ผู้สูงอายุ กทม. อยู่อย่างไรในช่วงโควิด-19

ผู้สูงอายุ กทม. อยู่อย่างไรในช่วงโควิด-19

จากการสำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุ กทม. ช่วงโควิด-19 พบว่า ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบกว่า 67.7% ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพได้ แต่รายได้ลดลง เป็นหนี้ เครียด ครอบครัวทะเลาะ แม้กว่า 89.5% ได้รับความช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการอยู่

วานนี้ (17 พฤศจิกายน) ผศ.ดร.รักชนก คชานุบาล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลสำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ในยุคโควิด-19 ภายใต้ โครงการจุฬาอารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนา ความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุค COVID-19 โดยสำรวจในพื้นที่โครงการฯ จุฬาอารี จำนวน 4 เขต 9 ชุมชน ได้แก่ เขตพระนคร (ชุมชนแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์) เขตดินแดง (ชุมชนเคหะดินแดง 2) เขตภาษีเจริญ (ชุมชนคลองลัดภาชี ราศีธรรม และ ศิรินทร์และเพื่อน) และ เขตวังทองหลาง (ชุมชนรุ่งมณีพัฒนาและชุมชนทรัพย์สินใหม่)

เก็บข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 โดยใช้โทสัมภาษณ์เป็นหลัก และบันทึกข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น ผ่านกลุ่มตัวอย่างจากโครงการจุฬาอารี 468 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 63.5% ไม่ทำงาน และ 36.5% ทำงาน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบกว่า 67.7% หลักๆ คือ การประกอบอาชีพได้ แต่รายได้ลดลง ถัดมา คือ ประกอบอาชีพไม่ได้ สมาชิกประกอบอาชีพไม่ได้ เป็นหนี้ในระบบ เครียด เป็นหนี้นอกระบบ ไม่สามารถพบแพทย์ตามนัดได้ ไม่มีอาหารรับประทาน ดำเนินชีวิตลำบาก และครอบครัวทะเลาะกัน ตามลำดับ

สำหรับ ผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน พบว่า ส่วนใหญ่ฐานะการเงินครอบครัวแย่ลง 60% ขณะที่ ฐานะการเงินผู้สูงอายุแย่ลง 58.5% ขณะที่ ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ กว่า 89.5% ได้รับความช่วยเหลือ และ 10.5% ไม่ได้รับ โดย 3 อันดับแรก คือ ได้รับแจกถุงยังชีพ 53.7% ถัดมา คือ เงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกิน 47.3% แจกอาหาร 38%  หน่วยงานที่ช่วยเหลือส่วนใหญ่ ได้แก่ ภาครัฐ 69.7% ชุมชน 26.7% กทม. 19.9% เอกชน 5.8% และ NGOs 0.6%

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือที่ได้รับ 61.5% ต้องการและได้รับความช่วยเหลือ 5.8% ต้องการแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ 4.7% ไม่ต้องการและไม่ได้รับความช่วยเหลือ สัดส่วนที่น่าสนใจคือ 27.9% ไม่ต้องการแต่ได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่ การลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 61.1% ทำไม่ได้แต่มีคนช่วย 28.8% ทำไม่ได้และไม่มีคนช่วย 7.5% ทำได้เองแต่ยุ่งยาก และ 2.6% ทำได้เอง

สำหรับ ช่องทางการรับรู้ข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด-19 มากกว่า 90% ยังได้รับผ่านช่องทางโทรทัศน์ โดยส่วนใหญ่มีความพร้อมในการรับมืออยู่ในระดับปานกลาง 50.4% ขณะที่การเตรียมการ ส่วนใหญ่เตรียมสุขภาพ 50% เตรียมเงินออม 41% และ เตรียมหางาน 4.5% อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 ยังพบว่าผู้สูงอายุ และ คนในครอบครัว ยังอยู่ในที่ชุมนุมชนโดยเฉพาะตลาดนัดเป็นส่วนใหญ่

