ถอดรหัส‘รัฐประหาร’ วันที่การเมืองแก้ด้วย‘การเมือง’

ถอดรหัส‘รัฐประหาร’ วันที่การเมืองแก้ด้วย‘การเมือง’

กองทัพอาจชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า ม็อบเวลานี้ยังไม่สุกงอม การ “รัฐประหาร” จึงยังไม่มีความจำเป็น ณ เวลานี้ แม้จะถูกเตรียมไว้ใน “แผนสำรอง” ก็ตาม

“การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง.... รัฐประหารติดลบ” วันสองวันที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินวาทะดังกล่าวจากปากของ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลังถูกถามย้ำถึงสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมของม็อบราษฎร ที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีทางออกในขณะนี้

การแสดงจุดยืนต่อการทำรัฐประหารครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำเป็นครั้งที่สอง โดยเป็นเวลาหนึ่งเดือนนับจากวันให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกเมื่อครั้งรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นผบ.ทบ.ได้ตอบอย่างชัดเจนไปแล้วว่า “โอกาสของการทำ (รัฐประหาร) เป็นศูนย์หมด”

160502238111

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเด็นการ “รัฐประหาร” กลายเป็นคำถามยอดฮิต และมักถูกถามทันทีที่มีการเปลี่ยนผู้นำเหล่าทัพ และยิ่งในสภาวะที่มีกลุ่มมวลชนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนอยู่ในขณะนี้ ซ้ำยังปรากฎภาพชายสวมเสื้อเหลืองยืนเป็นแนวหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยแล้ว หนีไม่พ้นที่ “ทหาร” จะถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนต่อประเด็นดังกล่าว

มีคำถามว่า สถานการณ์การเมือง ณ เวลานี้ เข้าขั้นวิกฤติจนถึงทางตันแล้วหรือไม่? อะไรที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร?

ยิ่งไปกว่านั้น มีการนำเหตุการณ์ ณ เวลานี้ ไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2556 ต่อเนื่องปี 2557 ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 และทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นสู่อำนาจมาจนทุกวันนี้

จริงอยู่ที่ แม้ห้วงการเมืองทั้ง 2 ห้วงอาจมี “ความเหมือน” กันอยู่ตรงที่ “การขับไล่รัฐบาล” การเรียกร้องปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ต้องไม่ลืมว่า การชุมนุมเมื่อปี 57 เป็นการชุมนุมยืดเยื้อ และเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าในลักษณะ “ม็อบชนม็อบ” ของมวลชน 2 กลุ่มทั้ง “กลุ่มกปปส.” และ “กลุ่มนปช.” ทั้งยังลุกลามถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 27 ราย

ขณะเดียวกัน บริบทการเมือง ณ เวลานั้น อยู่ในห้วงที่กำลังเกิดการ “เปลี่ยนผ่าน” ครั้งสำคัญของบ้านเมือง ดังนั้นเมื่อการเมืองเดินมาถึงทางตัน การรัฐประหารจึงถูกนำมาใช้เพื่อ “ปิดจ็อบ” เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด

160502241513

ต่างจากการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ในครั้งนี้เป็นเพียง “แฟลชม็อบ” รวมตัวแสดงสัญลักษณ์กดดันรัฐบาลด้วย 3 ข้อเรียกร้อง ไม่มีแกนนำ เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายความมั่นคงจึงประเมินว่า แม้ข้อเสนอของม็อบจะเป็นข้อเสนอที่ทะลุเพดาน โดยเฉพาะประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ในทางตรงข้ามยังมีมวลชน “กลุ่มปกป้องสถาบัน” ออกมาเคลื่อนไหวคานกัน ดังนั้นหากฝั่งม็อบราษฎรยังคงขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์เช่นนี้อยู่ คงไม่สามารถกดดันอะไรได้มากไปกว่านี้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกง

หรือหากในอนาคต การเมืองถึงขั้นวิกฤติ มีการเผชิญหน้ากันของมวลชนกลุ่มต่างๆ จนไม่สามารถหาทางออกได้ กองทัพยังมีบันไดอีกขั้นคือ การประกาศ “กฎอัยการศึก” เพื่อให้ทหารเข้ามามีอำนาจเต็มในการจัดการ 

ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้เอง ที่อาจทำให้กองทัพชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าการ “รัฐประหาร”ยังไม่มีความจำเป็น ณ เวลานี้ แม้จะถูกเตรียมไว้ใน “แผนสำรอง” ก็ตาม

160502252313

สิ่งที่ต้องจับตาต่อคือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็น 1ใน3 ข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร  ที่ ณ เวลานี้ "73สมาชิกรัฐสภา"  ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย จนถูกมองว่าเป็น "เกมยื้อ" แก้รัฐธรรมนูญ

รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค. ที่จะชี้ขาด พล.อ.ประยุทธ์ กรณีใช้บ้านพักทหารว่าจะเข้าข่าย “กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์” อันจะส่งผลไปถึงสถานภาพนายกรัฐมนตรีหรือไม่

เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะได้เห็นปฏิกิริยาทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง คงต้องจับตาว่า ทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการชี้ขาดสถานะนายกฯจะมีผลในแง่ของการจุดกระแสม็อบได้มากน้อยเพียงใด