การคิด ‘ดอกเบี้ย’ ผิดนัดชำระหนี้ และการตัดชำระหนี้

การคิด ‘ดอกเบี้ย’ ผิดนัดชำระหนี้ และการตัดชำระหนี้

ทำความเข้าใจ "การคิดดอกเบี้ย" ในทางกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยได้เท่าไร? มีหลักเกณฑ์คำนวณอย่างไรบ้าง? และการตัดชำระหนี้ คืออะไร?

คำว่าดอกเบี้ย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 หมายถึง ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการได้ใช้ทรัพย์นั้น สำหรับอัตราดอกเบี้ย ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ให้ใช้อัตรา 7.5% ต่อปี ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินมาตรา 654 ห้ามเรียกเกิน 15% ต่อปี

ถึงแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีบทบังคับ ปี 2475 จึงมีการตรา พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ออกใช้บังคับ เพื่อป้องกันราษฎรมิให้ต้องเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดโทษทางอาญาผู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมามีการปรับปรุงโดยตรา พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ออกใช้แทน โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกำหนดข้อความเป็นเท็จในสัญญากู้ยืมเงิน หรือเรียกประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ยเกินสมควรด้วย

ในปี 2523 มีการตรา พ.ร.บ.อัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ออกใช้บังคับ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่า 15% ต่อปีได้ ซึ่งจะทำให้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ในกรณีเช่นนี้สถาบันการเงิน (ตามความหมายที่กำหนดในมาตรา 3) จึงอาจคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 15% ต่อปีได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด ถ้าเกินก็เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

  • การเรียกดอกเบี้ยผิดนัด

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าหนี้เงินนั้นให้เรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ 7.5% ต่อปี แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยผิดนัดย่อมเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอัตราสูงกว่าตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • แนวคำพิพากษาศาลฎีกาการเรียกดอกเบี้ยผิดนัด

ในสัญญากู้ยืมเงินที่มีการกำหนดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดชำระหนี้ไว้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถือว่าเป็นการกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้า ไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยแม้จะเรียกว่าดอกเบี้ยก็ตาม

เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2545 ที่วินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินระบุว่าในกรณีผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามสัญญา ยินยอมชำระเบี้ยปรับในอัตรา 21% ของต้นเงินที่ผิดนัด เริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันผิดนัด ถึงแม้จะเรียกว่าดอกเบี้ย แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551 วินิจฉัยว่า ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่าถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

  • การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้

เนื่องจากที่ผ่านมาการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดหนี้ของผู้ประกอบการการให้บริการทางการเงิน ทั้งที่เป็นสถาบันทางการเงินและไม่ใช่สถาบันทางการเงิน ยังไม่มีหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอนโดยเฉพาะสินเชื่อที่มีลักษณะการผ่อนเป็นงวด

บัดนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อาศัยกฎหมายหลายฉบับออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส2.9/2563 เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 3 ต.ค.2563 กำหนดแนวทางการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และลำดับการตัดชำระหนี้ ตลอดจนขยายขอบเขตเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และขยายขอบเขตผู้ให้บริการทางการเงิน ให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีซซิ่ง ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อ (ไม่รวมการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการควบคุมสัญญาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค) บริษัทบริหารสินทรัพย์ ออกใช้บังคับโดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้มีบทเฉพาะกาลขยายเวลาหลักเกณฑ์การปฏิบัติบางหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบการบางประเภทให้เริ่มวันที่ 1 ก.ค.2564

  • สาระสำคัญ

ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินที่อยู่ในบังคับของประกาศฉบับนี้ คือ สถาบันการเงินตามกฎหมายธุรกิจสถาบันทางการเงินทุกแห่ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อย ธุรกิจให้เช่าแบบลีซซิ่ง เช่าซื้อ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (ภายใต้กำกับ) ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบธุรกิจ (ภายใต้กำกับ)

“ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” หมายความว่าดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากลูกหนี้ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งมีการคิดค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยในกรณีปกติ ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรเช่นดอกเบี้ย ค่าปรับ เบี้ยปรับ ค่าปรับจากการชำระหนี้ล่าช้า เป็นต้น

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน สำหรับลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (1) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน ให้คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เก็บจริงตามสัญญาได้ไม่เกิน 3% ต่อปี โดยให้คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบด้วย

ฐานการคิดดอกเบี้ย สินเชื่อที่มีการผ่อนเป็นงวดให้คิดบนฐานต้นเงินค่างวดที่ค้างชำระในแต่ละงวด สินเชื่อหมุนเวียนให้คิดดอกเบี้ยบนฐานต้นเงินที่ค้างชำระทั้งจำนวน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการอาจกำหนดระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก็ได้

ลำดับการตัดชำระหนี้ สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน แล้วตัดยอดหนี้ค้างชำระรองลงมาตามลำดับ สินเชื่อหมุนเวียนให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นที่ค้างชำระทั้งหมดได้