'ดอน' ชงครม.เคาะ 'CPTPP'

'ดอน' ชงครม.เคาะ 'CPTPP'

“ดอน”เตรียมนำท่าทีไทยต่อ CPTPP หารือที่ประชุมครม. พร้อมเร่งเรียกประชุมกนศ.หาข้อสรุปเอฟทีเอไทย-อียู หลังลงนามอาร์เซ็ปสำเร็จเตรียมชงเข้า ครม.ภายในปีนี้ ขณะนักวิเคราะห์ชี้้ อาร์เซ็ป เพิ่มอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองของจีน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากความสำเร็จของการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ที่มีการลงนามในเวทีประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา ไทยจะเร่งรัดเข้าสู่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในข้อตกลงอื่นๆที่อยู่ระหว่างการหารือและเจรจาให้เร็วขึ้น

ดังนั้น เร็วๆนี้ตนจะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อติดตามประเด็นและหารือเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ โดยมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาเช่นเรื่องของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต้องเตรียมที่จะเดินหน้าเช่นกัน

“เส้นทางของการค้าระหว่างประเทศ ในเวทีต่างๆเป็นเส้นทางที่เราต้องเดิน จากการที่สหรัฐเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเดโมแครตให้ความสำคัญกับเวทีการค้าแบบพหุภาคีเราจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้มากที่สุด” 

ส่วนการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เบื้องต้นได้ทราบว่าคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สรุปการศึกษาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมซีพีทีพีพีแล้วโดยผลการศึกษาจะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หาก ครม.มีมติให้เดินหน้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้ประเทศไทยก็จะเริ่มขั้นตอนการเจรจากับแต่ละประเทศสมาชิกและจะต้องแสดงความจำนงค์ในการเข้าเป็นสมาชิกต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกซีพีทีพีพีซึ่งปกติจะมีการประชุมในเดือน ส.ค.ของทุกปี อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้หารือกับชาติสมาชิกซีพีทีพีพีมาแล้วเบื้องต้นทุกประเทศยินดีที่จะให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกและพร้อมที่จะเปิดการประชุมรอบพิเศษให้กับประเทศไทยคาดว่าจะสามารถแสดงความจำนงค์เพื่อสมัครเป็นสมาชิกได้ภายในเดือน มิ.ย.2564

“ซีพีทีพีีพีเป็นเรื่องที่ได้รับการรายงานในสภาแล้วกำลังจะกลับมาที่ ครม. เมื่อครม.มีมติให้เดินหน้าก็จะเข้าสู่การเจรจา ซึ่งกรณีประเทศไทยหากเราแสดงความสนใจเขาพร้อมที่จะเปิดรอบพิเศษให้โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงการประชุมใหญ่ในเดือน ส.ค.เขาบอกว่าไทยพร้อมเมื่อไหร่ก็จะจัดประชุมให้คิดว่าประมาณเดือน มิ.ย.เขาจะเปิดรอบพิเศษให้ได้เพื่อให้เราได้เข้าไปเริ่มเจรจาตามขั้นตอน”

อาร์เซ็ปเบียดอิทธิพลอเมริกา

ด้านเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์มองว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาร์เซ็ปมีเพียงเล็กน้อย และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผล แต่ข้อตกลงนี้ถือเป็นชัยชนะทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในช่วงที่สหรัฐดูเหมือนรามือจากเอเชียแปซิฟิก ผลพวงจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสหรัฐภายใต้การนำของโจ ไบเดน จะเข้ามาเจรจาข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่กับเอเชียแปซิฟิกหรือไม่

รายงานจากซิตี้รีเสิร์ชระบุ สารทางการทูตของอาร์เซ็ปอาจสำคัญเท่ากับด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ “รัฐประหารเพื่อจีน” ข้อตกลงฉบับนี้ประสบความสำเร็จหลายด้านท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลเรื่องการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

อาร์เซ็ปชี้ให้เห็นว่า 1. เอเชียตะวันออกเปิดเสรีธุรกิจอย่างมาก และยอมรับว่าการบูรณาการทางการค้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นมีประโยชน์ 2. โลกเข้าใจว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาวงจรคู่ของจีนที่เน้นตลาดภายในประเทศ ไม่ได้หมายความว่าจีนจะหันกลับไปมองตนเองอย่างเดียว 3. เป็นการส่งสัญญาณว่า เมื่อพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกไม่อยากเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐ แม้แต่พันธมิตรด้านความมั่นคงที่เหนียวแน่นกับสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ไม่อยากเลือกเช่นกัน

