'รัฐ' กับ 'การชุมนุม'

เจาะลึกประเด็น "การชุมนุม" ทำความเข้าใจความหมาย ลักษณะรูปแบบของกิจกรรม และความสำคัญของการชุมนุม รวมถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลในการจัดการการชุมนุมของรัฐควรจะเป็นไปในลักษณะใดบ้าง?
จากประสบการณ์ของการชุมนุมในทั่วโลกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การชุมนุมโดยสงบและสันติมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรง เนื่องจากการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงจะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวการสูญเสีย
อีกทั้งการเคลื่อนไหวที่มีการใช้ความรุนแรงมักจะทำในลักษณะลับ หรือที่เรียกว่าเป็นขบวนการใต้ดิน ซึ่งรัฐสามารถใช้ความรุนแรงเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างหรือปราบปราม ซึ่งงานวิจัยของเซโนเว็ธ และมาเรีย สเตฟาน จากศูนย์นานาชาติด้านความขัดแย้งแบบสันติ (International Center on Nonviolent Conflict) ในสหรัฐ ได้แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีประสบความสำเร็จมากกว่าความเคลื่อนไหวที่รุนแรงถึงสองเท่า
- 'การชุมนุม' คืออะไร?
ไมนา คิไอ (Maina Kiai) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assemmbly and of Association : SR FPAA) ได้ให้นิยามความหมายของ “การชุมนุม” ไว้ว่า “การรวมตัวชั่วคราวในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ การประท้วง การชุมนุมภายใน การนัดหยุดงาน การเดินขบวน การเดินรณรงค์ หรือการนั่งประท้วง”
จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “การชุมนุม” มีความหมายรวมถึงกิจกรรมในหลายๆ ประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1.การชุมนุมในลักษณะเคลื่อนที่ เช่น การเดินชุมนุมพร้อมการปราศรัย/การขับรถรณรงค์ เป็นต้น
2.การชุมนุมที่มีการค้างคืนหรือตั้งเวทีปราศรัย เช่น การชุมนุมของเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในอดีต หรือการชุมนุมคัดค้านโครงการของรัฐ เป็นต้น
3.การชุมนุมระยะสั้นที่เน้นความรวดเร็วและระยะสั้นหรือที่เราเรียกว่า “flash mob” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เช่นการรวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชูป้ายข้อความก่อนแยกย้าย/การชุมนุมของคณะราษฎร 63 เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วการชุมนุมยังหมายถึง การรวมตัวกันทางอินเทอร์เน็ตหรือการรวมตัวเพื่อประท้วงทางออนไลน์ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ การชุมนุมหมายถึงการรวมตัวกันชุมนุมชั่วคราวในรูปแบบใดๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสื่อสารประเด็นของกลุ่มตนเองนั่นเอง ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการชุมนุมจะมีอยู่ 3 ประการ คือ
1.สถานะชั่วคราว (temporality)
2.เป้าประสงค์ในการชุมนุม (Intentionality) และ
3.เพื่อเป้าหมายของการแสดงออกร่วมกันเพื่อส่งสาส์นบางอย่าง (purpose of a common expression of a message) ต่อบุคคล กลุ่ม องค์กร หรือสังคมโดยทั่วไป
- ความสำคัญของการชุมนุม
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) ข้อที่ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อที่ 21 โดยสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดทิศทางอนาคตของสังคม
กล่าวได้ว่าในการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย นอกจากการที่พลเมืองสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมผ่านการเลือกตั้งแล้วนั้น พลเมืองยังมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผ่านการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่พลเมืองทุกคนมีและได้รับการยอมรับไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การชุมนุมนั้นถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
- มาตรฐาน 'สิทธิมนุษยชนสากล' ในการจัดการการชุมนุมของรัฐ
รัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยรัฐต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ดังนี้
1.การอำนวยความสะดวกในการชุมนุมและการคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ โดยคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
2.กฎหมายการชุมนุม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล ควรหลีกเลี่ยงนโยบายการกระทำใดหรือขั้นตอนใดๆ ที่เป็นการขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีข้อสันนิษฐานว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐานที่สามารถกระทำได้
3.ความได้สัดส่วน การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยหน่วยงานรัฐต้องได้สัดส่วน เหมาะสมกับความจำเป็นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อหา และสาระสำคัญในการจัดการชุมนุมของประชาชน ตัวอย่างของการปฏิบัติที่ไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เช่น การออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะกลางเมือง หรือการออกกฎหมายห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในสถานการณ์ปกติ เป็นต้น
4.การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน รัฐจะต้องไม่เลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับรัฐหรือต่อต้านรัฐ ตลอดจนรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการชุมนุมให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
5.การบริหารจัดการที่ดีของรัฐ รัฐต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนถึงหน่วยงานที่ดูแลการชุมนุม ให้ความมั่นใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐได้
6.ความรับผิดของหน่วยงานที่กำกับดูแล หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องรับผิดตามกระบวนการทางกฎหมายหากเกิดข้อผิดพลาด หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นด้วยเช่นกัน
7.ห้ามมีการใช้กำลังใดๆ เว้นเสียแต่เป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และหากมีการใช้กำลังต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
8.ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการชุมนุม โดยมีสิทธิที่จะสังเกต เฝ้าติดตาม และบันทึกการชุมนุม
จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเราคงจะพอเห็นได้ว่า การชุมนุมโดยสงบและสันตินั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และรัฐก็ต้องมีมาตรการต่อการชุมนุมฯ ที่ได้มาตรฐานสากล โดยทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้ชุมนุมต่างก็ต้องยึดถือกฎ กติกา มารยาท ซึ่งหากฝ่ายใดละเมิดหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก “คู่มือการจัดการการชุมนุมโดยสงบ เพื่อความหวังของพรุ่งนี้ (Protest for Tomorrow)” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
'ออมสิน' เริ่มลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' ผ่าน MyMo เคยกู้ฉุกเฉินแล้ว ก็กู้อีกได้
'เราชนะ' เช็คสิทธิ์ คุณสมบัติ ลงทะเบียน เตรียมรับเงินเยียวยาโควิด 7,000 บาท
'เราชนะ' กลุ่ม 'เกษตรกร' ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ อ่านหลักเกณฑ์ให้ชัด!
ยอด ‘โควิด-19’ วันนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 198 ราย เสียชีวิต 1 ราย
อัพเดทสถานการณ์ 'โควิด-19' วันที่ 23 มกราคม 2564
ทั่วโลก ‘บ้าน’ จะขึ้นราคา ยกเว้น ‘ไทย’ อาจตกหนัก!