'ส.ส.ร.' ระบบลากตั้ง รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

'ส.ส.ร.' ระบบลากตั้ง  รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' แบบลูกผสมระหว่างการเลือกตั้งและสรรหา จนอาจเรียกได้ว่า 'ส.ส.ร.ลากตั้ง' กำลังเป็นประเด็นขับเคลื่อนของส.ว.และส.ส.รัฐบาล ที่อาจนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพวกเราอีกครั้ง

แม้บรรยากาศจะดูไม่เอื้อต่อการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญมากนักเมื่อเทียบกับสมัยการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่จนแล้วจนรอดก็เริ่มต้นนับหนึ่งจนได้ โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มีมติเสียงข้างมากเลือก 'วิรัช รัตนเศรษฐ' เป็นประธาน

กรณีของ 'วิรัช' ไม่ได้พลิกโผ เพราะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลมาตลอด และยังเป็นคนที่สามารถต่อสายตรงถึงบิ๊กรัฐบาล จึงไม่แปลกที่จะได้ตำแหน่งนี้ไปอย่างลอยลำ

มองจากท่าทีของรัฐบาลและส.ว.จะเห็นได้ว่าพยายามจะดึงเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการให้นานออกไปให้นานที่สุด ภายหลังต้องการเวลาทำงาน 45 วัน ขณะที่ ฝ่ายค้าน อยากให้เวลาการทำงานสั้นกว่านั้น แต่หัวใจของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่ต้องกุมให้ได้ คือ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จับอาการของส.ว.และส.ส.รัฐบาล ถือว่าจับมือกันแน่นพอสมควร โดยมีธงที่ต้องการ 'ส.ส.ร.ไฮบริด' หรือลูกผสมระหว่างเลือกตั้ง150 คนโดยตรงและสรรหา 50 คน รวมกัน 200 คน สวนทางกลับฝ่ายค้านที่ต้องการส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100 %

ระบบส.ส.ร.ไฮบริดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ส.ว.กว่าร้อยคนยอมลงคะแนนรับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจนทำให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการในปัจจุบัน นอกจากการันตีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่กระทบวาระการดำรงตำแหน่งของส.ว.ชุดเฉพาะกาลที่ยังเหลืออยู่

ส.ว.ชุดนี้หลายคนต่างมีประสบการณ์และความเชื่อมาตั้งแต่เมื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ว่าการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เว้นแต่การเลือกตั้งส.ส.นั้นเป็นกระบวนการที่ไม่อาจยอมรับได้

กลุ่มคนพวกนี้มีความคิดที่ฝังหัวมาตั้งแต่ฝันร้ายของระบบส.ว.เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้คนฝ่ายการเมืองเข้ามาคุมสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จและเชื่อว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ นับจากนั้นเป็นต้นมา อำนาจของประชาชนที่ควรจะได้เลือกตั้งส.ว.หรือส.ส.ร.ก็ถูกดัดแปลงไปหลายวิธี ด้วยเหตุลเดียว คือ ไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง

ตลอดห้วงเวลาของการบริหารราชการแผ่นดินของคสช. ต่างได้รับข้อความจากกลุ่มคนในแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะสนช.ว่าหากคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเลือกผู้แทนปวงชนทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา) อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไม่ราบรื่น จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามพ่วงที่เปิดทางให้มีส.ว.เฉพาะกาลและมีอำนาจเลือกนายกฯ

จึงไม่แปลกที่ครั้งนี้ส.ว.จำนวนไม่น้อยจะไม่มีทางยอมให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเด็ดขาด เพราะยังคงมีความเชื่อบนพื้นฐานเดิมว่า 'พรรคการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง' ยิ่งตอนนี้มีกระแสคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าอีกด้วย ทำให้ส.ว.ต้องพยายามเตะสกัดให้ได้มากที่สุด

ความเชื่อของส.ว.ดังกล่าวเข้าอีหรอบกับความเชื่อของรัฐบาลเช่นกัน เพราะในเมื่อไม่อาจต้านทานกระแสเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้ อย่างน้อยก็ควรหาช่องเพื่อให้ได้คนที่มีความเชื่อและความคิดแบบเดียวกับรัฐบาลมาทำหน้าที่เป็นส.ส.ร.ให้มากที่สุด กลายเป็นที่มาของการมีส.ส.ร.ระบบสรรหา 50 คน โดยให้มาจากการเลือกของรัฐสภาถึง 20 คน

ทั้งนี้ ภายใต้เสียงข้างมากที่รัฐบาลยังคุมได้อยู่ประกอบกับฐานเสียงนอกสภาของพรรคพลังประชารัฐ น่าจะช่วยให้คนของพรรคพลังประชารัฐเข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พอสมควร เพื่อเข้าออกแบบ "รัฐธรรมนูญเพื่อพวกเรา"

ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้เกิดการรวมกันเฉพาะกิจระหว่าง 'ส.ว.-พรรคพลังประชารัฐ' เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของการสืบทอดอำนาจอีกครั้ง