คลังเผยหนี้เสียสินเชื่อพิโกทยอยลดต่อเนื่อง

คลังเผยหนี้เสียสินเชื่อพิโกทยอยลดต่อเนื่อง

คลังเผยยอดหนี้เสียการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทยอยลดต่อเนื่อง​ ล่าสุดส.ค.อยู่ที่​ 16.20% จากก.ค.ที่อยู่​ 16.60% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 858 ราย ใน 72 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (508 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (134 ราย) ภาคเหนือ (114 ราย) ภาคตะวันออก (60 ราย) และภาคใต้ (42 ราย) ตามลำดับ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนส.ค. 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 328,300 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 8,250.38 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 25,130.61 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1.สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 851 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 775 ราย ใน 72 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (67 ราย) กรุงเทพมหานคร (58 ราย) ขอนแก่นและร้อยเอ็ด (43 ราย)

2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 94 ราย ใน 32 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 83 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (14 ราย) อุดรธานี (8 ราย) และอุบลราชธานี (7 ราย)

3.ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนส.ค.2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 149,860 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,512.16 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 20,246 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 523.76 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.91% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 23,920 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 569.01 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.20% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับยอด NPL ของเดือนกรกฎาคม 2563 (16.60%)

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 7,476 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 จำนวน 121 ราย การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย การเพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน