คนไทยใช้เงินทำบุญไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี

คนไทยใช้เงินทำบุญไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี

โพล์ สนค.เผยคนไทยทำบุญไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางศาสนา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ  ทำเงินสะพัดทั่วประเทศ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.36 % ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สนค. จึงได้ทำการสำรวจการพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า ในการเดินทางไปทำบุญ-ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่า เท่าเดิม  44.98 %  รองลงมา คือ ลดลง 43.95 %และเพิ่มขึ้นเพียง 11.07 % เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เดินทางทำบุญลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว

สำหรับวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต  ขอโชคลาภ เงินทอง ขอเรื่องการงาน ธุรกิจ ซึ่งเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า ประชาชนกว่า 70 %  ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน นักศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจเ จ้าของกิจการ  นอกจากนั้น ยังได้สำรวจกิจกรรมความเชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยม พบว่ากิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูชะตาราศี เช่น วัน เดือน ปีเกิด  54.13% ดูลายมือ  20.94% และดูไพ่ยิปซี  12.23% 

จากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.36 % ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทย   ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