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรส่งเสริมการลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพทั้งผู้สูงอายุ และสมาชิกในครอบครัว การจัดบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น โทรเวชกรรม (Telemedicine) การจัดที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม การติดต่อสื่อสารออนไลน์ และการเข้าถึงแหล่งอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเน้นการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม โดยการส่งเสริมบทบาทของชุมชน ลดความยากจนผู้สูงอายุและครอบครัว ป้องกัน “คนจนเมือง”

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่จะเห็นภาพผลกระทบขึ้นอยู่กับกลุ่มของการศึกษา เช่น พื้นที่ กทม. มีความหลากหลายสูง ชุมชนที่มักได้รับความช่วยเหลือ มักเป็นชุมชนจัดตั้งอย่างเป็นทางการ 2,017 ชุมชน แต่ชุมชนนอกเหนือจากนั้นเข้าถึงยากโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่อยู่ตามซอกหลืบ ประเด็นหนึ่ง คือ ความยากในการศึกษาผลกระทบโดยรวม ถัดมา คือ ความช่วยเหลือที่จะเข้าไปกลุ่มเป้าหมายยิ่งยากขึ้นไปอีก ความช่วยเหลือซึ่งส่วนใหญ่ต้องผ่านกลไกภาครัฐ ก็มีจำกัดเพราะข้อมูลไม่เพียงพอ

“นอกจากนี้ เรื่องการให้ความช่วยเหลือไม่ได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง แม้จะมีการเก็บข้อมูล แต่บางครั้งก็อาจไม่ตอบโจทย์ ความหลากหลายในเขตเมือง คนที่รู้ดีที่สุดคือชุมชนว่าเขาต้องการอะไร สำหรับ เรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติ มีความสำคัญที่สุด เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายรู้ว่าจะจัดการความเสี่ยงได้อย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังขาดความจำเพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ช่องทางการสื่อสารอาจจะต้องปรับ การสื่อสารจากบนลงล่าง อาจจะไม่เหมาะกับบริบทในบางพื้นที่ การหาจุดกระจายต่อ เช่น กรรมการชุมชน อาจจะกระจายได้ชัดเจน และเข้าใจได้มากกว่า 

ด้าน “นพ.สกานต์ บุนนาค” ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ช่วงโควิด-19 แม้ผู้สูงอายุจะติดเชื้อน้อยกว่าวัยอื่นเพราะไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ผู้เสียชีวิต 60 รายในไทย 50% เป็นผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม บริบทไทยค่อนข้างโชคดีที่ส่วนใหญ่อยู่เป็นครอบครัว ไม่ใช่อยู่ร่วมกันในศูนย์ฯ เช่นในอิตาลี  อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้เสียชีวิตมาก ขณะเดียวกัน สาธารณสุขระดับปฐมภูมิ รพสต. อสม. แข็งแรงมาก ลงไปถึงบ้าน ส่งยา เพื่อแก้ปัญหา

แต่เราจะอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ได้แน่นอน วัคซีนที่ดูเหมือนมีความหวัง แต่ไม่เร็วขนาดนั้น ขณะที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการแพทย์ แต่ต้องแยกส่วนระหว่าง พัฒนาต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยีต่างๆ ระบบข้อมูลออนไลน์ ซึ่งเห็นชัดเจนว่า แต่ก่อนข้อมูลแยกกัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างรวมศูนย์กลายเป็นฐานที่จะขยายในเรื่องต่างๆ ได้ และ มาตรการชั่วคราว เช่น การเว้นระยะห่าง ซึ่งอาจนำมาใช้ในบางสถานการณ์ที่จำเป็น

“ในด้านชุมชน ต้องเน้นเรื่องการดูแล อยากให้คงสภาพการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนมากที่สุด เพราะการดูแลแบบ Nursing Home เหมือนยุโรป พอเกิดโรคทำให้มีการแพร่ระบาด ขณะที่ Care Giver ต้องพัฒนาทักษะในการดูแลผู้สูงวัยในภาวะการระบาดของโรคมากขึ้น” นพ.สกานต์ กล่าว