คลังเล็งต่ออายุเก็บภาษียาสูบ2อัตรา

คลังเล็งต่ออายุเก็บภาษียาสูบ2อัตรา

คลังเล็งต่ออายุเก็บภาษียาสูบในลักษณะ 2 อัตรา เพื่อเอื้อให้ธุรกิจยาสูบของรัฐบาลสามารถแข่งขันได้ ขณะที่ เห็นชอบให้โรงงานยาสูบพัฒนาธุรกิจกัญชงและกัญชาเพื่อการพาณิชย์

นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ เพื่อให้ธุรกิจผลิตบุหรี่ที่ถูกผูกขาดโดยโรงงานยาสูบสามารถอยู่รอดได้

ปัจจุบัน โครงสร้างภาษียาสูบมีดังนี้ กรณีราคาขายปลีกต่อซองไม่เกิน 60 บาท จะคิดอัตราภาษี 20% กรณีราคาขายปลีกเกิน 60 บาทต่อซอง คิดในอัตรา 40% ซึ่งนับตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป ให้คิดภาษีในอัตราเดียวที่ 40% ไม่ว่าราคาขายปลีกจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ได้ขอมติคณะรัฐมนตรีขยายระยะเวลาการใช้ระบบภาษี สอง Tier ให้ยืดออกไปจนสิ้นเดือนก.ย.ปี 2563 และล่าสุดได้ขยายอีกครั้งไปจนสิ้นสุดเดือนก.ย.2564 หลังจากนั้น จะต้องกลับมาใช้ระบบภาษี Tier เดียว คือ ในอัตรา 40 % ไม่ว่าราคาขายปลีกจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม

เขากล่าวว่า หากใช้ระบบภาษีTierเดียว โรงงานยาสูบจะไม่สามารถอยู่ได้ โดยปัจจุบันโรงงานมีกำไรต่อซองเพียง 67 สตางค์ จากก่อนที่จะใช้ระบบภาษียาสูบใหม่ ที่มีกำไร 7 บาทต่อซอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตนได้หารือกับกระทรวงการคลัง มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ระบบอัตราภาษีสอง tier น่าจะยังมีอยู่ต่อไป และอาจจะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีอีกบางเรื่องเพื่อให้เหมาะสม

เขากล่าวว่า หากใช้ระบบภาษี tier เดียว คือในอัตรา 40% โรงงานยาสูบจะขายบุหรี่เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษี และไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าได้ เพราะแม้ตัวบุหรี่นำเข้าอาจจะขาดทุนหรือมีกำไรลดลง แต่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเหล่านั้น สามารถนำกำไรที่ได้จากการขายในประเทศอื่นๆมาชดเชยได้

เขากล่าวอีกว่า รมว.คลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้เสนอแนะให้โรงงานยาสูบ หันไปผลิตบุหรี่ระดับพรีเมียมและทำการตลาดในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ จากการที่ราคาบุหรี่ภายในประเทศปรับสูงขึ้นจากผลของการขึ้นภาษี ทำให้บุหรี่เถือน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่อัตราการจับบุหรี่เถื่อนเภพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 9% เป็นเพิ่มขึ้นถึง 30% แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ยังคงเดิมที่ 10.7 ล้านคน

สำหรับผลประกอบการในปี 2563 ณ สิ้นปีงบประมาณในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โรงงานยาสูบมียอดขาย 1.7 หมื่นล้านม้วน มีกำไรสุทธิ 593 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่โรงงานยังคงมีกำไร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรัดเข็ดขัด โดยที่ผ่านมาสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 200-300 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 100 ล้านบาทเป็นการตัดลดลงค่าใช้จ่ายโอทีของพนักงาน ส่วนปีงบประมาณ 2564 คาดจะมีกำไร 950-1,200 ล้านบาท และมียอดขายประมาณ 1.8 หมื่นล้านม้วน

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึง โครงการปลูกกัญชาและกัญชงของโรงงานยาสูบว่า ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการอนุมัติของ อย.กระทรวงสาธารณสุขก่อน

เขากล่าวว่า หากอนุมัติให้โรงงานสามารถปลูกพืชทั้งสองชนิดได้ โรงงานจะดำเนินการให้ชาวไร่ยาสูบทำการปลูกในปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้สามารถขายผลผลิตได้ในปลายปีงบประมาณ นอกจากนี้ โรงงานยาสูบจะต่อยอด ด้วยการร่วมมือกับบริษัทเอกชน เพื่อทำการพัฒนาและวิจัย การใช้กัญชาและกัญชง ซึ่งรอกระทรวงการคลังอนุมัติให้โรงงานสามารถทำข้อตกลงกับบริษัทเอกชน

หากอนุมัติให้โรงงานยาสูบสามารถปลูกพืชทั้งสองชนิดได้ จะทำให้ชาวไร่ซึ่งเป็นผู้ปลูกและขายผลผลิตให้กับโรงงาน มีรายได้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ชาวไร่ยาสูบปลูกใบยาได้รายได้ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อไร่ เป็น 2.5 แสนบาท- 5 แสนบาทต่อไร่ในกรณีปลูกพืชดังกล่าว