RCEP-CPTPP ผลต่อไทย ต้องติดตามท่าทีสหรัฐ

RCEP-CPTPP ผลต่อไทย ต้องติดตามท่าทีสหรัฐ

ทั้งความตกลง RCEP และ CPTPP ที่ไทยพิจารณาเข้าร่วมเจรจามายาวนานเกือบทศวรรษ มีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ปรากฏชัดเจนมาโดยตลอด ขณะนี้ถึงจุดที่ไทยต้องแสดงจุดยืนว่าจะเดินหน้าร่วมเจรจาเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง หรือจะทยอยปรับตัวให้ธุรกิจไทยพร้อมก่อน

ในเวลานี้ไทยได้ร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นที่เรียบร้อย เป็นเรื่องน่ายินดีที่ช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ยังมีอยู่ไว้ได้ต่อไปในระยะสั้น แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะข้างหน้ากำลังถูกสั่นคลอนจากการที่คู่แข่งของไทยก็ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในความตกลงนี้ และยังเป็นสมาชิกในกรอบการค้าเสรีอื่นๆ อีกที่ไทยไม่มี 

โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP อีกทั้งเป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ก็อาจจะนำพาสหรัฐให้กลับมาเจรจาสานต่อความตกลงนี้ที่เคยเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยนายบารัก โอบามา 

นายโจ ไบเดน มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะสร้างพันธมิตรกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปสนับสนุนองค์การการค้าโลก การกลับไปเข้าร่วมความตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องภูมิอากาศโลก รวมทั้งการกระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศผ่านกรอบการค้าเสรีต่างๆ ที่หยุดชะงักไป อาทิ ความตกลงกับอียู หรือ T-TIP และ TPP ที่ตอนนี้คือ CPTPP ซึ่งแผนงานเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานอำนาจของสหรัฐในเวทีโลกเพื่อเดินหน้ากดดันจีนในระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองสำคัญของความตกลง CPTPP ที่มีสหรัฐรวมอยู่ (ในที่นี้ขอเรียกว่า CPTPP+สหรัฐ) ดังนี้

ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก : หากสหรัฐจะกลับมาร่วม CPTPP ต้องเดินตามข้อกำหนดที่สมาชิกได้เจรจาไว้และเริ่มบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่ง CPTPP ได้ผ่อนปรนบางข้อกำหนดที่เคยมีใน TPP จึงอาจทำให้สหรัฐได้ประโยชน์น้อยลงในการเปิดตลาดสินค้าและบริการของประเทศสมาชิก แต่รวมแล้วสหรัฐก็ยังได้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมาก 

จึงมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะกลับมาเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP อีกครั้ง ซึ่งความตกลง CPTPP+สหรัฐ น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการที่จะไปเริ่มเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่กับประเทศในเอเชีย เนื่องจากเป็นเอฟทีเอที่เริ่มเจรจาไว้ตั้งแต่เป็น TPP และมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่สหรัฐคงต้องยืนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามขั้นตอน

ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนเวลาในการเข้าร่วม : CPTPP+สหรัฐ คงไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้ เนื่องจากต้องรอดูท่าทีของสภาคองเกรสที่ฐานเสียงในสภาล่างของพรรคเดโมแครตไม่ชนะแบบขาดลอย และสภาบนยังคงเป็นของรีพับลิกัน 

ยิ่งท้าทายการบริหารงานของนายโจ ไบเดน ซึ่งไม่เพียงต้องรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาโควิด-19 และเร่งเพิ่มการจ้างงานในประเทศให้กลับมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะกินเวลาอย่างน้อยครึ่งแรกของปี 2564 หลังจากนั้นจึงจะเอื้อให้สหรัฐเดินหน้าผลักดันนโยบายอื่นอย่างการเจรจาการค้าเสรีกับนานาชาติ ที่ก็ยังคงเป็นความท้าทาย เพราะเป็นแนวทางที่ต่างกับของพรรครีพับลิกันพอสมควร ดังนั้น คาดว่า CPTPP+สหรัฐ จะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดก็เมื่อโควิด-19 เริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และเป็นช่วงที่ประเทศสมาชิก CPTPP เปิดพิจารณารับสมาชิกใหม่พอดี

