ความจำเป็นทั้งสาม ‘ยกเครื่อง’ ประเทศไทย

ความจำเป็นทั้งสาม ‘ยกเครื่อง’ ประเทศไทย

สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้หลายคนเกือบลืมเรื่องของการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเข้าสู่ประเทศที่พัฒนา ซึ่งโจทย์สำคัญที่เป็นความหวังของการจะนำพาประเทศกลับไปเติบโตแบบเดิมได้นั้น อาจต้องอาศัยกรอบนโยบาย "ความจำเป็นทั้งสาม"

วันนี้เราเกือบลืมเรื่อง “เมื่อใดประเทศไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” ไปเลย สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก “เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” (Competitiveness) มาเป็น “เพื่อการอยู่รอด” (Survivability) และ “การพึ่งพาตนเอง” (Self-Sustainability) มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็อดห่วงไม่ได้สำหรับ “การพัฒนาตามกระแส” ซึ่งแปรไปตามนโยบายที่เปลี่ยนไปตามการมุ่งเน้นในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละรัฐบาลหรือแต่ละคณะรัฐมนตรี จนลืมการพัฒนาที่เป็นรากฐาน

รายงานจากหลายแห่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด น่าจะเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า โดยที่ประเทศจีนกับเวียดนามน่าจะฟื้นตัวได้ดีที่สุด ส่วนประเทศไทยเราจะฟื้นตัวช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับการจัดการผลกระทบเนื่องจากการว่างงาน และการล้มของธุรกิจน้อยใหญ่ในช่วงนี้ รวมถึงความสามารถที่จะจัดการความวุ่นวายของการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยไม่มีท่าทีว่าจบลงอย่างไร หรือเมื่อใด และ การจัดการความเสี่ยงของการระบาดซ้ำของโรคโควิด ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาบ้างแล้ว

จากรายงานการสำรวจและประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทยล่าสุด ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2563 ติดลบ 6.9% และจะปรับขึ้นเป็นบวกในปี 2564 3.5% ของจีดีพี การว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากกราวๆ 1.0-1.2% เป็น 2.9% ในปี 2563 แต่จะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2564 เป็น 2.5% ส่วนหนี้สาธารณะจะขึ้นจากกราวๆ 41-42% ของปีที่ผ่านมาเป็น 50% ในปี 2563 นี้ และ 56% ในปี 2564

มีข้อสังเกตที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะทำให้ประเทศไทยกลับไปเติบโตเช่นเดิม ออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเข้าสู่ประเทศที่พัฒนา สะท้อนออกมาเป็นกรอบนโยบาย “ความจำเป็นทั้งสาม”

1.ความจำเป็นที่จะดำรงซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค (Macroeconomic Stability)

2.ความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิรูปกลไกและกระบวนการต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรของรัฐอย่างมีนัยสำคัญและทันการณ์ (Substantial Structure Reforms)

3.ความจำเป็นที่จะต้องส่งมอบการพัฒนาและโอกาสอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)

ในระยะสั้น เป็นที่รู้กันแล้วว่านโยบายทางด้านการเงินและการคลังต้องเป็นพระเอก พร้อมกันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ แต่ในระยะกลางที่จะมาถึงนี้ ความท้าทายอยู่ที่การเคลื่อนคนออกจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น ภาคท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอุปสงค์ชัดเจน เช่น ภาคเกษตรและอาหาร เป็นต้น

การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาคจึงเป็นธงสำคัญเพื่อจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว ซึ่งถ้าประเทศทำได้ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ วันนี้หลายพื้นที่น่าจะได้เรียนรู้ว่าเสถียรภาพและความมั่นคงมีความสำคัญกว่าการเติบโตแบบเร่งด่วนและพึ่งพาตนเองไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางและระยะยาว เราไม่สามารถที่จะหยุดการลงทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคโครงสร้างพื้นฐานเขียว (Green Infrastructures) ภาคทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) และภาคดิจิทัล (Digitalization) เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Substantial Structure Reforms) และการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)

โดยส่วนตัวมองว่าหากการลงทุนในภาคต่างๆ เหล่านี้ไม่ทันหรือไม่ถูกต้อง เราจะเสียโอกาสที่จะแข่งขัน และหรือโอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่ากรอบการลงทุนทั้งสามด้านนี้ควรลงทุนอย่างสอดคล้องกัน แต่ถ้าให้เลือกออกมาหนึ่งด้าน ด้านที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่ประเด็น “ทุนมนุษย์ของประเทศ”

วันนี้เราลงทุนในภาคการศึกษาประมาณ 4% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยและเป็นรองแค่มาเลเซียกับเวียดนามเท่านั้นในภูมิภาคอาเซียน แต่คะแนน PISA ของประเทศไทยมีภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอ่าน (PISA เป็นชื่อย่อของ Programmed for International Student Assessment เป็นเกณฑ์สากลหนึ่งเท่านั้น ในการประเมินคุณภาพของระบบการศึกษา โดยเฉพาะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) จากข้อมูลปี 2561 ในอาเซียน เรามีคะแนนต่ำกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

ความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการปรับตัวและโอกาสที่จะอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ถ้าอ่านไม่เป็น คิดเลขไม่ได้ วิทยาศาสตร์ไม่รู้ โอกาสที่จะปรับหรือยกทักษะ (Upskill Reskill) ก็ต่ำลง 

ยกตัวอย่างของกรณีคะแนน PISA ของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกล่องดำที่เรียกว่า “ระบบการพัฒนามนุษย์ของประเทศ” ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่มากกว่าระบบการศึกษา

ภาพสะท้อนความคิดของสังคมในเรื่องของการยกเครื่องปฏิรูป หรือพัฒนาเรื่องการศึกษาเริ่มชัดขึ้น จากการแสดงความจำนงของผู้เข้าร่วมงานที่หย่อนลูกบอลลงในช่องที่อยากให้ “ภาษีไปไหน?” ภายในงาน iTAX 2563 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปีที่เมกาบางนา คือ เรื่องการศึกษาและเรื่องอื่นๆ

การปฏิรูประบบนี้ “ระบบการพัฒนามนุษย์ของประเทศ” ซึ่งถ้าเราทำได้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเติบโตและไม่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเป็นไปได้สูงมาก

ความจำเป็นทั้งสามเป็นโจทย์สำคัญที่ไม่ใช่แค่ของผู้ปกครองแต่เป็นของประชาชนทุกคนที่ยังมีความหวังต่อประเทศนี้ สมดุลระหว่างเสถียรภาพ การปฏิรูปและการพัฒนาที่ทั่วถึง จำเป็นต้องถอดออกมาเป็นยุทธการที่ปฏิบัติได้ เสถียรภาพเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง การปฏิรูปก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการพัฒนาและมีส่วนร่วมที่ทั่วถึง การพัฒนาที่ทั่วถึงก็ไม่สามารถเกิดถ้าไม่มีเสถียรภาพ