กต. แจง 13 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ยันให้เสรีภาพชุมนุมอย่างสงบ

กต. แจง 13 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ยันให้เสรีภาพชุมนุมอย่างสงบ

“โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ” ชี้แจงองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ จี้รัฐบาลคุ้มครองการชมนุม โดยยืนยันว่า ให้เสรีภาพขั้นพื้นฐานการแสดงออกและชุมนุมอย่างสงบ ตามกฎหมายประเทศ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของ องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย ว่า 

1. ประเทศไทยยึดมั่นในหลักนิติธรรม (rule of law) และเคารพในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งโปร่งใสและตรวจสอบได้

2. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีแนวคิดที่หลากหลาย โดยในบางกรณี เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มเหล่านี้ ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้น และเกิดเหตุปะทะ ทั้งนี้ ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายตามขั้นตอน มาตรฐานสากล และความเหมาะสมกับสถานการณ์

3. การใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบต้องเป็นไป ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความปลอดภัย และเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศ

ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยยึดมั่นในพันธกรณี

4. ในทุกกรณีที่มีการละเมิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

5. เจ้าหน้าที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและความเรียบร้อยของสถานที่ชุมนุมและในกรณีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผู้ชุมนุมพยายามรื้อถอนเครื่องกีดขวางเพื่อเข้าไปในเขตควบคุม เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยมิได้เป็นการดำเนินการเพื่อสลายการชุมนุมและ เหมาะสมกับสถานการณ์ (proportionate) ไม่เกินกว่าเหตุ

6. โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมยังคงสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการเข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่มีอุปสรรค

ก่อนหน้านี้ องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ 13 แห่ง อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล , Article 19 ,กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) , เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ออกแถลงการร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการ 4 ข้อ ให้เคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ให้ดำเนินการเพื่อประกันว่าหากมีการละเมิดสิทธิจากรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องเอาผิดได้ และประกันว่าผู้ถูกละเมิดสิทธิจะเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังเกิดการชุมนุม 17 และ 25 พฤศจิกายน 2563