สรุป! 'ประกันรายได้เกษตรกร' เทียบ 'ข้าว' VS 'ยาง' ใครได้เท่าไหร่บ้าง

สรุป! 'ประกันรายได้เกษตรกร' เทียบ 'ข้าว' VS 'ยาง' ใครได้เท่าไหร่บ้าง

เปิดรายละเอียด "ประกันรายได้เกษตรกร" ตกลง "ข้าว" และ "ยางพารา" มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากรัฐบาล ใครมีสิทธิ์บ้าง? หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร? เช็คที่นี่

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โดยหนึ่งในโครงการที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ "โครงการประกันรายได้เกษตรกร" ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในปีการผลิต 2563/64 และเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา (ระยะที่ 2) 

ทั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะมาสรุปชัดถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรทั้ง 2 ประเภท ว่าใครมีสิทธิ์ได้เข้าร่วมโครงการบ้าง และแต่ละประเภทมีรายละเอียดของหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต ปี 2563/64

  • หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร?

โดยการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน

4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน

5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

  • ใครได้สิทธิ์บ้าง?

- เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ 

ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563

- เฉพาะภาคใต้ ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564

เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น

สำหรับการจ่ายเงินนั้น ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.

2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 

โดยโครงการนี้วงเงินรวม 10,042 ล้านบาท โดยเป็นเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่

  • หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร?

- ให้ยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด

1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม

2) น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม

3) ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

- กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ

1) ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

2) ผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

  • ใครได้สิทธิ์บ้าง?

- เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 

- เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป เปิดกรีดยางไปแล้ว

- รายละไม่เกิน 25 ไร่

- มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40%

ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564)