ค้าน ส.ว.ยื่น 'ศาล รธน.' ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ

ค้าน ส.ว.ยื่น 'ศาล รธน.' ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ

"ราเมศ" หวั่นแก้รัฐธรรมนูญล่าช้า ค้าน ส.ว.จ่อเข้าชื่อยื่น "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตีความร่างแก้ไข 3 ฉบับ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการตัดสินใจเข้าชื่อของวุฒิสมาชิก(..) เพื่อส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยร่างที่มีสาระสำคัญให้มีการตั้ง สสร.จะถูกส่งให้ตีความ เป็นเรื่องแรกที่น่ากังวลใจ โดยประเด็นนี้น่าจะมีข้อยุติที่ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 256(8) ที่กำหนดไว้ชัดว่า ให้มีการทำประชามติถามประชาชนครั้งเดียวหลังจากผ่านวาระสาม ซึ่งความเห็นนี้พรรคได้ส่งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ ชุดก่อนรับหลักการ ยืนยันไว้เป็นหลักฐานชัดว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนตั้ง สสร.ตามหลักรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีการทำประชามติก่อนรับหลักการแต่ทำประชามติถามประชาชนครั้งเดียวว่าจะให้มี สสร.หรือไม่หลังจากผ่านวาระสาม

นายราเมศ ยืนยันว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนที่ได้ร่วมลงชื่อเป็นของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ เพราะอาจทำให้การแก้รัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป แต่ตามรัฐธรรมนูญสมาชิกรัฐสภาสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อกันได้หลังจากผ่านวาระสามไปแล้ว ซึ่งก็เป็นหลักการตรวจสอบปกติ  จึงอยากให้มีการใช้ขั้นตอนตามหลักการปกติมากกว่า แต่ความเห็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่ง หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย ไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลได้"นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวอีกว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อหาทางออกจะดีกว่า การรอดูและสะท้อนผ่านโครงสร้างของคณะกรรมการ แล้วจึงมาดูตัวบุคคลควบคู่กันไป ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏออกมาว่าใครจะเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ยังไม่ชัด เพราะต้องรอโครงสร้างก่อน ส่วนตัวบุคคลควรแยกออกจากกัน ไม่ว่าความคิดเห็นส่วนตนของใครจะเป็นอย่างไร แต่ความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของประเทศจะสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

"การแก้รัฐธรรมนูญกับการดำเนินการเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ควรทำควบคู่กันไป เชื่อว่าความจริงใจของทุกฝ่ายสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายลงไปได้"นายราเมศ กล่าว