'ทบ.' แจงทำ 'ทวิตเตอร์' เชิงสร้างสรรค์ ไม่กระทบใคร

'ทบ.' แจงทำ 'ทวิตเตอร์' เชิงสร้างสรรค์ ไม่กระทบใคร

'รองโฆษกกองทัพบก' ยันไฟล์เอกสารทำ 'ทวิตเตอร์' เป็นการสอนเพื่อพัฒนางานสื่อสารออนไลน์ พร้อมตั้งเครือข่ายสื่อออนไลน์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ 578 หน่วยทหาร

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. จากกรณี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) สั่งการให้ตรวจสอบกรณีที่มีเอกสารทหารจ้างบริษัทเอกชน (เอ้าท์ซอส)ทำไอโอผ่านทวิตเตอร์จำนวนนับหมื่นบัญชีนั้น

ล่าสุด พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกได้ตรวจสอบกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอเรียนในประเด็นข้อเท็จจริงว่า กองทัพบกและหน่วยดังกล่าว ไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนไปดำเนินการปฎิบัติการข่าวสารตามที่มีความพยายามกล่าวหา โดยใช้การตีความจากเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่ดังกล่าว เพราะวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางโซเชี่ยลมีเดียของกองทัพบกนั้น มุ่งเน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้ อย่างสร้างสรรค์ เท่าทันสถานการณ์ 

อย่างไรก็ตามในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ทหารและกองทัพเองก็ต้องมีการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆให้ทันกับสภาพสังคม โดยมีการจัดอบรมบรรยายและให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับกำลังพลในทุกระดับให้มีความเข้าใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
สำหรับภาพและข้อมูลในสื่อโซเชียลที่ปรากฎนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอบรมกำลังพลของหน่วย(พล.ร.2รอ.)ในการใช้แอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์ สนับสนุนงาน ประชาสัมพันธ์ของหน่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่มีทักษะความรู้ด้านการตลาดดิจิทัลและในการใช้สื่อออนไลน์ที่ทันสมัย มาเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้งาน โดยไม่มีการว่าจ้างแต่อย่างใด   ทั้งนี้ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้กระจายข้อมูลเชิงบวกก็เป็น ”ฟรีซอฟต์แวร์” ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น Tweet Broadcast และ Free Messenger เป็นต้น

สำหรับผังโครงสร้างที่ปรากฎก็เป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อทดลองกระจายข้อมูลเชิงบวกให้กับบัญชีทวิตเตอร์ด้วยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และมีการลงทะเบียนใช้งานอย่างเปิดเผย ระบุตัวตนได้ ส่วนเนื้อหาที่นำลงก็เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงบวก  กิจกรรมเทิดทูนสถาบัน  การสร้างภาพลักษณ์  ภารกิจกองทัพบกและการช่วยเหลือประชาชน

ในขณะเดียวกันหากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบิดเบือน หรือข่าวเท็จ(ข้อมูลที่เป็นสีเทาหรือสีดำ)ที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานก็จะมีการตรวจสอบและเร่งเผยแพร่ข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทันท่วงที เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการนำเอาแพลตฟอร์มดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุคคลหรือองค์กรใด หรือทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าว ก็เป็นข้อมูลที่ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถ download ได้ สะท้อนให้เห็นว่าทางกองทัพและผู้พัฒนาโปรแกรม ไม่มีเจตนาปกปิด หรือกระทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นสิทธิที่กองทัพบกสามารถดำเนินการ แสดงออกและกระจายข้อมูลเชิงบวกเข้าสู่ระบบสังคมออนไลน์ได้ตามเจตนารมณ์

ขอเรียนยืนยันอีกครั้งว่ากองทัพบกใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Twitter เพื่อสนับสนุน งานการประชาสัมพันธ์ของหน่วยระดับต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือประชาชนการสื่อสารกับกำลังพลในพื้นที่ประสบภัยและเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะชนเท่านั้น 

นอกจากนี้ กองทัพบกได้มีการปรับระบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการปฎิบัติงานโดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยล่าสุด คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในระดับกองทัพบกได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหารจนถึงระดับกองพันจำนวน 578 หน่วย ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างการรับรู้ในข่าวสารด้านความมั่นคง งานช่วยเหลือประชาชน งานบรรเทาภัย ได้รวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น