‘สันติวิธี’ทางออก ความขัดแย้งต่างวัย  

‘สันติวิธี’ทางออก  ความขัดแย้งต่างวัย   

การชุมนุมประท้วงไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ถ้าอย่างนั้นการเจรจาแบบไหนที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ใช้ความรุนแรง  

 

“ทุกวันนี้หมอตื่นเช้าไหว้พระ นั่งสมาธิก่อนออกจากบ้าน เราใช้ศาสนาที่เรานับถือมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต เมื่อถามน้องที่ไม่นับถือศาสนาใดว่า ใช้อะไรเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต คำตอบคือ โซเชียลมีเดีย ยูทูบเบอร์ สตรีมเมอร์” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าว ในการสนทนาธรรมกับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หัวข้อ สันติวิธีในความขัดแย้งต่างวัย ณ เสถียรธรรมสถาน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

  • อัตตาคือบ่อเกิด

คงเป็นความจริงที่ว่า เด็กไทยในปัจจุบัน 12 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องการนับถือศาสนาใด อีกทั้งกระทรวงศึกษาก็ไม่มีวิชาคุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง

 “เด็กไปชูสามนิ้วบอกว่าให้เลิกวิชาพุทธศาสนา วิชาประวัติศาสตร์ เพราะเขาต้องจำบาลีสันสกฤตทั้งหมดเพื่อไปสอบ การเรียนไม่ได้สร้างให้เขาเห็นคุณค่า หรือบอกว่าเอาไปใช้ในวิถีชีวิตตรงไหน นอกจากเรียนเพื่อเกรดเอ ต้องจำมาทั้งเล่มต้องตอบให้ได้ เด็กก็เลยออกมาเรียกร้อง” คุณหมอสุริยเดวกล่าว

 

มนุษย์มีภาวะอารมณ์และความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่า เราใช้กลไกทางจิตใดแบบในการตอบสนอง แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต บอกว่า ความขัดแย้งเริ่มต้นตั้งแต่จิตประภัสสรอยู่ในท้อง

 

“เวลาแม่แพ้ท้อง ก็คิดว่า“ฉันมีแก ทำไมฉันต้องแพ้” แต่ถ้าแม่บอกว่า “ลูกจ๋า ช่วยหน่อยเหนื่อยแล้ว” กลไกในร่างกายที่รุนแรงกลับอ่อนโยน การสื่อสารมีการรับฟัง ไม่เกินสองวัน หยุดแพ้ท้องเลย นี่คือการสื่อสารของจิต ความขัดแย้งทางจิตสะท้อนออกมาทางกาย” และคุณหมอบอกว่า การฝึกฝนจัดการความขัดแย้งในใจได้ นั่นคืออาวุธสำคัญ

“ผมเป็นจิตอาสาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ พลังบวกที่สะสมเป็นกุศลกรรม เวลาเราเจอวิกฤติ ก็จะหยิบอันนี้มาแก้ในชีวิตเรา อยู่ที่ว่าความขัดแย้งในระหว่างทางที่ผ่านมา ดีหรือไม่ดี เช่น ถ้าตอนอายุ 0-1 ปี ไม่ได้รับการตอบสนอง ก็กลายเป็นความขัดแย้ง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเรา จะระเบิดอารมณ์ขึ้นทันที นี่ยังไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งระหว่างบุคคลเลย

เหตุการณ์ที่เด็กลงไปดิ้นกลางห้างเวลาถูกขัดใจ เพราะไม่มีการจัดการความขัดแย้งที่เกิดกับเด็ก ถ้าเราไม่ดับอารมณ์ของเรา ปฏิกิริยาของเราจะเริ่มระรานคนอื่น นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สามารถหยุดอารมณ์ของตนเองได้ ยิ่งมีสิ่งยั่วยุเข้ามาบวกด้วย ถ้าในครอบครัวพ่อแม่ใช้ความรุนแรงเป็นประจำ เด็กก็จะซึมซับแง่ลบไป ทุกเหตุการณ์ทุกโอกาสจึงระเบิดออกมาด้วยความรุนแรง”

