รู้ไว้! 'หลักสากล' ในการ 'สลายการชุมนุม' ต้องเป็นแบบไหน?

รู้ไว้! 'หลักสากล' ในการ 'สลายการชุมนุม' ต้องเป็นแบบไหน?

หลังจากมีการ "สลายการชุมนุม" ณ บริเวณรัฐสภา-เกียกกาย เมื่อวานนี้ พบว่ามีการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ปืนฉีดน้ำผสมสารเคมี และแก๊สน้ำตา ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 55 ราย คำถามต่อมาคือ วิธีสลายชุมนุมดังกล่าว เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่?

ยังคงร้อนแรงต่อไม่หยุด! สำหรับการชุมนุมใหญ่ "ม็อบ17พฤศจิกา" เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) กินพื้นที่บริเวณ รัฐสภา - เกียกกาย โดยเป็นการชุมนุมประท้วงอีกครั้งของกลุ่มเยาชนปลดแอก และแนวร่วมกลุ่มราษฎร จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ จนในที่สุดรัฐก็ตัดสินใจ "สลายการชุมนุม"

เริ่มด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งเป็นน้ำเปล่า ต่อมามีการใช้น้ำผสมสารเคมีสีม่วงฉีดอัดมาอีกระลอก และพบว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมอีกด้วย จากนั้นไม่นานมีรายงานจาก ศูนย์เอราวัณ ว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว มีทั้งหมดรวม 55 ราย โดยบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 ราย ถูกยิง 6 ราย ป่วย 4 ราย และอาการอื่นๆ 13 ราย 

เหตุการณ์นี้นำไปสู่คำถามต่อไปว่า วิธีการ "สลายการชุมนุม" ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าว เป็นไปตาม "หลักสากล" หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

160568836643

  • 2 ข้อปฏิบัติ การสลายการชุมนุมตามหลักสากล

มีข้อมูลจากเว็บไซต์ iLaw ระบุถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมและหลักปฏิบัติ หากเจ้าหน้าที่จะ "สลายการชุมนุม" ต้องทำตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา 

ในข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการที่ว่า 

1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น 

2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ 

  • "การสลายการชุมนุม" ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการสลายการชุมนุม ยังต้องทำตาม หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) อีกด้วย เป็นหลักการที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ข้อ 2 กำหนดว่า

ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น 

160568836736

  • ข้อกำหนดการใช้อุปกรณ์ "สลายการชุมนุม"

แนวปฏิบัติถัดมาที่ต้องคำนึงถึง คือ แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้

1.  ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon

ออกแบบมาเพื่อสลายการรวมกลุ่ม หรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้างเท่านั้น! ควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้ ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) และความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็น, เสี่ยงลื่นล้ม, เสี่ยงถูกฉีดอัดกับกำแพง

160568863689

2. การใช้สารก่อความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants)

ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคน มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิด อาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น เกิดอาการหายใจลำบาก เวียนหัว อาเจียน หรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ หากร่างกายได้รับสารนี้จำนวนมาก ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมปอด เซลล์ในระบบหายใจตาย เลือดออกภายใน เป็นต้น

160568836745

3. การใช้กระสุนเคมีระคายเคือง

ต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักวิชาการอย่าง ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงหลักการและวิธี "สลายการชุมนุม" ผ่านการเสวนาหัวข้อ “ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์: มาตรฐานสากล (International Standard)กับเสรีภาพในการชุมนุม” เอาไว้ว่า

160568836759

ตามหลักสากล หากผู้ชุมนุมมาชุมนุมกันอย่างสงบ รัฐต้องละเว้นจากการเข้าไปแทรกแซง คือใช้กำลังไม่ได้ เช่น หากมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แล้วอยู่ๆ ผู้ชุมนุมนั่งลง เจ้าหน้าที่ก็จะดันต่อไม่ได้ วิธีการสลายคือต้องยกออกทีละคน ไม่ใช่การใช้รถน้ำฉีด เพราะเป้าหมายการสลายการชุมนุม คือ ให้กลุ่มคนออกจากบริเวณนั้นๆ ไม่ใช่มุ่งล้อมจับ การสลายการชุมนุมต้องมีเหตุผล และตรวจสอบได้โดยศาล

หากมีการก่อจลาจล จึงจะใช้การฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตาได้ แต่การใช้กำลังของรัฐต้องทำกับคนที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น การใช้น้ำฉีดไปทั่วโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้โดนเด็กและนักข่าว อย่างนี้ไม่ได้สัดส่วนของการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังน้อยที่สุดเพื่อให้ปฏิบัติการสำเร็จ 

---------------------

อ้างอิง :

ilaw.or.th

amnesty.or.th