‘ประกันรายได้เกษตรกร’ เปิดเงื่อนไขประกันรายได้ ‘ยางพารา’

‘ประกันรายได้เกษตรกร’ เปิดเงื่อนไขประกันรายได้ ‘ยางพารา’

เกาะติด "ประกันรายได้เกษตรกร" เปิดเงื่อนไขประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 ใครมีสิทธิ์บ้าง และหลักเกณฑ์เป็นอย่างไรบ้าง?

ขณะนี้หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากรัฐบาล คือ "ประกันรายได้เกษตรกร" วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท โดยราว 1 ใน 6 ของงบประมาณนั้น เป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงินรวม 10,042 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ทั้งนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยระยะเวลาโครงการเดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 ซึ่งจะเป็นการประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564

โดยมีการกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ไว้ดังนี้

1.เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

2.สวนยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดยางไปแล้ว

3.พื้นที่ปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการต้องไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% 

ขณะที่หลักเกณฑ์การเข้าร่วม เป็นไปตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ดังนี้

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/กิโลกรัม (กก.)

2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาท/กก.

3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก.

ซึ่งมีการกำหนดบริมาณผลผลิตยางที่จะเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กก./ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กก./ไร่/เดือน

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับเกิน 80 บาท/กก. ซึ่งรัฐบาลจะพยาบามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป 

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ชี้แจง โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 ระบุว่า การประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง มีระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด เริ่มจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวสวนยางงวดแรกเดือนพฤศจิกายน 2563

ซึ่งโครงการนี้เป็นมาตรการที่รัฐบาลมุ่งมั่นช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างเต็มที่ ให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์ราคายางผันผวน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเสถียรภาพราคายางอีกทางหนึ่งด้วย