แม่ชีศันสนีย์ บอกว่า ไม่ต้องหนี ไม่ต้องปฏิเสธ เราต้องรู้จักความขัดแย้งที่มีในใจเรา เข้าใจมัน ใช้ปัญญาจัดการ ถ้าเรารู้ใจเรา เวลาที่มีอะไรมากระทบ มันกระเทือน เราก็รู้ ใจเราตื่นแล้ว ก็ไม่กระแทก ไม่ระเบิดออกไป

 

  • วิบากกรรมของประเทศ 

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คุณหมอสุริยเดว ทรีปาตี สะท้อนว่า เยาวชนกำลังมีปัญหาอย่างหนัก เพราะครอบครัวไม่ได้เป็นที่พึ่ง เช่นเดียวกันประเทศไทยเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ 

“ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เกิดจากความขัดแย้งในใจเขาตั้งแต่แรกเกิด แล้วมันสุกงอม ต่อเนื่องกันมา ระบบก็ไม่ไปพัฒนาเขา ความขัดแย้งเชิงทัศนคติที่หมอเจอคือ เด็ก 4 ขวบไป Sky Kick เด็ก 1 ขวบ เพราะทัศนคติเชิงลบไม่ได้ถูกจัดการอย่างต่อเนื่อง อันที่สองความขัดแย้งเชิงระบบ ไม่ใช่แค่ระบบการศึกษา ระบบพัฒนาคนของประเทศก็ไม่ได้แก้ปัญหาตรงนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง

เด็กนักเรียนขาสั้นไปชูสามนิ้วบอกว่า ระบบมีปัญหา ทำให้เขาเจอวิบากกรรม ไปกระทำละเมิดต่อเขา ไม่ว่าเรื่องทรงผม เครื่องแบบ กฎกติกา ไปรุกล้ำ ไปคุกคามเขา ทัศนคติเป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง กลายมาเป็นพฤติกรรม เริ่มคุยไม่รู้เรื่องตั้งแต่ในบ้าน เพราะระบบไม่เป็นที่พึ่งให้เขา ลุกลามมาเป็นการเผชิญหน้า” คุณหมอสุริยเดว เล่าและบอกว่าการเรียนรู้มี 3 ระดับ แบบท่องจำมีผลต่อการเปลี่ยนพฤตินิสัยน้อยที่สุด

“การเรียนรู้ระดับ 2 คือลงมือปฏิบัติ ทำกิจกรรม ทำโครงงาน เราก็ใช้ผิดกลายเป็นการเก็บแต้ม วิธีนี้เปลี่ยนได้10-30 เปอร์เซ็นต์ ระดับ 3 ทำกิจกรรมโครงงานให้เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอโดยไม่ต้องเล็งเห็นผล จนกลายเป็นวิถีแห่งชีวิต วิธีนี้เปลี่ยนได้70เปอร์เซ็นต์ แต่เราไม่ได้ฝึก เด็กไม่มีโอกาสเจอปัญหาอุปสรรคหรือความท้าทาย เด็กจึงมีภาวะซึมเศร้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ " 

ส่วนแม่ชีศันสนีย์ มองว่า ความรักที่แท้จริงคือการไม่ตามใจ ไม่ Spoil ลูก

“เด็กต้องถูกขัดใจ เวลามีปัญหา มีความเจ็บปวด ถูกท้าทาย การฝึกให้เด็กผ่านสถานการณ์อย่างมีความเข้าใจที่จะลดความรุนแรงต้อง สร้างขึ้นมาเป็นกิจวัตร ทำซ้ำจนเป็นวิถีชีวิต แล้วกลายเป็นวินัยเป็นครอบครัวแห่งสติ ครอบครัวคือจุดตั้งต้น แก้ทัศนคติแปรรูปเป็นความคิดเชิงบวก ส่วนความขัดแย้งในระบบ ต้องใช้สันติวิธี มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้รับฟังซึ่งกันและกัน ด้วยหลักสุนทรียสนทนา จะเป็นทางออก”

