CIMBTดันรายใหญ่ ลุยลงทุนCLMV

CIMBTดันรายใหญ่  ลุยลงทุนCLMV

CIMBTหนุนรายใหญ่ลุยลงทุน CLMV หนุนพอร์ตสินเชื่อคอร์ปอเรทปีหน้าขยับแตะ 40% หวังสินเชื่อปีนี้พลิกเป็นบวกจากการเบิกใช้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ พร้อมขายหนี้ 3 พันล้าน คุมเป็นพีแอลต่ำ 5%

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ ออกไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี)ที่ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปมีเครือข่ายให้มากขึ้น ตามกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารที่จะมาจากรายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจข้ามประเทศ  

ในปี 2564 ธนาคารคาดว่า การรุกการปล่อยกู้ให้ธุรกิจรายใหญ่ออกไปลงทุนในภูมิภาคจะหนุนให้พอร์ตสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เติบโตมากขึ้น และเห็นสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ขยับขึ้นมาใกล้ 40% จากปัจจุบันที่พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ราว 7.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 30% ของสินเชื่อรวม 2.3 แสนล้านบาท

ในอีกด้านหนึ่งที่จะหนุนการเติบโตของแบงก์ให้แข็งแกร่งคือ การเติบโตผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง ที่ธนาคารตั้งเป้าใช้ดิจิทัล มาขับเคลื่อนการเติบโตในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดหวังระยะสั้นจะเห็นการใช้โมบายแบงกิ้งขยับขึ้นเป็น 100% หากเทียบกับปีนี้ ที่ยอดใช้โมบายแบงกิ้งของธนาคารอยู่ที่ราว 30% หรือราว 1.5 แสนบัญชี หากเทียบกับลูกค้าทั้งหมดธนาคารที่มีอยู่ 6-7 แสนคน

“ธนาคารมีแผนนำดิจิทัลแบงกิ้ง เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ที่จะใช้ฐานข้อมูล และ AI เพื่อวิเคราะห์ในการต่อยอดการปล่อยกู้อนาคตมากขึ้น”

นายสุธี กล่าวว่า จะรุกธุรกิจบริหารเงินซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคารมากขึ้น โดยเฉพาะการขายหุ้นกู้ในตลาดรองผ่านโมบายแบงกิ้งในปีหน้า จากปีนี้ที่ให้เปิดซื้อขายหุ้นกู้ ในตลาดแรกมาแล้ว เช่นเดียวกับธุรกิจเวลธ์ที่จะเห็นการเติบโตมากขึ้น

สำหรับภาพรวมปีนี้ คาดว่าสินเชื่อรวมมีโอกาสกลับมาพลิกบวก จากปัจจุบันที่ติดลบกว่า 5% เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่ยังไม่เบิกใช้เงินกู้ที่อนุมัติไปแล้วหลายพันล้านบาท ดังนั้นหากธุรกิจรายใหญ่กลับมาเบิกสินเชื่อในช่วงปีนี้ มีโอกาสเห็นสินเชื่อกลับมาบวกได้ แต่หากธุรกิจรายใหญ่ชะลอการเบิกใช้เงินกู้ต่อ สินเชื่อรวมของธนาคารน่าจะทรงตัวถึงติดลบ 5% 

ส่วนภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ธนาคารตั้งเป้าลดลงให้ลงมาอยู่ที่ 5% หรือต่ำกว่า จากการขายหนี้เสียในช่วงไตรมาส 4ปีนี้ ราว 3 พันล้านบาท และธนาคารยังคงตั้งสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายใต้ความไม่แน่นอนที่อยู่ระดับสูง แม้ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ที่ระดับเกือบ 20% ก็ตาม