อาร์เซ็ปไม่แกร่งเท่าซีพีทีพีพี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อาร์เซ็ปไม่แกร่งเท่ากับซีพีทีพีพี ภาษีในหมู่สมาชิกหลายประเทศต่ำอยู่แล้วจากข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่หรือข้อตกลงพหุภาคีอื่นที่เล็กกว่าอาร์เซ็ป ทำให้ผลประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจมีจำกัด

กาเร็ธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย จากบริษัทที่ปรึกษาแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ยกตัวอย่าง การค้าในหมู่ 10 ชาติอาเซียนกว่า 70% ภาษีเป็น 0 อยู่แล้ว การลดภาษีเพิ่มเติมจากอาร์เซ็ปจะค่อยๆ มีผลบังคับใช้ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงจะทำได้เต็มที่

กระนั้น ไซมอน แบปติสต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลก บริษัทที่ปรึกษาดิโอโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาร์เซ็ปช่วยวางรากฐานความร่วมมือระหว่างสมาชิกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะชาติที่ยังไม่มีข้อตกลงทวิภาคีระหว่างกัน และอาจมีการจับคู่กันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก และระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่มีข้อพิพาทการค้าระหว่างกัน

ส่วนอินเดียที่ร่วมเจรจามาตั้งแต่แรกถอนตัวไปเมื่อปีก่อน เพราะกังวลว่าสินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าประเทศสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตอินเดีย กรณีนี้ลีเธอร์จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปที่ลงนามกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาอีก สมาชิกบางราย เช่น ญี่ปุ่นมองว่าการที่อินเดียร่วมด้วยสำคัญกับการคานอำนาจเศรษฐกิจของจีน “แต่การปะทะกันที่หิมาลัยทำให้การลงนามที่มีจีนเกี่ยวข้องด้วยยากยิ่งขึ้นสำหรับอินเดีย”

บทวิเคราะห์จากซิตี้รีเสิร์ช อ้างจากกลุ่มคลังสมองสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ระบุ อินเดียเป็นหนึ่งในผู้เสียหายรายใหญ่จากอาร์เซ็ป ถ้ายังอยู่ในข้อตกลงนี้จีดีพีแท้จริงจะเพิ่มขึ้น 1.1% ภายในปี 2573 แต่เมื่อไม่ได้ร่วมอาร์เซ็ป อินเดียจึงไม่ใช่ฐานการผลิตทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอาเซียน

รายงานจากเอชเอสบีีซีชี้ว่า แม้ไม่มีอินเดีย สมาชิกปัจจุบัน 15 ชาติก็จะเติบโตคิดเป็น 50% ของผลผลิตโลกภายในปี 2573

“ในมุมมองระดับโลก ข้อตกลงอาเซ็ปแม้ไม่แข็งแกร่งเท่าเมกาดีลอื่นๆ แต่ก็ส่งสัญญาณว่าเอเชียเดินหน้าเปิดเสรีทางการค้า แม้ภูมิภาคอื่นจะไม่ไว้ใจ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นการตอกย้ำแนวโน้มที่เคยดำเนินมาหลายสิบปีว่า แรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจโลกยังผลักไปทางตะวันออกอย่างไม่ลดละ” นักเศรษฐศาสตร์เอชเอสบีซีระบุ

160553463773

จุรินทร์เร่งกระบวนการให้สัตยาบัน 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “การประกาศความสำเร็จการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)” ว่า มั่นใจว่าอาร์เซ็ป จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้าของไทยที่มีจุดแข็งอย่างสินค้าเกษตร ให้บุกตลาดอีก 14 ประเทศได้ อย่างมันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา ประมงอาหาร ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรม ที่จะได้ประโยชย์อีก เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน อย่าง ธุริจบริการก่อสร้าง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ที่ไทยมีศักยภาพมาก รวมถึงธุรกิจคอนเทนต์ อย่าง ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เกมส์ เป็นต้น อีกทั้ง ความตกลง ยังก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างสมาชิก ซึ่งยังไม่มีในความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน+1 เลย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมและคุ้มครองวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

 “การให้สัตยาบันของไทยนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งผมจะเร่งผลักดันนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาได้ทันประชุมสมัยนี้ ที่เริ่มเปิดประชุมเดือนพ.ย.2563 -ก.พ.2564 ถ้าผ่านความเห็นชอบ จะเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบัน ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบันได้เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปีหน้าเป็นต้นไป ”