  • 5ให้ 5 ไม่ คือทางออก

“ถ้าเหตุเปลี่ยน ผลจะเปลี่ยน เด็กซึมเศร้ามากขึ้น เพราะเด็กมีความกดดันในสังคมแทบจะทุกเรื่อง กับพ่อแม่ การเลี้ยงดู เพื่อน โรงเรียน ครู ผู้ใหญ่ในสังคม ลูกหลานเราน่าสงสาร การซึมเศร้าของเขาคือสิ่งหนึ่งที่เขาสะท้อนออกมา เราต้องหยุดยั้งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สังคมป่วยแล้ว เราต้องทำบ้านเป็นที่เรียนรู้ของคนทุกวัย ฝึกสติ ถ้าใจของท่านไม่บวก จิตวิญญาณไม่บวก ไม่สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมพลังบวก ไม่มีทางเป็นครอบครัวแห่งสติได้ พ่อแม่ต้องเป็นผู้นำทางสติปัญญา เพราะวิธีการสอนแบบเดิมๆ ที่บังคับให้ทำ ทำให้เด็กไม่ต้องการศาสนา ไม่ต้องการคำสอน เพราะมันไม่ช่วยเขา”

ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นต้นน้ำที่ดี เด็กจะเรียนรู้จัดการความรู้สึกตัวเองไม่เป็น ไม่มีครูคนไหนมาสอนเรื่องใจเขาได้ดีเท่ากับเรา ซึ่งมีภาษา มีการสัมผัส มีการบอกรักกัน ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว ถ้าทุกครอบครัวเป็นครอบครัวแห่งสติ แค่เกินครึ่งก็ดับร้อนเป็นเย็นลงมาได้ วิธีที่เราสั่งสอนทำให้เขาดูจะเป็นวิถีแห่งชีวิต เอาความดีสู้กับความคิดไม่ดีภายในตัวเอง เราก็จะเอาชนะตนเองได้กลายเป็นครอบครัวแห่งสติ” แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต กล่าวและมองว่า

"สถานการณ์กำลังบอกให้เราหันหัวเรือกลับได้ทัน สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น เขาระเบิดความทุกข์ของเขาบางอย่าง ทุกเสียงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เราจะ Move On แล้ว Strong อย่างมีสติ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนก่อน เด็กเขารู้ว่าใครรักเขา ถ้าคนที่รักเขาเปลี่ยน เขายอมอยู่แล้ว เพราะความรักทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง"

 

ส่วนคุณหมอเสนอสิ่งที่ตัวเองศึกษาค้นคว้ามาจนได้ หลักการ 5 ให้ 5 ไม่ ว่า

“5 ให้ คือ 1.ให้พื้นที่สุนทรียสนทนา เป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น ปลอดภัย ไม่มีความรุนแรง ไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้อารมณ์ 2.ให้รับฟังซึ่งกันและกัน เสียงของทุกคนมีความหมาย ต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3.ให้เคารพกฎเกณฑ์กติกา ใครพูดอย่างไร ต้องตั้งใจฟังด้วยสัมมาสติ ถ้าในระดับประเทศให้กำหนดกติกาว่า สิ่งใดที่ไม่ควรก้าวล่วง เมื่อใครพูดก็ให้เวลาแค่ไหน เวลาที่เขาพูดก็ให้เกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ประชดประชัน 4.ให้ควบคุมอารมณ์ 5.ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เขาเป็นเด็ก เราอาบน้ำร้อนมาก่อน

ส่วน 5 ไม่ คือ1.ไม่อคติ ไปปักธงว่าแกชั่ว 2.ไม่วิพากษ์ ถ้าเวทีนั้นโต้กันไปมาก็ไม่จบ 3.ไม่ใช้อารมณ์ ถ้ารู้ว่ากำลังจะระเบิดอารมณ์แล้ว ให้พักเบรค แล้วกลับมาอีกที เมื่อทุกคนครองสติได้แล้ว 4.ไม่ก้าวล่วง กำหนดกติกา แกนของประเทศคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 5.ไม่ตัดสินว่าใครแพ้ ใครชนะ ถ้าเราใช้วิธีสุนทรียสนทนาให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง เราจะคุยกันได้ทั้งหมดนี่คือจุดคานงัดที่จะนำครอบครัวบ้านเมืองเรา กลับมาสู่ความสงบร่มเย็น เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติวิธีและเรียนรู้ไปด้วยกัน”