‘กปปส.’ ส่งสัญญาณไม่เอา ‘ประยุทธ์’ สละเรือเหล็กมุ่งหน้า ‘พรรคสีน้ำเงิน’

‘กปปส.’ ส่งสัญญาณไม่เอา ‘ประยุทธ์’  สละเรือเหล็กมุ่งหน้า ‘พรรคสีน้ำเงิน’

ท่าทีของส.ส.สายเลือด 'กปปส.' จากพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในการโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การตั้งคำถามว่าจะเกิด 'พรรคสีน้ำเงิน' ในอนาคตหรือไม่

ผ่านไปแล้วสำหรับยกแรกของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามคาดที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ไปต่อ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาจำนวน 45 คนต่อไป ซึ่งการประชุมนัดแรกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ควันหลงทางการเมืองภายหลังการลงมตินั้นยังมีประเด็นให้ขบคิดพอสมควร โดยเฉพาะการเปิดหน้าของส.ส.และส.ว.ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่สุดอยู่ที่ท่าทีของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศกลางรัฐสภาว่าไม่รับหลักการแห่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สวนทางมติของวิปรัฐบาลที่กำหนดให้ส.ส.รัฐบาลต้องลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน

กลุ่มส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศตัวเองว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มที่พรรคพลังประชารัฐ นำโดย 'ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรมว.ศึกษาธิการ (ไม่รับหลักการทุกฉบับ) 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ลงมติงดออกเสียง) ‘ชาญวิทย์ วิภูศิริ’ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (ไม่รับหลักการทุกฉบับ) ด้าน พรรคประชาธิปัตย์ก็มีเช่นกัน 'ชุมพล จุลใส' ส.ส.ชุมพร (ไม่รับหลักการทุกฉบับ) ไม่เพียงเท่านี้ ยังตามมาด้วยการโหวตไม่รับหลักการแบบยกพรรคของส.ส. 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย' นำโดยสองพี่น้องครอบครัวเหล่าธรรมทัศน์ 'เขตรัฐ-จุฑาฑัตต'

กางชื่อกันแบบนี้แล้วสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่าแต่ละคนล้วนมาจากไผ่กอเดียวกัน คือ กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มี 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เป็นหัวขบวนนำ

ปฏิเสธไม่ได้กลุ่มคนเหล่านี้ประกาศตัวเองมาตลอดว่า 'เลือดสีน้ำเงิน' ไม่มีทางที่จะยอมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทุกแตะต้องในทางการเมืองไม่ว่าจะโดยทางตรงแบบที่คณะราษฎรดำเนินการอยู่ หรือทางอ้อมอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านจะบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และ หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อการเป็นหลักประกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ถูกแตะต้อง

ดังนั้น การลงมติงดออกเสียงหรือไม่รับหลักการ จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการเรียกร้องให้ตัดไฟเสียแต่ต้นลม

แต่ความหมายของการลงคะแนนสวนมติวิปรัฐบาลไม่ได้มีแค่นั้น เพราะยังเป็นการแสดงออกถึงทิศทางทางการเมืองด้วย จนเป็นคำถามว่าจะเกิด 'พรรคสีน้ำเงิน' อีกพรรคหรือไม่

นับตั้งแต่เกิดการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรและประกาศข้อเรียกร้องแบบทะลุเพดาน ปรากฎว่าความนิยมใน 'พรรคพลังประชารัฐ' และ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ไม่เสถียรเท่าใดนัก เพราะด้านหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เอาจริงกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากนัก แถมยังประกาศให้ถอยกันคนละก้าว ทว่ามีแต่ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ต้องถอยฝ่ายเดียว นำมาสู่การปล่อยให้แกนนำได้รับการประกันตัวและออกมานำการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องทะลุเพดานต่อไป

ยิ่งนานวันเสียงที่เคยเชียร์จากม็อบเสื้อเหลืองเริ่มกลายมาเป็นเสียงบ่นว่ารัฐบาลหน่อมแน้ม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐด้วย

ประกอบกับที่ผ่านมา ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐก็มีอยู่พอสมควร เพราะเวลาของพรรคการเมืองนี้ส่วนใหญ่หมดไปกับการวิ่งเข้าหา '3ป.' การตัดสินคนในทางการเมืองชองผู้มีอำนาจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของผลงานแต่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก ความพอใจและความใกล้ ดังจะเห็นได้จากกรณีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากตะเพิดกลุ่ม 4 กุมาร ออกจากพรรค

ทุกอย่างมาประจวบเหมาะกันตรงที่สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนว่าหลังวันที่ 2 ธ.ค.ที๋ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะยังมีนายกฯชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์' อีกหรือไม่ ดังนั้น เมื่อมวลชนเสื้อเหลืองได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง นั่นย่อมเป็นโอกาสที่จะอาศัยจังหวะนี้ทำคะแนนเอาใจไว้ก่อน

ปัญหาไม่ได้มีแต่เพียงพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความง่อนแง่นไม่แตกต่างกัน ซึ่งทราบกันดีว่านับตั้งแต่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เป็นหัวหน้าพรรค ส.ส.ในพรรคจะไม่ค่อยให้ความยำเกรงมากเท่าที่ควร

แม้วันนี้พรรคประชาธิปัตย์จะยังเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่การเมืองที่เคยผูกขาดมาตลอดอย่างภาคใต้จะเป็นของตายเสมอไป เนื่องจากการบริหารพรรคยุคนี้เป็นลักษณะ 'ฝนตกไม่ทั่วฟ้า' ขณะที่ พรรคการเมืองคู่แข่งเริ่มรุกคืบเป็นระยะ หากยังฝืนต่อไปก็อาจจะบุบสลายไปพร้อมกับพรรคด้วย

การแสดงออกผ่านการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นอีกหนึ่งทิศทางการเมืองที่น่าสนใจว่าอาจจะมีความเคลื่อนไหวในตลาดโยกย้ายส.ส.โดยอาศัยบรรยากาศแห่งการต่อต้านการปฎิรูปสถาบัน เพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่มก้อนและกำเนิด พรรคสีน้ำเงินที่จะเป็นการรวมตัวกันของแกนนำกลุ่มกปปส.โดยแท้ก็เป็นไปได้