‘อินเทลลิเจ็นซ์ฯ’ ส่งสมาร์ทริสแบนด์ ‘ระบุตัวตนผู้ป่วย’ รุกตลาดโรงพยาบาล

‘อินเทลลิเจ็นซ์ฯ’ ส่งสมาร์ทริสแบนด์ ‘ระบุตัวตนผู้ป่วย’ รุกตลาดโรงพยาบาล

จะดีกว่าไหม? หากบุคลากรทางการแพทย์สามารถระบุตัวตนของผู้ป่วย สถานภาพการรักษาตลอดจนประวัติที่จำเป็นได้แบบทันท่วงทีในยามที่ผู้ป่วยไม่มีสติเพียงพอที่จะให้ข้อมูล

“อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็มฯ” สตาร์ทอัพสายไอทีได้มองเห็นความต้องการนี้จึงได้พัฒนา “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” ในรูปแบบริสแบนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรดักท์ที่พัฒนาต่อยอดจากเซกเตอร์การท่องเที่ยวสู่การใช้งานในโรงพยาบาล

ส่ง 'สมาร์ทริสแบนด์'เปิดทางเฮลท์เทค

"เหตุจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงลูกค้าเซ็กเมนท์นี้ที่ใช้สินค้าและบริการของบริษัททั้ง RFID Tourist Tracking , POS ซอฟต์แวร์สำหรับร้านขายสินค้า แต่ในส่วนของภาพรวมบริษัทถือได้ว่ากระทบเพียงเล็กน้อยเพราะยังมีมีลู่ทางที่สามารถไปต่อได้" เอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าว
 

160493871210

"ทั้งนี้โปรดักท์พัฒนาเกิดขึ้นก่อนโควิดถึง 2 ปี ประมาณปี 2561 ซึ่งบริษัทมีเทคโนโลยี patient tracking อยู่แล้วตามโรดแมพที่ต้องการก้าวสู่ตลาดโรงพยาบาล จึงถือว่าได้วางเซ็กเมนท์นี้ไว้ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นนำร่องใช้ในโรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ส่วนในอนาคตตั้งเป้าจะขยายสู่ทุกโรงพยาบาลที่ยังไม่มีระบบ Identify patient"

เอกศักดิ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบระบุตัวตนผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี มาจากการมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P @Safety Tech โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.

โครงการดังกล่าวสนับสนุนการจับคู่โรงพยาบาลกับสตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมสามารถตอบความต้องการหรือเพนพ้อยต์ของโรงพยาบาลได้ตรงจุด ในส่วนปัญหาของโรงพยาบาลระยอง คือ 1.ภาระงานรักษาและงานเอกสารมีปริมาณมากตามจำนวนผู้ที่มารับบริการ 2.การทำงานที่ซ้ำซ้อนทั้งในและระหว่างแผนก 3.บุคลากรการแพทย์มีจำกัดและ 4.เสี่ยงระบุตัวตนคนไข้ผิด ขณะที่อินเทลลิเจ็นซ์ฯ มีเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการจองบริการต่างๆ ในธุรกิจท่องเที่ยว และดูแลให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในขณะเดินทาง จึงนำมาประยุกต์เชื่อมโยงสู่การดูแลความปลอดภัยของคนไข้ โดยเริ่มจากริสแบนด์เป็นโปรเจคแรก

160493873048

ลักษณะการทำงานจะเริ่มจากการลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบ พร้อมระบุโค้ดของริสแบนด์ซึ่งติดอาร์เอฟไอดีที่ให้ผู้ป่วยใส่ไว้ที่แขนตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล ทุกครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์ทำการรักษาจะใช้สมาร์ทโฟนสแกนที่ริสแบนด์ ก็จะทราบได้ว่ากำลังรักษาผู้ป่วย จ่ายยา หรือทำหัตถการใดๆ ได้ถูกต้องหรือไม่ หลังจากทำการรักษา จ่ายยา หรือหัตถการเสร็จแล้วต้องใส่รายละเอียด เพื่อให้เป็นประวัติการรักษาของผู้ป่วยในครั้งต่อไป

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ ช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน ให้ความมั่นใจทั้งทางแพทย์และคนไข้ ที่สำคัญคือ ระบุตัวตนได้ถูกคน ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว อีกทั้งสามารถย้อนดูประวัติการรักษาได้ในแบบเรียลไทม์

“เรามีความตั้งใจเดิมที่จะพัฒนางานด้านสาธารณสุขไทยอยู่แล้ว เพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการวิจัยยาและเครื่องมือแพทย์ทั้งในและต่างประเทศดังนั้น การพัฒนาโซลูชั่นที่ใช้ในโรงพยาบาลจึงถือเป็นเรื่องที่ง่ายและต่อยอดได้อีกหลากหลายฟังก์ชั่น” เอกศักดิ์ กล่าว

ส่วนทิศทางการตลาดโรงพยาบาล เอกศักดิ์ มองว่า กำลังได้รับความนิยมและมาแรงเป็นอย่างมาก เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคนิวนอร์มอลนี้ โดยเฉพาะธุรกิจเฮลท์เทคนี้คิดว่ายังเติบโตได้อีกเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่ก็มีความแตกต่างกัน

"ผมไม่คิดว่าใครเป็นคู่แข่ง เพราะจะต้องแข่งกับตัวเอง แข่งกับผลประโยชน์ที่อยากให้โรงพยาบาลและคนไข้ได้รับมากที่สุด ส่วนความคาดหวังที่อยากจะให้เกิดขึ้นคือ การต่อยอดสู่การใช้งานให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล โดยแต่ละแห่งสามารถเลือกฟีเจอร์ได้แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดหากโรงพยาบาลไม่เปิดใจ ระบบ Healthcare System ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น”

160493874652

ส่วนข้อกังวลในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย เอกศักดิ์ ไขข้อสงสัยพร้อมย้ำว่า บริษัทไม่มีสิทธิ์ในฐานข้อมูลเหล่านั้น บริษัทเพียงแต่นำมาประมวลผลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลและคนไข้เท่านั้น ไม่สามารถเปิดเผยใดๆ ดังนั้น ข้อมูลของผู้ป่วยจึงยังคงปลอดภัยและเก็บรักษาอย่างดีโดยโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันได้เตรียมขยายไปสู่โรงงานในเขต “อีอีซีไอ” เพื่อใช้ในงานส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรในโรงงาน ในการรองรับสาธารณภัยหมู่ (Mass-Casualty) ที่สามารถนำไปใช้กับพนักงานที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกับสุขภาพ นำไปสู่ข้อมูลการดูแลสุขภาพและโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็น อุบัติภัย อุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่งานที่มีความเสี่ยงสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างโรดแมพ