เปิดตำนาน 'ไทยพาณิชย์' จากสยามกัมมาจลถึง 'SCB' แบงก์แรกในไทย

เปิดตำนาน 'ไทยพาณิชย์' จากสยามกัมมาจลถึง 'SCB' แบงก์แรกในไทย

กว่าจะเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" ที่ปีนี้ฟันกำไรสุทธิ (9 เดือนแรก) ไปถึง 22,252 ล้านบาท ชวนย้อนดูต้นกำเนิดธนาคารแห่งแรกของไทยกันหน่อยว่ามีที่มาอย่างไร จากวันนั้นถึงวันนี้ "SCB" มีอายุร่วม 114 ปีแล้ว

ไม่นานมานี้ "ไทยพาณิชย์" ได้ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 พบว่ามีกำไรสุทธิได้จำนวน 4,641 ล้านบาท และกำไรสุทธิเก้าเดือนแรกของปี 2563 จำนวน 22,252 ล้านบาท แม้กำไรสุทธิเก้าเดือนแรกจะลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังคงเป็นธนาคารที่คนไทยไว้วางใจและเป็นธนาคารแห่งแรกของไทย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยไปดูต้นกำเนิด ธนาคารแห่งแรกของไทย แห่งนี้กันหน่อยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  รู้จัก ‘สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ เป็นมาอย่างไร มีทรัพย์สินใดบ้าง

  
  • ทำไมไทยคิดก่อตั้ง "ธนาคาร" ขึ้นมาในครั้งแรก?

คำตอบเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ในยุคนั้นประเทศไทยเริ่มเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก ทำให้มีธนาคารของชาวตะวันตกเข้ามาเปิดบริการลูกค้าของตนในกรุงเทพฯ เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้  ธนาคารชาร์เตอร์ด  ธนาคารอินโดจีน  นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2431 ยังมีชาวอังกฤษคบคิดกันจะตั้ง “แบงก์หลวงกรุงสยาม” กำหนดทุนจดทะเบียน 1 ล้านปอนด์สเตอริง โดยให้คนไทยซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 50% ทำท่าว่าจะยึดการคลังของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตามเสด็จประพาสยุโรป ดูงานการธนาคารมาเป็นเวลา 9 เดือน จึงทรงดำริตรงกันที่จะตั้งสถาบันการเงินของไทยขึ้นบ้าง

ในที่สุดสถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทยก็เปิดขึ้นมาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ในชื่อ “บุคคลัภย์” (Book Club) มีเงินทุนเพียง 30,000 บาท ใช้ตึกแถวของพระคลังข้างที่ ที่บ้านหม้อเป็นสำนักงานแห่งแรก โดยเบื้องหน้าเปิดเป็นห้องสมุด เบื้องหลังดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี 

160629715534

  • จาก "บุคคลัภย์" สู่ "แบงก์สยามกัมมาจล" 

ต่อมาเมื่อ บุคคลัภย์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีการเปิดตัวเป็นธนาคารอย่างเต็มตัว โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ จัดตั้งเป็น “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราอาร์มแผ่นดิน มีข้อความว่า “ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต” ติดหน้าธนาคารเป็นแห่งแรก 

ธนาคารแห่งนี้จึงได้กำเนิดขึ้นจากพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำเนินการเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 เป็นต้นมา และได้ยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เป็น “พระบิดาแห่งการธนาคารไทย” (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนตราอาร์มเป็นตราครุฑ) จากวันนั้นจนถึงวันนี้ "SCB" ก็มีอายุร่วม 114 ปีแล้ว

160629715669

  • "สยามกัมมาจล" จากบันทึกชาวเดนมาร์ก

จากความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์ก มีบันทึกไว้ว่าการก่อตั้ง "แบงค์สยามกัมมาจล" ไม่ได้ราบรื่นนัก เนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ก่อตั้งบุคคลัภย์ในฐานะห้องสมุด แต่มีบริการรับฝากและยืมเงินเหมือนธนาคาร

ทำให้ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในฐานะเสนาบดีกระทรวงการคลัง ย้ายเงินของสยามจากธนาคารของอังกฤษ มายังบุคคลัภย์ซึ่งเป็นธนาคารแฝง ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จำใจบังคมทูลลาออก

  • ที่ตั้ง "แบงก์สยามกัมมาจล" และสถาปัตยกรรม

ที่ตั้งเดิมของ บุคคลัภย์ คือที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ได้ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราวของ แบงก์สยามกัมมาจล เมื่อกิจการขยายตัว ทำให้ต้องมีการขยายออฟฟิศ จึงย้ายที่ตั้งของธนาคารไปอยู่ที่ "ตลาดน้อย" เพราะมีทำเลดี เนื่องจากติดแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใกล้แหล่งค้าขายใหญ่ๆ อย่างเยาวราชและสำเพ็ง อีกทั้งยังมีคนไทยและจีนอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก

โดยอาคารหลังใหม่นี้ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ออกแบบโดย Anibale Rigotti และ Mario Tamagno ชาวอิตาเลียน โดยใช้ทุนสร้างราว 300,000 บาท จนเสร็จสมบูรณ์และย้ายมาในปี พ.ศ. 2451

160629715674

  • จาก "สยามกัมมาจล" สู่ "ไทยพาณิชย์"

เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 "บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด" (The Siam Commercial Bank, Limited) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด" ( The Thai Commercial Bank, Limited ) ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย และยกเลิกคำว่า กัมมาจล (แปลว่าการกระทำไม่เคลื่อนไหว) ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของธนาคารที่มีการหมุนเวียนตลอดเวลา และภายหลัง ปีพ.ศ. 2489 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษกลับมาเป็น The Siam Commercial Bank, Limited ดังเดิม

160629715634

ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ย้ายสำนักงานไปอยู่สำนักงานใหม่ที่ถนนเพชรบุรี โดยแต่เดิมสำนักงานใหม่นี้ เป็นบ้านพักของมหาอำมาตย์โทพระยามหินทรเดชานุวัตน์ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 7 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ซื้อต่อเมื่อปี พ.ศ. 2509 และปรับปรุงอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีนโยบายอนุรักษ์อาคารโบราณอันทรงคุณค่าในรูปแบบสาขา "Modern Thai Heritage Branch"  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 3 สาขาคือ สาขาถนนเพชรบุรี สาขาตลาดน้อย และสาขาเฉลิมนคร 

----------------------

อ้างอิง :

scb.co.th/th

หอจดหมายเหตุ กรุงเทพฯ

thaibankmuseum.or.th

thesiamcommercialbanklimited.blogspot.com