคงจะสงบลง ทุกคนจะยังต้องใช้ชีวิตแบบNewNormalต่อไป เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากและล้างมือบ่อยๆ ขออย่างเดียวอย่าการ์ดตก เนื่องจากคงยอมรับไม่ได้ ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบไข้หวัดใหญ่สเปนโดยมีอัตราสียชีวิต 1% ของประชากรแล้วโรคสงบ จะต้องมีคนไทยเสียชีวิต 7 แสนคน เป็นตัวเลขที่ยอมรับไม่ได้ ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะโรคนี้

           เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนใช้ในโลก จะต้องให้วัคซีน 60 %ของประชากรพื้นที่นั้นๆโรคถึงจะสงบ แต่สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 การให้วัคซีนประชาชน 60%  เป็นเรื่องยากพอสมควรจจะต้องให้วัคซีนประมาณ 40 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้นราว 70 ล้านคน ต้องใช้วัคซีนไม่น้อยกว่า 80 ล้านโดส ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 100%  แต่ถ้ามีแค่ 70-90% ก็ต้องให้วัคซีนกับประชากรมากกว่า 40 ล้านคน ซึ่งบริษัทต่างๆที่ผลิตวัคซีนออกมาก็จะต้องให้กับประชากรของประเทศนั้นๆก่อน 

      เมื่อเป็นเช่นนี้ในปี 2564 จะยังอยู่กับโรคนี้แต่อาจเบาบางลงบ้าง แต่ไม่ถึงกับสงบ ส่วนไวรัสตัวนี้จะหมดไปจากโลกหรือไม่นั้น  ถ้าไวรัสตัวนี้เป็นโรคที่ร้ายแรง เช่น ซาร์สเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฝีดาษ หรือโรคอะไรที่ร้ายแรงจะควบคุมโรคได้ง่ายกว่า  ซึ่งโควิด 19 มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ อย่างที่เห็นในผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกัน 0.6% ตรวจพบเชื้อ และส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงเป็นการยากที่จะกวาดล้างโรคโควิด-19ให้หมดไปจากโลก
         “ เราต้องอยู่กับเขาแล้วให้โรคสงบ และแม้ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้จะอยู่กับเรา แต่ไวรัสนี้จะเปลี่ยนไปเป็นไวรัสโคโรนาตามฤดูกาลในที่สุด เหมือนไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อโรคสงบก็เปลี่ยนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและโรคจะยังคงอยู่  ปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่รายงานกว่าปีละ 1 แสนราย”ศ.นพ.ยงกล่าว

“โควิด-19ยังถึงแค่ครึ่งทาง ปี 2564 จะยังคงอยู่ เบาบางแต่ไม่ถึงกับสงบ” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
     ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน กล่าวว่า เมื่อบริษัทต่างๆทยอยประกาศประสิทธิผลของวัคซีน เวลานี้ทำให้มั่นใจว่าจะมีวัคซีนใช้แน่ๆทั้งคนไทยและประชากรโลกในระดับหลายพันล้านโดส ซึ่งประเทศไทยมีความร่วมมือกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าหนึ่งในบริษัทวิจัยพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิผล 70 %  โดยจองซื้อไว้ 26 ล้านโดส ให้คนไทยได้ราว 13 ล้านคน  และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตในประเทศไทยมีกำลังการผลิตเดิอนละ 15 ล้านโดส สร้างการพึ่งตนเองในอนาคตด้วย
      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  การบริหารจัดการวัคซีนให้คนไทย ซึ่งจะต้องฉีดคนละ 2 เข็มเท่ากับ 1 โดส หากจะฉีดให้ครบคนไทยราว 70 ล้านคน ต้องใช้วัคซีน 140 ล้านโดส คงจะจัดหาวัคซีนรวดเดียวครบทั้งหมดไม่ได้ แต่พยายามจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 %ของประชากร แต่ถ้าวัคซีนหาได้มากและราคาไม่แพง ก็จะจัดหาให้ได้ 80 % ของประชากร เพราะฉะนั้น ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายแรกๆที่จะได้รับวัคซีน ซึ่งอนุกรรมการสร้างเสริมป้องกันโรคในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะพิจารณาและจัดทำแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้  โดยแผนความต้องการเบื้องต้นอย่างต่ำ เดือนละ 2 ล้านโดส