นบข.เคาะยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ตั้งเป้าผู้ผลิตข้าวชั้นนำของโลก

นบข.เคาะยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ตั้งเป้าผู้ผลิตข้าวชั้นนำของโลก

นบข. เคาะ 5 ปี ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567 ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” เน้นพัฒนาเพิ่มความหลากหลายพันธุ์ข้าวไทย


วันนี้ (4 พ.ย. 63) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 4/2563 มีมติเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุม และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้


1. ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าวซึ่งมีความต้องการข้าวที่หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพื้นนุ่มที่เป็นความต้องการของตลาดในปัจจุบันรวมทั้งการลดต้นทุนทางการตลาด

2. ด้านการตลาดภายในประเทศ ดำเนินการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ

3. ด้านการผลิต เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องใช้สนองตอบต่อความต้องการของตลาดจะดำเนินการ ประการที่หนึ่ง ลดต้นทุนการผลิตให้เหลือไม่เกินไร่ละ 3,000 บาทจากปัจจุบันเฉลี่ยที่ไร่ละ 6,000 บาท ประการที่สอง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว เฉลี่ยต่อไร่จาก 465 กิโลกรัมเป็น 600 กิโลกรัม ประการที่สาม เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี โดยมุ่งเน้นเป้าหมายที่จะได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะ สั้น เตี้ย ดก ดี โดย 12 พันธุ์ จะประกอบด้วยข้าวนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์ และประการที่สี่ จะดำเนินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อนำไปสู่การแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้ต่อไป สำหรับปี 64 จะเป็นกรณีพิเศษจะมีการจัดประกวด 2 ครั้งคือในต้นปี และปลายปี





4. ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว จะมุ่งเน้นการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมจากข้าว เพื่อสนองความต้องการของตลาด และประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นได้แต่ละชนิดทำจากข้าวชนิดใดบ้างและมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมมีผลิตภัณฑ์ชนิดใดอย่างไร และเน้นในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับผู้วิจัยและผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมจากข้าว การปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอน และการอนุมัติอนุญาตและแหล่งทุนเป็นต้น สุดท้ายจะดำเนินการในการช่วยหาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับสินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรมที่ทำจากข้าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดูแลพี่น้องเกษตรกรเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ มีทั้งโครงการหลักและโครงการเสริม ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมา

ที่ประชุม ยังทราบโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวเปลือกเหนียว ปีการผลิต 2563/64 ได้แก่ การเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวเปลือกเหนียว ปี 63/64 การจัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการบริโภคข้าวเหนียวในห้างสรรพสินค้า และการรณรงค์กระตุ้นการบริโภคข้าวเหนียว โดยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “โครงการรณรงค์บริโภคข้าวเหนียว” วันที่ 28 ต.ค.63 ก่อนการประชุม ครม. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ล้านตัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐบาลจีนได้ซื้อข้าวจากไทยไปแล้ว 7 แสนตัน ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งเจรจากับผู้แทนรัฐบาลจีน เพื่อทำการซื้อ-ขาย ข้าวในจำนวนที่เหลือ

ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาพันธ์ข้าวไทยแบบครบวงจร สร้างความหลากหลายที่ตอบสนองต่อความต้องการตลาด/ผู้บริโภค แบบเฉพาะกลุ่ม กำหนดโซนนิ่งปลูกข้าวพันธุ์ที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และประมาณน้ำ เป้าหมายของรัฐบาล คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย ดังนั้น รัฐบาลกับเกษตรกรต้องร่วมมือกันเพราะให้การเกษตรเป็นอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้และเกษตรกรกรทุกรายมีรายได้ที่เพียงพอ

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงสื่อมวลชนว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนในการแข่งขันข้าวโลกคือมีต้นทุนการผลิตสูงและมีความหลากหลายด้านพันธุ์ข้าวน้อย จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการส่งออกในปัจจุบัน ด้วยการรักษาตลาดเก่าไว้ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่