ในเวลานี้นับว่าไทยอยู่ในจังหวะที่ดี ได้มีส่วนร่วมในอาร์เซ็ป กรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งคู่แข่งสำคัญของไทยต่างก็ยังไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐ และ CPTPP+สหรัฐ ก็คงยังไม่เกิดขึ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า โดยในระหว่างนี้ไทยจึงควรเร่งผลักดันเอฟทีเอที่เจรจาค้างไว้ให้บังคับใช้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในการยกระดับภาคการผลิต 

ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดให้เกิดเอฟทีเอไทยกับอียู ไทยกับตุรกี ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EAEU) ไทยกับปากีสถาน หรือแม้แต่การแสดงจุดยืนเรื่อง CPTPP เพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนธุรกิจได้ต่อไป ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกที่มีแกนนำโดยสหรัฐ และเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกที่มีจีนเป็นแกนนำ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศคงไม่มีทางกลับมามีความสัมพันธ์แนบแน่นเหมือนแต่ก่อน ทำให้การกระจายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อรับการแบ่งขั้วดังกล่าวคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไป 

แม้ว่าไทยจะมีความตกลงขนาดใหญ่อย่างอาร์เซ็ปอยู่ในมือ แต่ไทยยังขาดความน่าสนใจในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในฝั่งของเศรษฐกิจโลกตะวันตก ยิ่งถ้าหากเกิด CPTPP+สหรัฐ ขึ้นมาจะยิ่งทำให้กรอบความตกลงนี้มีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเรื่องเอฟทีเอควรจะถูกหยิบขึ้นมาผลักดันเป็นวาระสำคัญของประเทศ ซึ่งทุกเอฟทีเอมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีที่ปรากฏชัดคือเอฟทีเอเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยให้เหนือคู่แข่งที่ไม่มีเอฟทีเอ หรืออย่างน้อยไทยก็จะไม่เสียเปรียบคู่แข่งที่อยู่ในความตกลงเอฟทีเอเดียวกัน เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตและส่งออก ตลอดจนการจ้างงานในภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรมในประเทศให้ได้รับอานิสงส์ไปพร้อมกัน 

ขณะที่ข้อเสียของเอฟทีเอในช่วงที่ผ่านมา ทางการไทยมีกองทุนเอฟทีเอช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน แต่สำหรับเอฟทีเอในระยะต่อจากนี้ที่ต้องเจรจากับประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนมีมาตรฐานการเจรจาสูงและครอบคลุมเรื่องอื่นนอกเหนือจากการค้าและการลงทุน ทำให้รูปแบบผลกระทบกระจายตัวไปสู่หลายภาคส่วน ซึ่งภาครัฐคงต้องทำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจไทยเสียประโยชน์น้อยที่สุด

โดยสรุป ทั้งความตกลง RCEP และ CPTPP ที่ไทยก็พิจารณาในการเข้าร่วมเจรจามายาวนานเกือบทศวรรษตั้งแต่ปี 2555 มีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ปรากฏชัดเจนมาโดยตลอด ดังนี้แล้ว มาถึงจุดที่ไทยต้องแสดงจุดยืนไม่ว่าจะเดินหน้าร่วมเจรจาเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง หรือจะทยอยปรับตัวให้ธุรกิจไทยพร้อมก่อน ไม่ว่าทางไหนก็ล้วนมีต้นทุนที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละภาคส่วน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญอย่างแน่นอน 

อาทิ ในประเด็นเรื่อง CPTPP ล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) ได้ศึกษาผลกระทบรอบด้าน พบว่าไทยคงต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาผลกระทบ 3 ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาในภาคเกษตร ยา-สาธารณสุข และการค้าการลงทุน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหากไทยจะเข้าร่วมก็มีผลกระทบที่ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเกษตรกร หรือปรับกระบวนการผลิตในกลุ่มถั่วเหลือง หมู ข้าวโพด ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าสินค้าต่างชาติที่ไทยต้องเปิดตลาดให้ หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตที่แม้จะได้อานิสงส์นำเข้าสินค้าขั้นกลางโดยไม่เสียภาษี แต่ก็ยังต้องแข่งขันสูงกับสินค้าสำเร็จรูปที่ได้ลดภาษีเหมือนกันและมีราคาต่ำกว่า 

ในทางตรงกันข้ามหากไทยไม่เข้าร่วมความตกลงนี้ ทางการไทยก็ต้องเร่งรัดเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ เพราะการเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทยกับอียู หรือหากในอนาคตมีการเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหรัฐ ไทยก็ต้องมีแผนรับมือกับเรื่องภาคเกษตรกรรม และเรื่องสิทธิบัตรยาที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนดไว้ใน CPTPP อยู่ดี