ค่าเงินบาท ต้องมีเสถียรภาพ

ค่าเงินบาท ต้องมีเสถียรภาพ

"ค่าเงินบาท" สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงต้องมีเสถียรภาพ โดยอัตราอ้างอิงควรเกาะกลุ่มกับคู่แข่ง เพื่อหนุนให้ผู้ประกอบการทำการค้าและลงทุน แต่ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าแล้วเกือบ 10% เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ผู้ส่งออกไทยเเสียเปรียบเกือบทุกประเทศ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.63 อยู่ที่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ เป็นอัตราที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 30.24 บาทต่อดอลลาร์ เป็นความเคลื่อนไหวที่แข็งค่าต่อเนื่อง ยิ่งถ้านับตั้งแต่เดือน ม.ค.63 ณ ขณะนั้นค่าเงินอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ มาถึงวันนี้ยังไม่ครบปีเงินบาทแข็งค่าแล้วเกือบ 10% เป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าที่เร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยเสียเปรียบเกือบทุกประเทศ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับค่าเงินบาทโดยตรง เปิดเผยข้อมูลเชิงเปรียบเงินบาทกับ 18 ประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ นับตั้งแต่ เม.ย.63 จนถึงปัจจุบัน พบว่าไทยแข็งค่ามากกว่า 8% และแข็งค่าสูงสุดติด 4 อันดับแรก ที่สำคัญเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามที่แข็งค่าเพียง 1.66% ทำให้ต้นทุนไทยสูงกว่าเวียดนามกว่า 6% ส.อ.ท.เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างเร่งด่วน

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ในฐานะประธานสมาคม ส.อ.ท. มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่เพียงทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเวียดนาม ยังเป็นการเป็นการซ้ำเติมผลกระทบจากภาวะโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ส.อ.ท.ต้องการเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระการซื้อประกันความเสี่ยงที่สูง จนกระทบต้นทุนการแข่งขัน ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันนำไปสู่รายได้เข้าประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

หลายฝ่ายกังวลว่าการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในช่วงโควิด-19 กระทั่งถึงปัจจุบัน อาจเกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย หรือเซฟ เฮฟเว่น แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีเงินร้อนเข้ามาผสมโรงเก็งกำไร จนเงินบาทแข็งค่าเร็วใกล้หลุดระดับ 30 บาทในขณะนี้ ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ยอมรับมีเงินทุนระยะสั้นเข้ามาหากำไรช่วงปลายปี ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี จึงตกเป็นเป้าหมายดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ ธปท.รับไปดำเนินการ

เราเห็นด้วยกับภาคเอกชนที่ไม่ต้องการให้ค่าเงินหลุดไปสู่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ เห็นด้วยที่รองนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญ ออกมาเปิดเผยข้อมูลและมอบหมายให้ ธปท.ดูแล ค่าเงินบาทมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นอัตราอ้างอิงควรเกาะกลุ่มกับคู่แข่ง ที่สำคัญจะต้องมีเสถียรภาพ มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ผันผวนจนเกินไป แต่ละวันส่วนต่างการขึ้นลงจะต้องไม่สูงมาก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการทำการค้าและการลงทุน เพื่อให้บรรยากาศการทำธุรกิจมีความมั่นคง นำไปสู่ประเทศที่น่าลงทุนอย่างแท้จริง ไม่ว่าสำหรับคนไทยหรือต่างชาติ